05 November 2011

คู่มือการละหมาดอีด

การละหมาดอีดตามซุนนะฮฺ


1. ให้นำหอก หรือไม้มาปักหน้าอิมามละหมาดเพื่อกำหนดบริเวณเป็นหลักสุตเราะฮฺ

2. อิมามเข้าประจำที่ สำรวจความพร้อมของมะมูมพร้อมกับจัดแถวโดยสุภาพสตรีให้ต่อแถวหลังสุดของแถวสุภาพบุรุษ

3. เริ่มละหมาดด้วยการกล่าว “ตักบีรอตุลอิหฺรอม” พร้อมกับเนียต(ตั้งเจตนา)ละหมาดอีดิลอัฎฮา 2 ร็อกอัต เพื่ออัลลอฮฺ

4. อ่านดุอาอฺ อิฟติตาหฺ เหมือนกับการละหมาดทั่วไป

5. กล่าวตักบีรฺ อัซ-ซะวาอิด(อัลลอฮุอักบัรฺ) จำนวน 7 ครั้งในร็อกอัตแรก(ไม่รวมตักบีเราะตุลอิหฺรอมและตักบีรฺรุกูอฺ) และอ่าน

سُبْحَان اللهِ وَاْلحَمْدُ لِلَّهِ وَلا إِلهَ إِلاَّ اللهُ وَاللهُ أكْبَرُ

จำนวน 6 ครั้งระหว่างตักบีรฺทั้งเจ็ด

6. อิมามอ่านอัล-ฟาติหะฮฺ ด้วยเสียงดัง เสร็จแล้วมะมูมก็อ่านตาม

7. อิมามอ่านซูร็อฮฺ และปฎิบัติเหมือนกับการละหมาดทั่วไปจนเสร็จร็อกอัตแรก

8. หลังจากร็อกอัตแรกและยืนตรงแล้ว อิมามยกมือและตักบีรฺซะวาอิด จำนวน 5 ครั้ง (โดยไม่รวมตักบีรฺขณะลุกขึ้นจากร็อกอัตแรกและตักบีรฺก่อนรุกูอฺ) และมะมูมก็ปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับอ่าน

سُبْحَان اللهِ وَاْلحَمْدُ لِلَّهِ وَلا إِلهَ إِلاَّ اللهُ وَاللهُ أكْبَرُ

จำนวน 4 ครั้งระหว่างตักบีรฺทั้งห้า

9. อิมามอ่านอัล-ฟาติหะฮฺ ตามด้วยซูร็อฮฺด้วยเสียงดังเหมือนกับการละหมาดทั่วไปจนเสร็จร็อกอัตที่สอง

10. อิมามให้สลามขวาและซ้าย และตามด้วยมะมูม

11. อิมามลุกขึ้นให้คุฏบะฮฺอีด และมะมูมควรนั่งฟังจนจบอย่างสงบเสงี่ยม

การกล่าวอวยพรในวันอีด

ญุบัยรฺ อิบนุ นุฟัยรฺ กล่าวว่า “ทุกครั้งที่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม มาเจอกันในวันอีด พวกเขาจะกล่าวให้แก่กันว่า

تَقبَّل اللهُ مِنَّا وَمِنْكَ

“ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนา วะมินกะ”

ความว่า: ขออัลลอฮฺทรงรับทั้งจากเราและจากท่าน

การบริจาคทาน

วันนี้ส่งเสริมให้มีการบริจาคทานให้มากๆ โดยเฉพาะบรรดาสตรีเพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำชับพวกนางเป็นการเฉพาะและเรียกร้องให้พวกนางช่วยกันบริจาคทานคนละเล็กคนละน้อยเพื่อ เป็นการปกป้องพวกนางจากไฟนรก

จัดงานฉลองและการละเล่นวันอีด

ก. ในวันนี้เป็นวันแห่งความสุขของเราชาวมุสลิม ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงออกถึงวันแห่งความสุขที่สามารถสัมผัสได้จึงส่งเสริมให้มีการจัดเลี้ยงอาหารกันเท่าที่สามารถ

อิบนุ ตัยมิยฺยะฮฺกล่าวว่า “การรวมคนเพื่อร่วมรับประทานอาหารในวันอีดทั้งสองและวันตัชฺรีก ถือว่าเป็นซุนนะฮฺอย่างหนึ่ง และมันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของอิสลามที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ปฏิบัติมาตลอด”

ข. ส่งเสริมให้มีการจัดการละเล่นให้กับเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบนเวทีหรือกิจกรรมภาคสนาม เพื่อเป็นการเติมเต็มความสุขให้ทั่วถึงกันในวันนี้

ท่านหญิง อาอิชะฮฺ เล่าว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิ-วะสัลลัม ได้เข้ามาหาฉัน ขณะนั้นฉันมีเด็กๆกำลังร้องเพลงอยู่ ดังนั้นท่านจึงเอนกายลงนอนตะแคงบนที่นอนพร้อมกับผินหน้าไปทางอื่นหลังจากนั้นอบูบักรฺ ก็เข้ามาและเตือนฉันว่า “ปี่ของชัยฏอนมาเล่น(ในบ้าน -ของ)นบีหรือ?” นบีจึงหันมากล่าวแก่ อบู บักรฺว่า “ให้พวกเขาเล่นไปเถิด เพราะทุกๆประชาชาติจะมีวันอีด และวันนี้เป็นวันอีดของเรา” และหลังจากที่ท่านเผลอฉันก็ให้เด็กทั้งสองรีบออกไป”

การตักบีรฺในวันอีด

การกล่าวตักบีรฺเนื่องในโอกาสวันอีดิลอัฎฮา จะเริ่มตั้งแต่วันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺตามทัศนะที่ถูกต้อง และจะดำเนินไปจนถึงเย็นของวันที่ 13 ซุลหิจญะฮฺ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันตัชฺรีกมีหลักฐานจากพระดำรัสของอัลลอฮฺว่า

﴿وَيَذْكرُوْا اسْمَ اللهِ فِي أيَّامٍ مَعْلُومَاتٍ﴾

“และเพื่อพวกเขาจะได้ร่วมกล่าวพระนามของอัลลอฮฺในบรรดาวันที่เป็นที่รู้กัน”

คำว่า “บรรดาวันที่ถูกนับไว้” ในที่นี้หมายถึง วันที่ 11-13 หรือวันตัชฺรีก ตามทัศนะของอุละมาอฺส่วนใหญ่

สำนวนของตักบีรฺ

ยังไม่พบรายงานที่น่าเชื่อถือได้เกี่ยวกับสำนวนตักบีรฺของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในวันอีด แต่ก็มีสำนวนตักบีรฺที่น่าเชื่อถือได้จากเศาะหาบะฮฺบางท่าน ดังนี้ คือ

الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، لا إله إلا الله والله أكبر،الله أكبر ولله الحمد

“อัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่ (อัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่) ไม่มีพระเจ้าที่แท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺ คือผู้ยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่ และมวลการสรรเสริญทั้งหลายเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺ”

อิมาม อัช-ชาฟิอีย์ได้เสนอให้นำเอาสำนวนการตักบีรฺของท่านนบีศ็อลลัลลฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม บนเขาซอฟาและมัรฺวะฮฺ นั่นคือ

اللهُ أكْبَرُ كبِيْرًا، وَاْلحَمْدُ لِّلهِ كثِيْرًا، وَسُبْحَا ن اللهِ بُكْرَةً وَأصِيْلاً، لاإِلهَ إِلاَّاللهُ وَلاَ نَعْبُدُ إِلاَّ إِيَّاهُ مُخْلِصِينَ لهُ الدِّيْنَ وَلوْ كرِهَ الْكافِرُون، لا إِلهَ إِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ، صَدَقَ وَعْدَهُ، وَنَصَرَ عَبْدَهُ، وَهَزَمَ الأَحْزَابُ وَحْدَهُ، لاإِلهَ إِلاَّ الله، وَاللهُ أكْبَرُ

No comments:

Post a Comment

ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda