03 November 2009
ภาษามลายูปาตานีเป็นมรดกตกทอดทางอารยธรรมอันภาคภูมิใจแห่งโลกมลายู
Patani Malay Language: Proud Legacy of the Civilization of the Malay World.
ซูฮัยมีย์ บินอิสมาอีลฺ อาแว
โลกมลายูสามารถให้คำนิยามกว้าง ๆ ว่า หมายถึงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์โดยรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผู้คนสื่อสารด้วยกลุ่มภาษามลายูโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณคาบสมุทรที่เป็นเกาะแก่งต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นหน่วยย่อยทางภูมิรัฐศาสตร์ตั้งแต่อินโดนีเซีย จนถึงเวียดนามรวมทั้งไต้หวัน คำนิยามนี้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มภาษาเป็นหลักเนื่องจากเป็นมรดกหนึ่งเดียวที่ประวัติศาสตร์โบราณได้ทิ้งร่องรอยไว้ให้เป็นที่รู้จักประจักษ์ชัดถึงการคงอยู่ของชุมนุมชนที่หลากหลายในกลุ่มชนชาวมลายู
นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ภาษามลายูถูกใช้ในพื้นที่แห่งนี้อย่างแพร่หลายโดยใช้อักขระ Palava จากทางตอนใต้ของอินเดีย โดยบูรณาการกับภาษาสันสกฤต (ปาลาวะและบาลี) เป็นเวลามากกว่า 7 ปีก่อนการเข้ามาของอิสลาม
หลังจากการเข้ามาของอิสลามที่หลักคำสอนเป็นภาษาอาหรับ อีกทั้งผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลามก็เป็นชาวอาหรับทำให้ความรู้ทางศาสนาได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษามลายูโดยใช้อักษรอาหรับที่เรียกว่า ญาวีย์ แทนที่อักขระปาลาวะมาเป็นลำดับ ในขณะที่อาณาจักรศรีวิชัย มีอิทธิพลเหนือรัฐมลายูต่าง ๆ ตั้งแต่คอขอดกระจนถึงสุมาตรา กะลิมันตัน และชวา ซึ่งนับว่าเป็นอาณาจักรมลายูอันรุ่งเรืองที่สุด สร้างความเจริญด้านอารยธรรมยาวนานถึงแปดศตวรรษ
รัฐมลายูปาตานีได้สืบทอดอารยธรรมโบราณมาอย่างหลากหลายและต่อเนื่องจนกระทั่งการเข้ามาของอิสลามที่ปักหลักเป็นฐานอยู่ที่สุมาตรา การเปลี่ยนแปลงสู่อิสลามเป็นการเปลี่ยน -แปลงที่ดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ที่เริ่มแผ่ขยายมาในหมู่ประชาชนก่อนแล้วจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเมื่อพระราชาประกาศเป็นนครรัฐมลายูอิสลาม
ปาตานีเป็นนครรัฐที่มีอัตลักษณ์ทางศาสนาอันโดดเด่นด้วยปวงนักปราชญ์อันเลื่องชื่อจำนวนมากที่เขียนตำราทางศาสนาโดยใช้ อัล ฟาตอนีย์ ระบุที่มาของตนให้ปรากฏต่อสายตาของคนทั่วโลก จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น“ระเบียงมักกะฮฺ” ที่เป็นศูนย์การเรียนรู้อิสลามเช่นเดียวกัน
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองรัฐไทยได้เข้ามาจัดระบบการเมือง การปกครองใหม่ และมีการบังคับใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ และมีวัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมประจำชาติจึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนในพื้นที่
ความรู้สึก เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อคนมลายูต้องเปลี่ยนมาเป็น คนไทย ใช้ชื่อเป็นภาษาไทย เรียนหนังสือด้วยภาษาไทย ติดต่อราชการด้วยภาษาไทย ตลอดจนชื่อหมู่บ้านต้องเรียกเป็นคำแปลในภาษาไทย โดยเว้นพื้นที่ให้ใช้ภาษามลายูเพียงแค่ในบ้าน มัสยิด และเมื่อสื่อสารกันภายในหมู่บ้านเท่านั้น ดังนั้น คุณค่าของภาษามลายูที่จะระบุความเป็นตัวตนอย่างแท้จริงของคนในพื้นที่ ถูกปล่อยวางให้เป็น ลูกไม่มีพ่อ ที่ไม่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนา อีกทั้งยังถูกเรียกเป็นภาษาแขก บ้างในบางครั้ง จึงกลายเป็นสายล่อฟ้า และปรอตวัดอุณหภูมิภายใต้จิตสำนึกของคนมลายูมาโดยตลอด
ความเป็นมลายูของคนระบุได้ด้วยการใช้ภาษามลายู และภาษามลายูของชาวปาตานีมีอักขระญาวีย์ เป็นตัวบ่งชี้ ภาษามลายูจึงเป็นทั้งตัวตนของชาวปาตานี และเป็นความภาคภูมิใจที่มีอักขระญาวีย์ ที่ดัดแปลงมาจากภาษาอาหรับซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในสวนสวรรค์อันเป็นเป้าหมายชีวิตของปวงผู้นับถือศาสนาอิสลามทั้งมวล
Subscribe to:
Posts (Atom)