30 December 2011

สิ่งมหัศจรรย์ที่เหนือความมหัศจรรย์

            ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปราณีเสมอ              
                              ความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

พี่น้องผู้ศรัทธา ผู้ร่วมละหมาดญุมอัตทุกท่าน (ขออัลลอฮฺทรงเมตตา)

            จงยึดมั่นในตักวา (ความยำเกรง) ต่อเอกองค์ อัลลอฮฺ อย่างสัจจริง และจงอย่ากลับไปหาอัลลอฮฺ(เสียชีวิต)จนกว่าจะดำเนินตนให้อยู่ในอิสลามอย่างสมบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺสั่ง และงดเว้นในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม

อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกล่าวว่า

“และอัลลอฮ์นั้นคือ(เจ้านาย)ผู้ทรงช่วยเหลือบรรดาผู้ที่ศรัทธา โดยทรงนำพวกเขาออกจากบรรดาความมืดสู่แสงสว่าง(ออกจากความหลงผิด ไปสู่สิ่งถูกต้อง) และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น บรรดา(เจ้านาย)ผู้ช่วยเหลือของพวกเขาก็คือ อัฎ-ฎอฆูต(หมายถึงชัยฎอนและอื่น ๆ) โดยที่พวกมันจะนำพวกเขาออกจากแสงสว่างไปสู่ความมืด (ออกจากสิ่งที่ถูกต้องไปสู่สิ่งที่ผิด) ชนเหล่านี้แหละคือชาวนรก โดยที่พวกเขาจะอยู่ในนรกนั้นตลอดกาล
(อัล-บากอเร๊าะฮฺ อายัต 257)

          จากอายัตที่อ่านพระองค์ทรงชี้แนะหลักคิดอยู่อย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ

1.      อัลลอฮฺนั้นทรงเป็นเจ้านายที่แท้จริง ที่ทรงช่วยเหลือบรรดาผู้ศรัทธาเสมอ ดังนั้นผู้ศรัทธาจึงไม่อาจใช้คำว่า
เจ้านายโดยพร่ำเพรื่อ ซึ่งต่างกันกับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาซึ่งเจ้านายของพวกเขานั้นคือ อัฎ-ฎอฆูต หมายถึง
ชัยฎอนรวมทั้งสิ่งอื่น ๆ ที่นอกจากอัลลอฮฺอีกด้วย
      2.      จะเห็นความแตกต่างในภารกิจที่ชัดเจนระหว่างผู้ศรัทธากับผู้ปฏิเสธศรัทธา โดยบรรดาผู้ศรัทธานั้นจะหนี 
ออกห่างจากความหลงผิดเข้าสู่ความจริงที่ถูกต้องซึ่งเทียบได้กับแสงสว่าง ในขณะเดียวกันบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นจะดำเนินภารกิจที่ตรงข้ามกัน โดยที่พวกเขาจะชักชวนผู้คนออกห่างออกจากสิ่งที่ถูกต้องและไปทำในสิ่งที่ผิด  และนี่คือ “ปรากฏการย้อนศร” ที่กำลังได้รับการเชิดชูจากคนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบัน

จากอายัตข้างต้นในทางภาษาพบคำที่น่าสนใจอยู่ 2 คำคือคำว่า "الظلمات" ในรูปพหูพจน์และ "النور" ในรูปอกพจน์โดยมุฟัซซีรีนกล่าวว่า เมื่อคำในรูปพหูพจน์ที่มีนัยเชิงจำนวนที่มากกว่า มาพบกับคำในรูปเอกพจน์ที่มีความหมายตรงข้ามกันนั้น จึงเป็นการตรงข้ามกันระหว่างสิ่งที่ทรงคุณค่า"الفاضل"กับสิ่งที่ถูกทำให้มีคุณค่า"المفضول" หรือระหว่างสัจธรรม"الحق"กับความเท็จ"الباطل" ดังนั้นจำนวนมากจึงไม่ได้เป็นบรรทัดฐาน หรือตัวชี้วัดความถูกต้อง หรือ ความดี แต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันแม้จะเป็นจำนวนน้อยก็ตามแต่ทรงคุณค่ายิ่งในอัลลอฮฺหากอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง

อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกล่าวอีกว่า

          “และหากเจ้าเชื่อฟังส่วนมากของผู้คนในแผ่นดินแล้ว พวกเขาก็จะทำให้เจ้าหลงทางจากทางของอัลลอฮฺไป พวกเขาจะไม่ปฏิบัติตามนอกจากการนึกคิดเอาเอง และพวกเขามิได้ตั้งอยู่บนสิ่งใดนอกจากพวกเขาจะคาดคะเนเอาเองเท่านั้น”
                                                                                                        (อัล-อันอาม อายัต 116)

           القرطبيมีความเห็นว่าในคำว่า “พวกเขาก็จะทำให้เจ้าหลงทางจากทางของอัลลอฮฺไป”นั้น หมายความว่า หลงทางออกไปจากแนวทางของการตอบแทนจากอัลลอฮฺ โดยที่พวกเขาจะไม่สนใจต่อการตอบแทนในวันอาคีรัตของอัลลอฮฺแต่พวกเขาจะมุ่งหาผลประโยชน์ที่พวกเขาคาดหวังเอาเองในโลกนี้เท่านั้น ผลตอบแทนในเชิง ‘Meritหรือเชิงบาปบุญ คุณโทษ จะไม่ส่งผลแต่ประการใดในสำนึกพวกเขา 
         เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสังคมที่ถูกครอบงำทางความคิดเช่นปัจจุบัน ที่ได้รับการหล่อหลอมให้มีความเชื่อว่าผลตอบแทนในรูปประโยชน์เฉพาะหน้าหรือในลักษณะ “บริโภคนิยม” ดังปรากฏในโลกทุนนิยมเสรี และประชาธิปไตยสุดขั้วนั้น กำลังจะนำพาสังคมส่วนใหญ่ออกไปจากบรรทัดฐาน บาปบุญ คุณโทษจากอัลลอฮฺ แล้วไปสู่บรรทัดฐานที่เขาทึกทักกันเองว่าดี ถูกต้อง ซึ่งแต่ละคนแต่ละกลุ่มก็จะสร้างมาตรฐานขึ้นเองตามอำเภอใจ

พี่น้องผู้ศรัทธา ผู้ร่วมละหมาดญุมอัตทุกท่าน (ขออัลลอฮฺทรงเมตตา)
       
ในสังคมปัจจุบันได้ปรากฏให้เห็นสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เหนือความมหัศจรรย์(أعجب العجائب) ขึ้นแล้ว และที่สำคัญเป็น “ปรากฏการณ์ย้อนศร” ในอิสลามอีกด้วยเมื่อเราพบว่า

·          มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยอมรับว่าเป็นมุสลิมแต่ไม่เคยเรียนศาสนา และเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ในอิสลาม
       o  เรียนมาตลอดชีวิตเพื่อให้มีชีวิตที่ดีในโลกนี้แต่ไม่เคยสนใจที่จะเรียนศาสนาเพื่อชีวิตที่ดีทั้งในโลกนี้และในโลกอาคีรัต
·          มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยอมรับว่าเป็นมุอฺมิน (ผู้ศรัทธา)ทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่รู้จักพระเจ้า ไม่รู้จักมลาอีกัตของพระองค์ กฎกำหนดสภาวะของพระองค์ ตลอดทั้งวันกียามัตที่จะมาถึง
       o  ชอบพูดตามคนอื่นที่ว่าศาสนาใด ๆ ก็ดีหมดทุกศาสนา เพราะสอนให้คนทำดีจึงทำทุกอย่างเพื่อหาปัจจัยยังชีพและลาภยศโดยไม่สนใจถูกผิด ฮาลาล ฮารอมบาปบุญคุณโทษ
·          มีคนจำนวนไม่น้อยที่ศรัทธาในอัลลอฮฺ ทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่เชื่อฟังปฏิบัติ และเกรงกลัวอัลลอฮฺ
       o  ยึดระบบการเงินที่อาศัยดอกเบี้ยมาเป็นช่องทางประกอบอาชีพทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว
       o  ฉ้อราษฎร์บังหลวง เรียกรับเงินใต้โต๊ะ หารายได้ในทางลับโดยอ้างว่าเป็นธรรมเนียมที่ใคร ๆ ก็ทำ
·          มีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าตนเป็นอุมมัต (ประชาชาติ) นบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ.)แต่ไม่ยอมปฏิบัติตามนบี แล้วยังนำคนอื่นมายึดมั่นเชื่อถือเป็นแบบอย่างในชีวิตประจำวัน เช่นกรณี
       o  วัยรุ่นหนุ่มสาวส่วนใหญ่ที่ตามกระแสแฟชั่น ยึดเอาแบบอย่างจากดารา นางแบบนายแบบในการแต่งกาย ตัดแต่งทรงผมโดยไม่สนใจหลักคำสอนในศาสนา
       o  วัยรุ่นหนุ่มสาวบางคนที่หลงกระแสตะวันตกมั่วสุม สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เสพย์ยาเสพย์ติด ทำผิดประเวณี แล้วทำแท้ง                    
        
อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกล่าวว่า
 “และจากหมู่ชนนั้น มีผู้กล่าว่า เราได้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และวันปรโลกแล้ว ทั้ง ๆ ที่พวกเขาหาใช่เป็นผู้ศรัทธาไม่”(หมายถึงพวกมุนาฟิกที่ศรัทธาแต่เพียงคำพูด แต่หัวใจปฏิเสธศรัทธา)
                                                                                                      (อัล-บากอเร๊าะฮฺ อายัต 8)

              สภาวการณ์ดังกล่าวนี้กำลังตอกย้ำให้เรามีความมั่นใจว่าศาสนาอิสลามเท่านั้นเป็นศาสนาที่แท้จริง จากที่ท่านรซูลลุลลอฮฺ(ศ็อลฯ)ได้กล่าวไว้ล่วงหน้ามาก่อนนับพันปีซึ่งได้ปรากฏเป็นความจริงแล้วในปัจจุบัน ดังที่ท่านอบูฮูร็อยร็อฮฺ (รฏียัลลอฮูอันฮู) กล่าวว่า ท่านรซูลลุลลอฮฺ(ศ็อลฯ) กล่าวว่า

         “อิสลามนั้นเริ่มต้นด้วยภาวะแปลกแยก แล้วหลังจากนั้นก็จะหวนกลับสู่ภาวะแปลกแยกอีกครั้ง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ที่แปลกแยก(จากคนหมู่มากที่ทำผิดศาสนา)”
                                                                                                      รายงานโดยอบูฮูร็อยร็อฮฺ

           รูปธรรมของความแปลกแยกดังกล่าวสามารถพิสูจน์ได้จาก “ปรากฏการณ์ย้อนศร” ในอิสลามที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน กล่าวคือ
 ·       เมื่ออุมัตอิสลามปฏิเสธที่จะปฏิบัติละหมาด จ่ายซะกาต หยุดยั้งความชั่ว และเชิญชวนกันทำอิบาดะฮฺ แม้แต่คนในครอบครัว
·       เมื่ออุมัตอิสลาม ญาฮิลฺ(อวิชา)ในข้อกำหนด บทบัญญัติอิสลาม เช่น ฮาลาล-ฮารอม ถูก-ผิด (ศ็อฮฺ-บาตัลฺ) อีกทั้งยังทำเป็นไม่รู้และไม่รับรู้ในสิ่งต่าง ๆที่ตนต้องปฏิบัติ และไม่เกรงกลัวที่จะทำในสิ่งที่ตนไม่ค่อยแน่ใจ
·       เชื่อมั่นในระบบดอกเบี้ย อีกทั้งยังพยายามอธิบายวิธีการเอาชนะปัญหาเศรษฐกิจด้วยระบบดอกเบี้ยอย่างเก่งกล้าสามารถ และด้วยหลักเหตุผลที่นำมาทำให้เชื่อได้ว่าปราศจากดอกเบี้ยเศรษฐกิจประเทศชาติ และโลกต้องล้มลงแน่นอน เสมือนหนึ่งท้าทายอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของอัลลอฮฺ
·       ยาเสพย์ติด เหล้า บุหรี่ไม่สามารถจะห้ามได้ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อหลักสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศชาติ
·       สิ่งที่ชอบด้วยหลักศาสนากลายเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด เลวร้าย และสิ่งที่ผิดแปลกไปจากหลักศาสนากลับกลายเป็นสิ่งที่ดี เป็นที่เชิดชูยกย่อง อาทิ
     o  การทำผิดประเวณีเป็นสิ่งที่สังคมรับได้ การลงโทษคนทำผิดประเวณีในประเทศมุสลิมบางประเทศกลับถูกประณาม
     o  เปิดเอารัตในบรรดาสตรี และบุรุษที่เกินขอบเขตจนกลายเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่งในวัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบโดยไม่รู้สึกสะทกสะท้านต่อหลักคำสอนของศาสนา
     o  รวมทั้งการที่ผู้ชายแต่งกายเป็นผู้หญิง หรือผู้หญิงแต่งกายเป็นผู้ชายจนถึงขนาดผ่าตัดแปลงเพศ แล้วออกมาเรียกร้องสิทธิความชอบธรรมให้สังคมเห็นใจยังอุตสาห์สนับสนุน
·       สัจธรรมและความเท็จถูกเกลือกกลั้วผสมผสานกันจนยากที่จะแยกออกได้
·       เพิ่มดีกรีความเชื่อมั่นต่อหลักกฎหมายของมนุษย์ที่ไม่เคยมั่นคงตั้งอยู่เหนือบทบัญญัติของอัลลอฮฺ

            อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกล่าวไว้เพื่อเป็นการปลอบใจท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะ ซัลลัม เนื่องจากถึงแม้ว่าท่านนบีจะมีความห่วงใยต่อการอีมานของพวกเขาและทุ่มเทกำลังความสามารถในการชี้แนะแก่พวกเขาก็ตาม พวกเขาก็จะไม่ศรัทธาต่อท่านนบี เพราะพวกเขายังคงดื้อดันในความตั้งใจเดิม คือ ปฏิเสธศรัทธา ว่า
                       “และส่วนใหญ่ของมนุษย์จะไม่ศรัทธาต่อเจ้า ถึงแม้เจ้าปรารถนาอย่างยิ่งก็ตาม”
ซูเราะฮฺยูซุฟ อายัตที่ 103

ซึ่งคนในลักษณะดังกล่าวไม่ได้เป็นคนส่วนน้อยแต่เป็นคนส่วนมากที่อาศัยกระแสส่วนมากอย่างโอหัง ไม่เกรงกลัวคำพิพากษาในวันอาคีรัต โดยอัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงยืนยันว่า

“และโดยแน่นอน ส่วนมากของชนรุ่นก่อนหน้าพวกเขาได้หลงผิด(ไปแล้ว)”

ซูเราะฮฺ อัศศ็อฟฟาต อายัตที่ 71

             และในที่สุดพวกเขาก็จะพบกับความเจ็บปวดเป็นที่สุดเมื่ออัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำชับไว้กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า

และเจ้า(ท่านนบี)จงอย่าละหมาดให้แก่คนใดในหมู่พวกเขาที่ตายไปเป็นอันขาด และจงอย่ายืนที่ (ใกล้) หลุมศพของเขาด้วย แท้จริงพวกเขานั้นได้ปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และร่อซูลของพระองค์ และพวกเขาได้ตายลง ขณะที่พวกเขาเป็นผู้ละเมิด(กุฟรฺ)
                                                                                                ซูเราะฮฺ อัตเตาบะฮฺ อายัตที่ 84

พี่น้องผู้ศรัทธา ผู้ร่วมละหมาดญุมอัตทุกท่าน (ขออัลลอฮฺทรงเมตตา)
 
                 ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
           “ผู้ใดที่อัลลอฮฺประสงค์ให้เขานั้นกลายเป็นคนดี อัลลอฮฺจะทรงให้เขามีความเข้าใจในศาสนา”

             อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกล่าวถึงคุณค่าของความรู้และการศรัทธาที่เมื่ออยู่ควบคู่กันก็จะสามารถปกป้องมนุษย์ได้ และจะเป็นผู้ได้รับรางวัลอันใหญ่หลวงในอาคีรัต ว่า :

“แต่ทว่าบรรดาผู้ที่ยึดมั่นในความรู้ในหมู่พวกเขา(ชาวยิวบางคน) และบรรดาผู้ที่ศรัทธานั้น (อุมัต นบีมูฮัมมัด) พวกเขาย่อมศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้า และสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนเจ้า และบรรดาผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และบรรดาผู้ชำระซะกาต และบรรดาผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และวันปรโลกชนเหล่านี้แหละเราจะให้แก่พวกเขาซึ่งรางวัลอันใหญ่หลวง
ซูเราะฮฺ อัน-นิซาอฺ อายัตที่ 162

             อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงชี้แนวทางให้แก่คนที่หลงผิดไปแล้วได้มีความสำนึกแล้วกลับสู่แนวทางที่ถูกต้องด้วยการทำดี เนื่องจากการทำดีนั้นสามารถจะลบล้างความผิดได้ โดยกล่าวว่า :

 “และเจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด ตามปลายช่วงทั้งสองของกลางวัน(หมายถึงละหมาดศุบฮ์และอัศร) และยามต้นจากกลางคืน(หมายถึงละหมาดมักริบและอีชาอ์) แท้จริงความดีทั้งหลายย่อมลบล้างความชั่วทั้งหลายนั่นคือข้อเตือนสำหรับบรรดาผู้ที่รำลึก (ผู้รำลึกคือผู้ที่อยู่ในแนวทางที่เที่ยงธรรม และดำรงรักษาไว้ซึ่งการละหมาด ดังนั้น การรักษาไว้ซึ่งการละหมาดก็ดี และการทำความดีอย่างอื่น ๆ ก็ดี เป็นข้อเตือนสำหรับผู้รักการตักเตือนและเป็นการชี้แนะแก่ผู้ที่รักการชี้แนะไปสู่ความดี)
                                                                                                        ซูเราะฮฺ ฮูด อายัตที่ 114

 และสำหรับผู้ใดก็ตามที่ประสงค์จะขอลุแก่โทษจากการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติ และเขาปรับปรุงแก้ไขตัวเอง อัลลอฮ์ ตะอาลา จะทรงรับการขออภัยโทษของเขา และเขาจะได้รับความโปรดปราน ณ ที่พระองค์

“และผู้ใดกลับเนื้อกลับตัวและกระทำความดี แท้จริงเขากลับเนื้อกลับตัวเข้าหาอัลลอฮ์อย่างจริงจัง”
                                                                                                ซูเราะฮฺ อัล-ฟุรกอน อายัตที่ 71

         ขออัลลอฮฺจงประทานความศิริมงคลแก่ท่านและข้าพเจ้า ด้วยอัล-กุรอานอันประเสริฐ และยังประโยชน์แก่ข้าพเจ้าและท่านด้วยหลักฐานที่ปรากฏในอัล-กุรอานและคำตักเตือนที่หลักแหลม และจงตอบรับจากข้าพเจ้าและท่านจากการอ่านอัล-กุรอาน เพราะแท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงได้ยินและทรงรอบรู้
         ข้าพเจ้าขอลุแก่โทษจากอัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่และแก่ท่านพร้อมทั้งบรรดามุสลีมีนทั้งหญิงและชาย และมุอฺมีนีนทั้งหญิงและชาย ขอได้โปรดให้อภัยแก่พวกเราด้วยเถิด อามีน

เชิญส่งความเห็นของท่านไปที่ : mipandan@gmail.com

26 December 2011

ธุรกิจเครือข่ายไม่เป็นที่อนุญาตในอิสลาม(พีระมิด+mlm)

ทัศนะของนักกฎหมายอิสลามต่อการประกอบธุรกิจแบบเครือข่ายนักกฎหมายอิสลามได้ให้คำวินิจฉัยเกี่ยวกับการทำธุรกิจแบบเครือข่ายจากกรณีของบริษัทบิสเนสและอื่นๆ โดยเป็นการตอบคำถามทั้งในรูปของทัศนะส่วนบุคคลและสภาหรือที่ประชุมนักนิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งส่วนหนึ่งของทัศนะดังกล่าวมีดังต่อไปนี้

1-มัจมะอฺ อัลฟิกฮฺ อัลอิสลามี (สภานิติศาสตร์อิสลาม)ได้ให้คำวินิจฉัยว่า-การเข้าร่วมกับบริษัทบิสเนสและอื่นๆที่เป็นบริษัทธุรกิจแบบเครือข่ายไม่เป็นที่อนุญาตในศาสนาอิสลามเพราะถือว่าเป็นการพนัน-ระบบของบริษัทบิสเนสและบริษัทอื่นที่คลายกันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงนายหน้าตามที่บริษัทอ้างด้วยเหตุนี้ทางสภาจึงขอเสนอให้ฝ่ายต่างๆที่รับผิดชอบให้ใบอนุญาตในประเทศมุสลิมทำการยึดใบอนุญาตคืนจากบริษัทที่ดำเนินการในรูปเครือข่ายดังกล่าว.และควรสอบถามสภานิติศาสตร์อิสลามก่อนที่จะดำเนินการอนุญาตในเรื่องดังกล่าว.(12)

2- คำวินิจฉัยของคณะกรรมการถาวรแห่งที่ประชุมนักหะดีษ ( لملتقى أهل الحديث اللجنة الدائمة)ได้กล่าวถึงธุรกิจระบบเครือข่ายว่า “แท้จริงแล้วการทำธุรกิจประเภทนี้เป็นที่ต้องห้าม ทั้งนี้เพราะเป้าหมายหลักของธุรกิจนี้คือเม็ดเงินไม่ใช่สินค้า เม็ดเงินอาจจะเป็นล้านในขณะที่ราคาสินค้าไม่เกินร้อย คนมีสติทุกคนหากมีการเสนอระหว่างสองสิ่งดังกล่าว แน่นอนเขาจะต้องเลือกเม็ดเงิน ด้วยเหตุนี้บริษัทจะใช้วิธีโฆษณาสินค้าโดยการบอกถึงจำนวนเม็ดเงินที่ใหญ่ที่ผู้เข้าร่วมจะได้รับและจูงใจด้วยกำไรที่เกินคาดเทียบกับราคาสินค้าที่เล็กน้อย ดังนั้นสินค้าที่ขายจึงเป็นเพียงฉากและทางที่จะไปสู่เม็ดเงินและกำไร. (13)

3- ศูนย์ฟัตวาภายใต้การดูแลของ ดร.อับดุลลอฮฺ อัลฟะกีฮฺ ได้ตอบคำถามของผู้ถามว่า “หลังจากที่เราได้ศึกษาระบบของบริษัท(ที่ท่านถาม)พบว่าไม่เป็นที่อนุญาตให้ทำธุรกรรมกับบริษัทนี้เพื่อหากำไรผ่านการโฆษณาและค้าขายสินค้าของบริษัท เพราะว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมไม่ได้มีเป้าหมายในสินค้า แต่มีเป้าหมายในเม็ดเงินที่จะได้จากการหาสมาชิกใหม่ และพวกเขาอาจสำเร็จได้เงินที่เท่าหรือมากกว่าที่ลงทุนไป หรืออาจไม่ได้อะไรเลยและนี้ก็คือการพนันนั้นเอง ธุรกรรมนี้อยู่ระหว่างการได้และเสีย และสินค้าเป็นเพียงตัวกลางจึงไม่มีผลใดๆเลย(14).

4- คำประกาศของที่ประชุมสมัชชาคณะกฎหมายอิสลามมหาวิทยาลัย อัซซัรกออฺครั้งที่6 ซึ่งมีการจัดประชุมเมื่อวันที่23-25 เดือนญุมาดิลอาคิเราะฮฺ 1425 ฮิจเราะฮฺ ตรงกับวันที่ 12/8/2004 ได้มีการพูดคุยเรื่องปัญหาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในปัจจุบัน ซึ่งในหัวข้อที่8 ที่ประชุมมีมติดังนี้ สมัชชามีความเห็นว่า “การทำธุรกรรมกับบริษัทที่ทำธุรกิจแบบเครือข่ายต่างๆที่มีการดำเนินการในรูปแบบพีระมิดไม่เป็นที่อนุญาตเพราะธุรกิจรูปแบบนี้ประกอบด้วยธุรกรรมที่มีการพนัน(มุกอมะเราะฮฺ) ความไม่ชัดเจน (ญะหาละฮฺ) หลอกลวง (ตัฆรีร) และทำให้แรงงานเยาวชนสูญสินไปกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวเขาและสังคมอย่างแท้จริง และเพราะเหตุว่ามันนำมาซึ่งกำไรอันน้อยนิดแต่การขาดทุนที่มากมาย. พร้อมกันนี้ทางสมัชชาได้ประกาศจุดยืนให้ฝ่ายที่มีอำนาจรับผิดชอบทบทวนการอนุญาตให้บริษัทประเภทนี้ได้ประกอบการเพราะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ(15).

5- ดร.สามี สุวัยลิม ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์อิสลาม ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับบริษัทควิสท์(Quest)ของฮองกง ซึ่งมีรูปแบบคือเมื่อบุคคลพอใจกับบริษัทหรือสินค้าของบริษัท เขาก็จะลงทะเบียนในเว็บไซท์ของบริษัท โดยกรอบรายละเอียดของตัวเองและหมายเลขของผู้แนะนำ พร้อมกับจ่ายค่าลงทะเบียนสิบดอลลาร์และรับหมายเลขรหัสของตัวเองโดยถูกบรรจุภายใต้สายของผู้แนะนำ การลงทะเบียนเพียงอย่างเดียวจะยังไม่มีแต้ม เมื่อบุคคลนั้นซื้อสินค้าจะถูกบันทึกแต้มให้แก่ผู้แนะนำโดยที่สินค้าแต่ชนิดจะมีแต้มต่างกันเมื่อสะสมแต้มถึงหกแต้มผู้แนะนำก็จะได้เงิน250ดอลลาร์ เป็นเช่นนี้เรื่อยไปเป็นชั้นๆซึ่งดร.สามีได้ตอบว่าธุรกิจรูปแบบนี้ก็คือธุรกิจแบบเครือข่ายซึ่งถือเป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม) (16) นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับธุรกิจแบบเครือข่ายโดยยังมีคำวินิจฉัยจากอีกหลายท่านหลายเว็บไซท์ซึ่งล้วนแล้วแต่เห็นว่าการดำเนินธุรกิจแบบเครือข่ายนั้นเป็นที่ต้องห้ามในศาสนาอิสลาม.

สรุป
สาเหตุที่ห้ามเพราะ
•เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย

•ไม่ได้ค้าขายสินค้า แต่เป็นการค้าขายเงินต่อเงิน

•สินค้าไม่ไ้ด้มีคุณภาพเหมาะสมกับราคา

•มีลักษณะเข้าข่ายการพนัน หรือเสี่ยงโชค

และเท่าที่เห็นนั้น บ่งบอกได้ประการหนึ่งว่า มิได้ห้ามการขายตรงทั้งหมด เพราะการขายตรงมีหลายรูปแบบ ที่ห้ามชัดๆ ตอนนี้ก็คือธุรกิจที่เข้าข่ายในสี่ประการข้างต้น