06 May 2010

เบื้องหลังการปะทะ "ทหาร-เสื้อแดง"ที่ผู้นำควรจะต้องเรียนรู้และตระหนัก

ภาพเบื้องหลังเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อหน้าที่จบลง ความเอื้ออาทรและน้ำใจไมตรีที่คนเจ็บหยิบยื่นให้กันในฐานะมนุษย์เพื่อนพี่น้องคนไทยด้วยกันไม่ได้แบ่งแยกสี แต่ด้วยภาระหน้าที่จึงต้องห่ำหั่นกันในสมรภูมิรบทางการเมือง ภาพจาก มติชนออนไลน์

04 May 2010

แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อโลก ให้ยุติใช้สร้างความเกลียดชัง โพลชี้เสรีภาพน้อยเกินไป

แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก วอนหยุดใช้"สื่อ"เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง โพลชี้เสรีภาพเสนอข่าวน้อยลง องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งคือเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงความสำคัญของสื่อมวลชนที่จะต้องมีเสรีภาพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายได้เห็นความสำคัญของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก จึงขอเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1.ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนประเภทต่างๆ พึงตระหนักว่าท่ามกลางวิกฤติของประเทศในขณะนี้ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจะต้องวางเป้าหมายการรายงานข่าว “เพื่อสันติภาพ ความยุติธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม” กล่าว คือ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง รวมทั้งเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียม และต้องรายงานถึงสาเหตุของปัญหารวมถึงนำเสนอทางออก แม้ว่ารัฐธรรมนูญได้ให้หลักประกันในด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน แต่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพด้วย 2.ขอเรียกร้องให้ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งยุติการใช้สื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง โดยการโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน สร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา 3.ขอเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีความจริงใจในการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่ใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐที่ครอบครองคลื่นความถี่ต้องแสดงเจตนารมณ์ในการปฏิรูปตัวเองให้ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยฝ่ายรัฐบาลต้องยุติการแทรกแซงและใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง 4.ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เปิดใจให้กว้างรับฟังความเห็นที่หลากหลายจากสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม พึงระมัดระวังอย่างยิ่งในการรับข่าวสารจากสื่อที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง 5.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนมีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของทุกฝ่ายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่อาจยอมรับได้และจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด นอกจากนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ที่มีต่อ เสรีภาพของสื่อมวลชนไทย ณ วันนี้ จำนวนทั้งสิ้น 1,251 คน ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2553 สรุปผลได้ดังนี้ ประชาชนคิดว่า สื่อมวลชน ณ วันนี้ มีเสรีภาพมากน้อยเพียงใด มีเสรีภาพน้อยเกินไป 30.07% เพราะไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงได้เต็มที่ นำเสนอได้เพียงบางส่วน, มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชน มีเสรีภาพมากพอสมควร 28.10% เพราะสื่อปัจจุบันสามารถเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารได้หลายช่องทาง และสามารถทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้น อันดับ 3 มีเสรีภาพที่เหมาะสมแล้ว 21.57% เพราะการนำเสนอข่าวสารอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เหมาะสม, มีสมาคม องค์กรที่ควบคุมดูแลการทำงาน อันดับ 4 มีเสรีภาพมากเกินไป 20.26% เพราะอาศัยช่องทางของสื่อในการนำเสนอหรือแสดงความเห็นส่วนตัวมากเกินไป บางครั้งมีการนำเสนอข่าวและภาพที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ประชาชนต้องการให้ “สื่อมวลชน” มีบทบาทอย่างไร 30.19% เป็นตัวแทนประชาชนในการตรวจสอบเรื่องต่างๆในสังคมอย่างใกล้ชิด /เกาะติดสถานการณ์ 24.98% นำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง พร้อมวิเคราะห์หาเหตุผล หาคำตอบหรือหาทางออกให้กับสังคม 20.63% ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ไม่ยึดติดกับผลตอบแทนใดๆ 13.48% มีอิสระในการทำงาน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร และ 10.72% สื่อทุกแขนงต้องช่วยกันรณรงค์ เผยแพร่เอกลักษณ์ วัฒนธรรมอันดีงามของไทยสืบต่อไป "สื่อมวลชน" สามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างไร มองว่า เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชน /เรียกร้อง /หรือนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม 25.73% ช่วยกันนำเสนอข้อมูล ข่าวสารในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าการนำเสนอเพียงเพื่อหวังผลทางธุรกิจ 23.56% สื่อทุกแขนงต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง 20.64% สื่อต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือ หรือ อยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ /ยึดหลักจริยธรรมทางวิชาชีพ 16.19% ยอมรับฟังคำวิพากษ์ วิจารณ์ มีความรับผิดชอบต่อสังคม 13.88% read more:www.matichon co.th

เบื้องหลัง"อภิสิทธิ์"ปิดเกม นปช.ชุมนุมยืดเยื้อเกือบ 2 เดือน รบ.ต่อสายเจรจาแกนนำบน2 เงื่อนไข

แหล่งข่าวจากคณะรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผย"มติชนออนไลน์"เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมถึงเบื้องหลังที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศแนวทางปรองดอง 5 ข้อพร้อมกับเสนอให้มีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553ว่า นายอภสิทธิ์ได้หารือกับฝ่ายต่างๆรวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและตระเตรียมเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาหลายวันโดยมีเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการคือ 1. ต้องการให้เรื่องจบภายในวันที่ 5 พฤษภาคมเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เนื่องในวันฉัตรมงคลหรือเป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 (ทรงขึ้นครองราชย์วันที่ 9 มิถุนายน 2489) 2.การเตรียมพร้อมของฝ่ายความมั่นคง เพราะถ้านายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางปรองดองและวันที่จะจัดการเลือกตังเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน แต่ไม่ได้รับการตอบรับหรือสนองตอบจากแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) อาจถูกตั้งคำถามว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงต้องเข้าดำเนินการกับผู้ชุมนุม แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนแถลงเมื่อคืนวันที่ 3 พฤษภาคม รัฐบาลได้มีการพูดคุยกับแกนนำ นปช.บางคนถึงข้อเสนอต่างๆรวมทั้งวันจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ซึ่งแกนนำ นปช.คนดังกล่าวยอมรับ แต่ก็มีปัญหาว่า แกนนำรายอื่นๆจะยอมรับข้อเสนอนี้หรือไม่ แต่เมื่อนายกฯแถลงข้อเสนอออกไปก็ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับค่อนข้างดีซึ่งต้องรอดูผลอย่างเป้นทางการต่อไป อนึ่ง กลุ่ม นปช.เริ่มชุมนุมใน กทม.ครั้งหลังสุดที่สะพานผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 และเพิ่มจุดชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2553 รวมการชุมนุมแล้วเป็นเวลา 1 เดือน 23 วัน

แกนนำ นปช.ขานรับข้อเสนอนายกฯ

แกนนำ นปช.ขานรับข้อเสนอนายกฯ เตรียมถก-แถลงท่าที 4 พ.ค.นี้ Mon, 2010-05-03 23:35 แกนนำเสื้อแดง เตรียมหารือข้อเสนอนายกฯ พร้อมแถลงท่าทีในวันที่ 4 พ.ค.นี้ เชื่อเป็นแนวทางทางที่จะช่วยให้มีการเปิดประตูคุยกับรัฐบาลมากขึ้น ย้ำรัฐบาลไม่ควรปากว่าตาขยิบ เพราะแม้นายกฯ เสนอเจรจา แต่ ศอฉ.กลับออกมาขู่จับตายแกนนำ-เอารถหุ้มเกราะมาสลาย วันนี้ (3 พ.ค.53) เวลา 21.30 น.นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวภายหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ยื่น 5 ข้อเสนอแผนปรองดอง และให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในวันที่ 14 พ.ย.ว่า ในเช้าวันที่ 4 พ.ค. จะมีการประชุมแกนนำ นปช.และแถลงท่าทีต่อข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี โดย นปช.ไม่ได้ปฏิเสธหรือยอมรับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีในทันที แต่ต้องมานั่งคุยกันก่อน ซึ่ง นปช.ก็อยากให้วันฉัตรมงคลในปีนี้คนไทยไม่มีทุกข์ อยากให้สำเร็จก่อนวันที่ 5 พ.ค.และแม้จะไม่สำเร็จภายในวันที่ 5 พ.ค. แต่ก็จะมีทิศทางที่ชัดเจนและมีการเปิดประตูพูดคุยกับรัฐบาลให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามข้อเสนอทั้ง 5 ข้อที่นายกฯ เสนอมานั้น นปช.ต้องไปหารือว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะมีบางข้อ น่าจะทำได้เร็วกว่าที่รัฐบาลกำหนดเวลา เช่น ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากจริงใจก็ใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ควรปากว่าตาขยิบ เพราะท่าทีแต่ละคนไม่เหมือนกัน นายกฯ เสนอเจรจา แต่ ศอฉ.กลับออกมาขู่บอกว่าจะจับตายบ้าง หรือนำรถหุ้มเกราะมาสลายบ้าง ด้านนายสุพร อัตถาวงศ์ แกนนำ นปช.กล่าวว่า ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์เป็นเรื่องที่ดี เพราะ ทุกอย่างจะได้จบสิ้นเสียที ทุกคนจะได้กลับไปทำมาหากินอย่างปกติต่อไป นายจรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำ นปช. กล่าวว่า ถือว่าเป็นชัยชนะของคนเสือแดงในระดับหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลสามารถร่นระยะเวลา การยุบสภากว่าเดิม ส่วนเบื้องหลังการที่นายกฯ ออกมาแถลงครั้งนี้ เป็นเพราะแกนนำ นปช.กับรัฐบาลมีการหารือกันตลอดเวลา ซึ่ง นปช.ก็รู้อยู่แล้วว่า ผลต้องออกมาแบบนี้ ทำให้ที่ผ่านมานอนหลับอย่างมีความสุข เพราะไม่กังวลว่ารัฐบาลจะสลายการชุมนุม จตุพร-เหวง รับข้อเสนอปรองดองนายกฯ น่าสนใจ 22.00 น.นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวให้สัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์รายการคมชัดลึกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรักษาตัวจากอาการป่วย เพิ่งได้ฟังข้อมูล แต่ไม่ประติดประต่อ เท่าที่ทราบมีทั้งสิ่งที่น่าสนใจและข้อสงสัย ซึ่งหากจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายนนั้น อาจหมายถึงจะมีการยุบสภาในเดือนกันยายน รัฐบาลจะอยู่ต่ออีกราว 4 เดือนครึ่ง ถือเป็นระยะเวลาที่น่าสนใจ เพราะอยู่ตรงกลางทางจากที่เคยมีความเห็นต่าง แต่ในส่วนเนื้อหา 5 ข้อนั้น ก่อนที่จะให้ความเห็นอะไรมาก ต้องขอทราบความชัดเจนก่อน นายจาตุรนต์ กล่าวถึงข้อเสนอในส่วนที่ยังเป็นคำถามว่า ยกตัวอย่างเรื่องการให้สื่อมีเสรีภาพ การที่รองนายกบอกว่าทุกวันนี้สื่อมีเสรีภาพ ไม่มีการแทรกแซงสื่อ ซึ่งหากเสรีภาพเป็นอย่างเช่นทุกวันนี้คงไม่ใช่ เพราะอย่างที่รู้ว่าปัจจุบันมีการแทรกแซงสื่ออย่างมาก หรือเรื่องการดำเนินคดี ปัจจุบันมีการนำข้อกล่าวหาใหญ่ๆ มาจับแพะชนแกะแล้วให้ DSI รับไปสอบสวน ทำให้เป็นคดีการเมืองไปหมด คดีเหล่านี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ ต้องมีการซักถามขอทราบรายละเอียดสาระสำคัญ นายจาตุรนต์ กล่าวว่าในส่วนตัวเงื่อนเวลา 4 เดือนกว่าบวกกับอีก 60 วัน คิดว่าระยะเวลานั้นน่าจะคุยกันได้ แต่อย่างไรก็ตามตนไม่สามารถคิดแทน แกนนำ นปช.ได้ ด้าน น.พ.เหวง โตจิราการ หนึ่งในแกนนำ นปช.กล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการเดียวกันว่า ไม่สามารถตัดสินแทนแกนนำ นปช.ทั้งหมดได้ แต่ข้อเสนอของนายกถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่น่าจะหาข้อสรุปที่สร้างสรรค์สำหรับประเทศได้ เพราะก่อนหน้านี้ที่ทูตจาก 5 ประเทศ (ประกอบด้วย เดนมาร์ค เบลเยียม ออสเตรีย เปรู และอาเจนตินา) เดินทางเข้าเยี่ยมการชุมนุมของกลุ่ม นปช. แล้วทาง นปช.ได้มีการยื่นข้อเสนอยุบสภาใน 30 วัน แต่นายกกับปิดประตูแล้วยิง M16 ใส่ผู้ชุมนุม น.พ.เหวง กล่าวด้วยว่าเรื่องเงื่อนเวลานั้นจริงๆ ต้องไปพูดคุยกันอีกครั้ง เพราะนปช.มีการทำงานแบบรวมหมู่ ต้องหารือกันก่อน เพราะวันนี้ผู้นำของนปช.กระจัดกระจายอยู่ในด่านต่างๆ ทั้ง 8 ด่าน ทุกคนไม่ได้ฟังการแถลงของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทั้งหมดพร้อมๆ กัน ในส่วนของนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานนปช.เองก็อยู่ระหว่างปราศรัยบนเวทีในช่วงเวลาเดียวกับที่นายกแถลงในหน้าจอพอดี ทั้งนี้การประชุมหารือเพื่อให้ได้คำตอบอาจมีขึ้นในคืนนี้หรือพรุ่งนี้เช้า เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกระบวนการในการหาข้อสรุป น.พ.เหวง กล่าวว่าแกนนำนปช.ราว 30 คน หากรวมกันได้อย่างน้อย 20 คนก็สามารถมีการหารือกันได้ โดยมติจะมาจากเสียงข้างมาก “วันนี้เป็นข้อเสนอที่สร้างสรรค์ คาดว่าน่าจะมีคำตอบที่ดีต่อข้อเสนอที่สร้างสรรค์นี้” น.พ.เหวงกล่าว

03 May 2010

มุมมุสลิม: นครปัตตานีหรือเขตบริหารพิเศษ :ความจริงจากพื้นที่ (2)

ความชัดเจนในเอกลักษณ์ทั้งสองประการดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและความสับสนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพอสมควรมีคนเป็นจำนวนมากปรารภว่าชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ไม่มีความรู้สึกเป็นไทยเท่าที่ควร จึงเกิดความพยายามในฝ่ายของรัฐที่จะส่งเสริมให้ชาวมุสลิมเหล่านี้มีความรู้สึกเป็นไทยแต่เราลืมไปว่า คำว่าไทยในความหมายที่ใช้อยู่ในขณะนี้มีสองความหมายด้วยกัน คือไทยในความหมายของสัญชาติ และไทยในความหมายของเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ ความเป็นไทยในความหมายของเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์หมายถึง ความเป็นไทยที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากประเทศจีน มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชีวิตและดำรงชีวิตมาโดยตลอดบนพื้นฐานของศาสนาพุทธหรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นความเป็นไทยในแง่นี้ ชาวมุสลิมในสามหรือสี่จังหวัดภาคใต้จึงได้รับความลำบาก เพราะเขามีชาติพันธุ์เป็นมลายู และมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำสังคม แต่ความเป็นไทยในแง่ของสัญชาติ ชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้รับได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะว่าความเป็นไทยในแง่นี้ย่อมหมายถึงผู้ใดหรือกลุ่มใดก็ได้ ที่กอปรขึ้นมาเป็นประเทศเดียวกัน อาณาจักรเดียวกันภายใต้กฎหมาย และลัทธิการเมืองเดียวกัน อีกทั้งมีความผูกพันกับชาติบ้านเมืองที่ตนดำรงร่วมอยู่ ประเทศอื่นๆ หลายประเทศซึ่งประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์มิได้มีปัญหาในทำนองนี้หรือไม่ต้องมีความสับสนกับปัญหาทำนองนี้เพราะว่าประเทศเหล่านี้มีชื่อประเทศแยกออกจากชื่อของชาติพันธุ์ เช่น ประเทศมาเลเซียสิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์สหรัฐอเมริกา ยกตัวอย่างประเทศมาเลเซีย ซึ่งประกอบด้วยชาวมลายู ชาวจีน ชาวอินเดีย ทุกกลุ่มสามารถอ้างความเป็นมาเลเซียนได้หมดอย่างเท่าเทียมกัน แต่สำหรับประเทศไทยเมื่อพูดถึงความเป็นไทย ก็จะต้องมีคำถามต่อไปว่าเป็นไทยในแง่เชื้อชาติหรือในแง่สัญชาติ เมื่อประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้มีเอกลักษณ์ 2 ระดับ ดังกล่าวนี้แล้ว ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้จึงแบ่งได้สองลักษณะเช่นเดียวกัน นั่นคือปัญหาทั่วไปและปัญหาชาติพันธุ์ ปัญหาทั่วไปหมายถึงปัญหาซึ่งเกิดขึ้นโดยทั่วไปสำหรับคนไทยทั้งประเทศไม่ว่าเป็นกลุ่มเหล่าใดหรือในภูมิภาคไหน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ส่วนปัญหาชาติพันธุ์ หมายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความเป็นชาติพันธุ์หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม และมีชาติพันธุ์มลายู เมื่อข้อเท็จจริงของประชาชนและปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเช่นนี้แล้ว คำว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเอกสารชิ้นนี้หมายถึงปัญหาชาติพันธุ์เท่านั้น และในการวิเคราะห์และนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะจำกัดเฉพาะในความหมายและขอบเขตดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าปัญหาชาติพันธุ์จะมีลักษณะแตกต่างที่เด่นชัดจากปัญหาทั่วไป แต่ก็หาใช่ว่าจะสามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด อันที่จริงแล้ว ปัญหาทั้งสองลักษณะนี้มีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่หลายด้าน ดังนั้น ในการวิเคราะห์และเสนอแนะต่างๆ อาจจะต้องอ้างอิงและเกี่ยวโยงซึ่งกันและกันตามความจำเป็น แต่ปัญหาที่เราประสงค์จะวิเคราะห์และมุ่งเน้นคือปัญหาชาติพันธุ์ เมื่อเราได้กำหนดขอบข่ายของปัญหาชัดเจนอย่างนี้แล้ว คำถามที่สำคัญเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร คือปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากปัญหาสามจังหวัดภาคใต้เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันในสังคมเดียวกัน ดังนั้นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด คือปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ คือปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวไทยมุสลิมและรัฐบาลซึ่งเป็นไทยพุทธ ปัญหาความขัดแย้งอาจจะปรากฏขึ้นตั้งแต่ในระดับอ่อนเป็นการแสดงออกโดยท่าทีและกิริยา วาจา ไปจนถึงในระดับรุนแรงเช่น การปะทะด้วยอาวุธดังที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นต้น อนึ่ง การแสดงออกถึงความรุนแรงดังกล่าว ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นกับทุกคนหรือโดยทุกคนในชาติพันธุ์ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักจะส่งผลกระทบหรือมีความหมายทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ตัวอย่างเช่น ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐคนหนึ่ง รังแกชาวบ้านที่เป็นมุสลิม ในบริบทของกลุ่มชาติพันธุ์ ก็มีการตีความได้โดยง่ายว่ารัฐบาลซึ่งเป็นไทยพุทธรังแกชาวไทยมุสลิม และอาจจะสั่งสมในโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์อีกเป็นเวลานานสาเหตุของปัญหารแก้ปัญหาที่ได้ผลยั่งยืนควรจะต้องแก้กที่ต้นเหตุ ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุหรือที่ผลของปัญหา อันที่จริงแล้ว ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ในขณะนี้นั้น เป็นผลที่มาจากสาเหตุรอบด้านในสังคมซึ่งสะสมขึ้นมาอย่างสลับซับซ้อนและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้น ถ้าประสงค์จะแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ให้ได้ผลยั่งยืนถาวรจำเป็นจะต้องเน้นการแก้ไขที่สาเหตุ และนี้คือกรอบของการศึกษาวิเคราะห์และการนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ของคณะกรรมาธิการชุดนี้คือ การมุ่งประเด็นที่สาเหตุของปัญหาโดยเชื่อว่าถ้าดำเนินการแก้ไขที่สาเหตุอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ปัญหาความขัดแย้งซึ่งกำลังจะรุนแรงขึ้นทุกขณะนั้น จะทุเลาเบาบางและหายไปในที่สุด ต่อไปนี้จะได้นำเสนอการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ อันเป็นสาเหตุของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าวสาเหตุของปัญหาเกิดจากสองฝ่ายที่ปฏิบัติกันมาผิดๆ มาโดยตลอดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาชาติพันธุ์ หรือชาวไทยมุสลิมสิ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือความพยายามในการมองว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ นั้น มาจากชาวไทยมุสลิมเท่านั้นเช่น การขาดความสำนึกในความเป็นไทย การกระด้างกระเดื่อง การฝักใฝ่ต่างประเทศ การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ การมองปัญหาแบบนี้นอกจากไม่ถูกต้องด้วยหลักวิชาการแล้ว ยังไม่เป็นธรรมต่อชาวไทยมุสลิมอีกด้วย อันที่จริงแล้ว สาเหตุส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ นั้น อาจจะมาจากทางฝ่ายของรัฐและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วยซึ่งจะต้องตั้งคำถาม เช่น มีนโยบายที่ถูกต้องหรือไม่เกี่ยวกับชาวไทยมุสลิม เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอะไรที่เป็นการกดขี่ข่มเหงหรือไม่ คนไทยโดยทั่วไปแสดงออกถึงการดูถูกเหยียดหยามหรือปฏิบัติการลำเอียงอย่างใดหรือไม่ โครงสร้างของรัฐมีลักษณะกีดกันเพื่อมิให้ชาวไทยมุสลิมมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม หรือการศึกษาหรือไม่ ตราบใดที่สิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ การแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้คงไม่มีทางที่จะหมดไปหรือคลี่คลายลงได้ สรุปแล้วในการวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุของปัญหานั้น จะต้องกระทำจากทั้งสองทางคือ ทางฝ่ายของชาวไทยมุสลิมและทางฝ่ายของรัฐและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และวิธีการแก้ไขก็ต้องปฏิบัติการทั้งสองฝ่ายเช่นเดียวกันการไม่ยอมรับในความแตกต่างของเอกลักษณ์าเหตุพื้นฐานที่สุดที่นำไปสู่ความขัดแย้งสคือการไม่ยอมรับในความแตกต่างในเอกลักษณ์ทางศาสนาวัฒนธรรมระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิม เราจะต้องยอมรับข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่าชาวไทยมุสลิมและชาวไทยพุทธนั้นมีความแตกต่างในด้านศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม และในเรื่องทางสังคมหลายประการ ความแตกต่างดังกล่าวนี้ ทำให้ไทยมุสลิมมีความคิดและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันจากไทยพุทธอย่างมีนัยสำคัญ ความแตกต่างในบางเรื่องมีลักษณะตรงกันข้ามอย่างเห็นได้ชัดตัวอย่างเช่น ในเรื่องการแต่งกาย อาหารการกินการครองเรือน การยึดเหนี่ยวและพิธีกรรมของชีวิตในด้านต่างๆ จริงอยู่ ความแตกต่างบางอย่างสามารถที่จะปรับเปลี่ยนเข้าหากันได้ แต่ความแตกต่างหลายอย่างพาดพิงกับบริบททางศาสนาซึ่งไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะในฝ่ายของศาสนาอิสลาม การปรับเปลี่ยนที่เกี่ยวกับคำสอนในเรื่องพื้นฐาน (อะกีดะฮ์) ของศาสนาถึงแม้จะเป็นเพียงน้อยนิดจะกระทำมิได้ นอกจากจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ศาสนาได้อนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเทศะเท่านั้น หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 เม.ย. 2553 ข้อมูลจาก deepsouthwatch.org