04 May 2010
แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อโลก ให้ยุติใช้สร้างความเกลียดชัง โพลชี้เสรีภาพน้อยเกินไป
แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก วอนหยุดใช้"สื่อ"เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง โพลชี้เสรีภาพเสนอข่าวน้อยลง
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งคือเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงความสำคัญของสื่อมวลชนที่จะต้องมีเสรีภาพ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายได้เห็นความสำคัญของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก จึงขอเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนประเภทต่างๆ พึงตระหนักว่าท่ามกลางวิกฤติของประเทศในขณะนี้ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจะต้องวางเป้าหมายการรายงานข่าว “เพื่อสันติภาพ ความยุติธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม” กล่าว คือ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง รวมทั้งเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียม และต้องรายงานถึงสาเหตุของปัญหารวมถึงนำเสนอทางออก
แม้ว่ารัฐธรรมนูญได้ให้หลักประกันในด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน แต่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพด้วย
2.ขอเรียกร้องให้ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งยุติการใช้สื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง โดยการโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน สร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
3.ขอเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีความจริงใจในการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่ใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐที่ครอบครองคลื่นความถี่ต้องแสดงเจตนารมณ์ในการปฏิรูปตัวเองให้ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยฝ่ายรัฐบาลต้องยุติการแทรกแซงและใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง
4.ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เปิดใจให้กว้างรับฟังความเห็นที่หลากหลายจากสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม พึงระมัดระวังอย่างยิ่งในการรับข่าวสารจากสื่อที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง
5.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนมีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของทุกฝ่ายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่อาจยอมรับได้และจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด
นอกจากนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ที่มีต่อ เสรีภาพของสื่อมวลชนไทย ณ วันนี้ จำนวนทั้งสิ้น 1,251 คน ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2553 สรุปผลได้ดังนี้ ประชาชนคิดว่า สื่อมวลชน ณ วันนี้ มีเสรีภาพมากน้อยเพียงใด มีเสรีภาพน้อยเกินไป 30.07% เพราะไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงได้เต็มที่ นำเสนอได้เพียงบางส่วน, มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชน มีเสรีภาพมากพอสมควร 28.10% เพราะสื่อปัจจุบันสามารถเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารได้หลายช่องทาง และสามารถทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้น อันดับ 3 มีเสรีภาพที่เหมาะสมแล้ว 21.57% เพราะการนำเสนอข่าวสารอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เหมาะสม, มีสมาคม องค์กรที่ควบคุมดูแลการทำงาน อันดับ 4 มีเสรีภาพมากเกินไป 20.26% เพราะอาศัยช่องทางของสื่อในการนำเสนอหรือแสดงความเห็นส่วนตัวมากเกินไป บางครั้งมีการนำเสนอข่าวและภาพที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ประชาชนต้องการให้ “สื่อมวลชน” มีบทบาทอย่างไร 30.19% เป็นตัวแทนประชาชนในการตรวจสอบเรื่องต่างๆในสังคมอย่างใกล้ชิด /เกาะติดสถานการณ์ 24.98% นำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง พร้อมวิเคราะห์หาเหตุผล หาคำตอบหรือหาทางออกให้กับสังคม 20.63% ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ไม่ยึดติดกับผลตอบแทนใดๆ 13.48% มีอิสระในการทำงาน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร และ 10.72% สื่อทุกแขนงต้องช่วยกันรณรงค์ เผยแพร่เอกลักษณ์ วัฒนธรรมอันดีงามของไทยสืบต่อไป
"สื่อมวลชน" สามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างไร มองว่า เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชน /เรียกร้อง /หรือนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม 25.73% ช่วยกันนำเสนอข้อมูล ข่าวสารในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าการนำเสนอเพียงเพื่อหวังผลทางธุรกิจ 23.56% สื่อทุกแขนงต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง 20.64% สื่อต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือ หรือ อยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ /ยึดหลักจริยธรรมทางวิชาชีพ 16.19% ยอมรับฟังคำวิพากษ์ วิจารณ์ มีความรับผิดชอบต่อสังคม 13.88%
read more:www.matichon co.th
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment
ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda