13 October 2010

อุฎหิยะฮฺ: ความหมาย ความประเสริฐ และหุกม

السلام عليكم ورحمة الله وبركاته เขียนโดย Abu Asybal ข้อกำหนดทางศาสนา อุละมาอฺมีทัศนะอุลามาอฺที่แตกต่างกันเกี่ยวกับหุกมของการเชือดอุฎหิยะฮฺ แต่อุละมาอฮฺส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺสำหรับผู้ที่มีความสามารถไม่ใช่วาญิบ ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีความสามารถจึงส่งเสริมให้เชือดอุฎหิยะฮฺทุกปี เพื่อออกจากพิสัยของการคิลาฟ นั่นคือทัศนะของอุละมาอฺที่ว่าวาญิบสำหรับผู้ที่มีความสามารถ (อัลมุจญ์มูอฺ 8/385, อัลมุฆนีย์ 9/435, อัลหาวีย์ 15/71, อัลบะดาอิอฺ 4/192-193, บิดายะฮฺ อัลมุจญ์ตะฮิด 1/348) เพราะตามรายงานหะดีษระบุว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ท่านรสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมพำนักอยู่ที่มะดีนะฮฺ ท่านจะทำการเชือดอุฎหิยะฮฺทุกปี และไม่เคยละทิ้งมันเลยแม้แต่ปีเดียว ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเชือดอุฎหิยะฮฺ เมื่อย่างเข้าเดือนซุลหิจญะฮฺ (ตั้งแต่วันที่ 1 – 10) ไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีความประสงค์จะเชือดอุฎหิยะฮฺทำการตัดหรือโกนผม ขนรักแร้ ขนลับ และตัดเล็บ อมมุสะละมะฮฺเล่าว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า (( إذا دخلت العشر، وأراد أحدكم أن يضحي فلا يمس من شعره وبشره شيئاً )) “เมื่อย่างเข้างสิบวัน (แรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ) และใครคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกเจ้าประสงค์ที่จะเชือดอุฎหิยะฮฺ ดังนั้น เขาจงอย่าแตะต้อง (ตัดหรือโกน) ส่วนใดๆของเส้นผมหรือขนของเขาแต่อย่างใด” (มุสลิม, ชัรหฺเศาะหีหมุสลิม 4/119) และในอีกรายงานหนึ่งระบุว่า (( من كان له ذِبح يذبحه فإذا أهلَّ هلالُ ذي الحجة فلا يأخذ من شعره وأظفاره شيئاً حتى يضحي )) “ผู้ใดที่มีสัตว์ (ที่เตรียมไว้) สำหรับเชือดอุฎหิยะฮฺ ดังนั้นเมื่อเข้าเดือนซุลหิจญะฮฺ เขาก็จงอย่าตัดเอาส่วนใดส่วนหนึ่งจากผมของเขา และเล็บของเขาจนกว่าเขาจะเชือดอุฎหิยะฮฺเสร็จ” (มุสลิม, 4/120) เวลาสำหรับเชือดอุฏหิยะฮฺ การเชือดอุฏหิยะฮฺจะเริ่มตั้งแต่เวลาหลังจากเสร็จละหมาดอีด และสิ้นสุดลงหลังจากดวงอาทิตย์ตกในเย็นวันที่สิบสามของเดือนซุลหิจญะฮฺเท่านั้น. อนัสเล่าว่า ท่านรสูล ศ้อลลัลลอฮุอะลัยอิวะสัลลัมกล่าวว่า ((من ذبح قبل الصلاة فإنما يذبح لنفسه، ومن ذبح بعد الصلاة فقد تم نسكه وأصاب سنة المسلمين)) “ผู้ใดที่ทำการเชือดก่อนละหมาดแท้จริงมันเป็นการเชือดสำหรับตัวเขาเอง และผู้ใดที่ทำการเชือดหลังละหมาดแท้จริงเขาได้ทำให้อิบาดะฮฺของเขาสมบูรณ์และถูกต้องตามสุนนะฮฺของชนมุสลิมทั้งหลาย” (บันทึกโดย บุคอรีย์ 1:243,) ญุนดุบ บิน สุฟยานเล่าว่า ฉันได้ร่วมละมหาดอีดอัฎหากับท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และท่านได้กล่าวว่า (( من كان ذبح أضحيته قبل أن يصلي أو نصلي فليذبح مكانها أخرى ومن كان لم يذبح فليذبح باسم الله )) “ผู้ใดได้เชือดสัตว์อุฎหิยะฮฺของเขาก่อนที่เขาจะละหมาดหรือก่อนที่ฉันจะละหมาด ดังนั้นเขาจงเชือดตัวอื่นแทนตัวนั้น และผู้ใดที่ยังไม่ได้เชือด ดังนั้นเขาจงเชือดด้วยพระนามของอัลลอฮฺ” (มุสลิม 6:74) ญุเบร บิน มุฏอิมเล่าว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า ( كل فجاج مكة منحر، وكل أيام التشريق ذبح ) “ทุกๆช่องทางของมักกะฮฺคือสถานที่สำหรับเชือดสัตว์ และทุกๆวันตัชรีก (วันที่ 11-13) คือวันแห่งการเชือด” (บันทึกโดย อะหมัด 4:8 บัยฮะกีย์ 5:295) อิหม่ามอัชชาฟิอีย์กล่าวว่า “เมื่อตะวันลับฟ้าในวันสุดท้ายของวันตัชรีก หลังจากนั้นหากผู้ใดเชือดอุฎหิยะฮฺ ดังนั้นการเชือดอุฎหิยะฮฺนั้นถือว่าเป็นโมฆะ” (อัลอมม์, 2/222) เงื่อนไขของสัตว์อุฎหิยะฮฺ 1. อูฐ ที่มีอายุครบห้าปีบริบูรณ์และย่างเข้าปีที่หก 2. วัว และแพะ ที่มีอายุครบสองปีบริบูรณ์ และย่างเข้าปีที่สาม 3. แกะ ที่มีอายุครบหนึ่งปีบริบูรณ์และย่างเข้าปีที่สอง หรือหลังจากที่มีการเปลี่ยนฟันใหม่ ถึงแม้ว่าอายุยังไม่ครบหนึ่งปีบริบูรณืก็ตาม (ดู มัจมูอฺ 8:293) และต้องไม่เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีอวัยวะทุกส่วนครบสมบูรณ์และไม่มีตำหนิที่ชัดเจน จนกระทบต่อเนื้อของสัตว์ หรือดูแล้วน่ารังเกียจ อัลบัรรออฺ บิร อาซิบเล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า ( أربعٌ لا تجوز في الأضاحي : العوراء البين عورها والمريضة البين مرضها والعرجاء البين عرجها والكسير التي لا تنقي) “มีสัตว์สี่ประเภทที่ไม่อนุญาตสำหรับการอุฎหิยะฮฺ นั่นคือ สัตว์ที่ตาบอดข้างที่เห็นชัด สัตว์ที่ป่วยอย่างเห็นได้ชัด สัตว์ที่ขาพิการอย่างเห็นได้ชัด และสัตว์ที่ผอมแห้งจนไม่สามารถลุกขึ้นเดินได้” (อบูดาวูด 7/357-358 – เอานุลมะอฺบูด, อัตติรมิซีย์ 5/67 – ตุหฺฟะฮฺ) วิธีการเชือด 1. ต้องครอบครองสัตว์สำหรับเชือด (หนึ่งตัวหรือหนึ่งส่วน) 2. นิยัตหรือตั้งเจตนาเพื่อทำการเชือดอุฏหิยะฮฺ 3. เชือดด้วยตัวเองหรือให้ผู้อื่นเชือดแทน 4.ปฏิบัติตามระเบียบการเชือด คือ 4.1 ลับมีดให้คมกริบ 4.2 กล่าวบิสมิลลาฮฺและตักบีร (บิสมิลลาฮฺ อัลลอฮุ อักบัร) 4.3 กล่าวเศาะละวาตนบี (ตามทัศนะของอิหม่ามอัชชาฟิอีย์) 4.4 กล่าวดุอาอฺ بِاسْمِ اللهِ، اَللَّهُمَّ تَقَبَّلْ مِنْ مُحَمَّدٍ ، وَآلِ مُحَمَّدٍ، وَمِنْ أُمَّةِ مُحَمَّدٍ “บิสมิลลาฮฺ อัลลอฮุมมะ ตะก็อบบัล มินมุหัมมัด มอาลิมุหัมมัด วะมินอุมะติมุหัมมัด” (มุสลิม 4/106 - ชัรหฺอันนะวะวีย์) ด้วยพระนามของอัลลฮฺ โอ้พระผู้อภิบาลของข้า ได้โปรดรับ (การภักดี) จาก มุหัมมัด และครอบครัวของมุหัมมัด และประชาชาติของมุหัมมัด) 4.5 หันไปทางกิบลัตทั้งสัตว์เชือดและผู้เชือด 4.6 ทำให้สัตว์เชือดนอนตะแคงซ้าย. 4.7 ทำการเชือดที่สนามละหมาดหรือมุศ็อลลา (อัลมุจญ์มูอฺ 8/408, อัลบะดาอิอฺ 4/221, อัลมุฆนีย์ 9/456-457, กัชชาฟุลเกาะนาอฺ 3/8) 4.8 การใช้ประโยชน์จากเนื้ออุฏหิยะฮฺ 1. การใช้ประโยชน์จากเนื้ออุฎหิยะฮฺที่เป็นสุนัต ส่งเสริมให้ผู้ทำการเชือดแบ่งเนื้อออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับครอบครัว ส่วนหนึ่งสำหรับบริจาคแก่บรรดาคนจนและผู้ขัดสน และอนุญาตให้บริจาคแก่บรรดามุสลิมที่ร่ำรวย และอนุญาตให้เก็บตุนไว้ อัลลอฮฺทรงตรัสว่า فَكُلُوا مِنْهَا وَأَطْعِمُوا الْقَانِعَ وَالْمُعْتَرَّ (الحج : 36) “ดังนั้น พวกเจ้าก็จงบริโภคส่วนหนึ่งของมัน และจงให้ทานอาหารแก่คนที่ไม่เอ่ยขอ และคนที่เอ่ยขอ” فَكُلُوا مِنْهَا وَأَطْعِمُوا الْبَائِسَ الْفَقِيْرَ (الحج : 28) “ดังนั้น พวกเจ้าก็จงบริโภคส่วนหนึ่งของมัน และจงให้ทานอาหารแก่ผู้ที่ยากจนขัดสน” 2. การใช้ประโยชน์จากเนื้ออุฎหิยะฮฺที่เป็นวาญิบ (นะซัร) มัซฮับหะนะฟีย์และชาฟิอีย์และทัศนะหนึ่งของมัซฮับหันบะลีย์ ถือว่าไม่อนุญาตให้เจ้าของผู้บนบานหรือนะซัรรับประทานจากเนื้ออุฎหิยะฮฺที่ทำการบนบานดังกล่าว เพราะการนะซัรเป็นสิ่งที่วาญิบและจำเป็นต้องบริจาคเป็นทานให้หมดแก่ผู้ยากจน และถ้านำมารับประทานแม้เพียงนิดเดียวก็จำเป็นต้องถูกปรับด้วยการหาเนื้ออื่นมาแทนที่ (อัลมัจญ์มูอฺ 8/417, มุฆนีอัลมุหฺตาจญ์ 6/134, ตับยีนอัลหะกออิก 6/8, อัลมุฆนีย์ 9/475) วัลลอฮุอะอฺลัม 3. ให้ชาวซิมมีย์รับประทานเนื้ออุฎหิยะฮฺ อิหม่ามอันนะวะวีย์อ้างคำพูดของอิบนุลมุนซิรว่า “บรรดาอุละมาอฺมีทัศนะที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับการให้รับประทานอาหารแก่บรรดาผู้ขัดสนในหมู่ซิมมีย์ โดยที่อัลหะสัน อัลบัศรีย์ อบูหะนีฟะฮฺ และอบู เษาร์ ระบุว่าอนุญาต ส่วนอิหม่ามมาลิกกล่าวว่า “ให้ทานแก่คนอื่นจากพวกเขาเป็นที่น่าพอใจแก่เรากว่า” และท่านยังไม่ชอบที่จะมอบหนังสัตว์อุฎหิยะฮฺแก่ชาวนัศรอนีย์ หรือเนื้ออุฎหิยะฮฺ” เช่นเดียวกับอัลลัยษ์ที่ไม่ชอบที่จะทำเช่นนั้น และท่านกล่าวว่า “ถ้าได้ต้มเนื้อสุกแล้ว ก็ไม่เป็นไรที่จะเรียกซิมมีย์มาทานร่วมกับชาวมุสลิม” หลังจากนั้น อิหม่ามอันนะวะวียืกล่าวว่า “ตามมัซฮับอัชชาฟิอีย์ อนุญาตให้พวกเขารับประทานจากเนื้ออุฎหิยะฮฺที่เป็นสุนัต แต่ไม่อนุญาตให้รับประทานจากเนื้ออุฎหิยะฮฺที่เป็นวาญิบ” (อัลมัจญ์มูอฺ 8/425) อิบนุกุดามะฮฺกล่าวว่า “อนุญาตให้ชาวกาฟิรผู้ปฎิเสธศรัทธารับประทานอาหารจากเนื้ออุฎหิยะฮฺ นี่เป็นทัศนะของอัลหะสัน และอบูเษาร...เพราะมันคืออาหารที่เขามีสิทธิที่จะทาน ดังนั้นจึงอนุญาตให้ชาวซิมมีย์รับประทานเช่นเดียวกับอาหารทั่วๆไป และเนื่องจากว่ามันเป็นการให้ทานที่สุนัต ดังนั้นจึงอนุญาตให้ซิมมีย์ และเชลยรับประทานได้ เช่นเดียวกับการให้ทานสุนัตอื่นๆ” (อัลมุฆนีย์ 9/450) 4. ค่าจ้างสำหรับผู้ชำแหละเนื้ออุฎหิยะฮฺ อุละมาอฺส่วนใหญ่ระบุว่าไม่อนุญาตให้นำเนื้ออุฎหิยะฮฺเป็นค่าจ้างแก่ผู้เชือดและผู้ชำแหละเนื้ออุฎหิยะฮฺ เพราะมีรายงานจากอาลี บิน อบีฎอลิบ เล่าว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้สั่งให้ฉันจัดการเกี่ยวกับอูฐอุฎหิยะฮฺของท่าน และสั่งให้ฉันนำเนื้อ และหนังของมันบริจาคทาน และห้ามไม่ให้ฉันนำ (เนื้อและชิ้นส่วนใดๆของมัน) มอบ (เป็นค่าตอบแทน) แก่ช่างชำแหละเนื้อแม้แต่น้อย” (อัลบุคอรีย์ 4/303, มุสลิม 3/435) ส่วนกรณีที่ช่างชำแหละเนื้อเป้นคนจนหรือมิตรสหาย ก็อนุญาตให้มอบเนื้ออุฎหิยะฮฺแก่พวกเขาได้ในฐานะของคนจน หรือเป็นการฮะดิยะฮฺ ไม่ใช่ค่าจ้าง ส่วนค่าตอบแทนหรือค่าจ้าง เจ้าของอุฎหิยะฮฺจำเป้นต้องหาทรัพท์สินส่วนอื่นให้แทน (อัลมุฆนีย์ 9/450, ชัรหุสสุนนะฮฺ 7/188) 5. การขายเนื้ออุฎหิยะฮฺและนำหนังของมันมาใช้ประโยชน์ ทัศนะของมัซฮับมาลิกีย์ ชาฟิอีย์ และหันบะลีย์ ระบุว่า ไม่อนุญาตให้นำเนื้อ หรือหนังของสัตว์อุฏหิยะฮฺ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของมันไปขาย ไม่ว่าจะเป็นอุฎหิยะฮฺวาญิบหรืออุฎหิยะฮฺสุนัตก็ตาม (อัซซะคีเราะฮฺ 4/156, อัลมัจญ์มูอฺ 8/419-420, อัลมุฆนีย์ 9/450) นบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า ( من باع جلد أضحيته فلا أضحية له ) “ผู้ใดขายหนังสัตว์อุฎหิยะฮฺของเขา ดังนั้นเขาจะไม่ได้ผลบุญจากการอุฎหิยะฮฺนั้น” (สุนันอัลบัยฮะกีย์ 9/294, เศาะหีหฺอัลญามิอฺอัสเศาะฆีร 2/1055) 1. ความหมายของอุฏหิยะฮฺ อุฎหิยะฮฺด้านภาษา หมายถึงสัตว์ที่ถูกเชือดในเวลาฎุหา (เวลาเช้าหลังจากที่ตะวันทอแสงแล้ว) หรือสัตว์ที่ถูกเชือดในวันอีดอัฎหา 2. บัญญัติว่าด้วยอุฎหิยะฮฺ อุฎหิยะฮฺมีบัญญัติทั้งในอัลกุรอาน สุนนะฮฺ และอิจญ์มาอฺ (มติเอกฉันท์ของอุละมาอฺอิสลาม) อัลลอฮฺทรงตรัสว่า ((فَصَلِّ لِرَبِّكَ وَانْحَرْ)) [الكوثر:2] “ดังนั้นเจ้าจงละหมาดเพื่อพระเจ้าของเจ้า และจงเชือดสัตว์อุฎหิยะฮฺ” (อัลเกาษัร, 2) ((قُلْ إِنَّ صَلاَتِي وَنُسُكِي وَمَحْيَايَ وَمَمَاتِي لِلّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ، لاَ شَرِيكَ لَهُ وَبِذَلِكَ أُمِرْتُ وَأَنَاْ أَوَّلُ الْمُسْلِمِينَ)) [الأنعام : 162-163] “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า แท้จริงการละหมาดของฉัน และการอิบาดะฮ์ (หัจญ์หรือการเชือด) ของฉัน การมีชีวิตของฉัน และการตายของฉัน ล้วนเพื่ออัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลกเท่านั้น ไม่มีการตั้งภาคีใดๆ แก่พระองค์ และด้วยการปฏิบัติดังกล่าวข้าพระองค์ถูกสั่งใช้ให้ปฏิบัติ และข้าพระองค์คือคนแรกในหมู่ผู้สวามิภักดิ์” (อัลอันอาม 162-163) ((وَلِكُلِّ أُمَّةٍ جَعَلْنَا مَنْسَكًا لِّيَذْكُرُواْ اسْمَ اللهِ عَلَى مَا رَزَقَهُمْ مِّن بَهِيمَةِ الاَْنْعَـمِ)) [الحج:34] “และสำหรับทุกๆประชาชาติเราได้กำหนดสถานที่และเวลาสำหรับประกอบพิธีกรรม (หัจญ์และเชือดสัตว์อุฎหิยะฮฺ) เพื่อพวกเขาจะได้กล่าวพระนามของอัลลอฮฺ ต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขาจากปศุสัตว์ (อูฐ วัว แพะ แกะ)” (อัลหัจญ์, 34) อายะฮฺเหล่านี้บ่งบอกว่าการเชือดเพื่อความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติไว้ในทุกศาสนาและสำหรับทุกประชาชาติ และเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่บ่งชี้ว่าการเชือดเป็นอิบาดะฮฺและผลประโยชน์อย่างหนึ่งในทุกสมัย ทุกสถานที่ และทุกประชาชาติ ส่วนสุนนะฮฺของท่านรสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมก็มีบัญญัติการเชือดอุฎหิยะฮฺทั้งจากคำพูดของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม การปฏิบัติของท่าน และการยอมรับ ดังนั้นบัญญัติการอุฎหิยะฮฺในสุนนะฮฺจึงครอบคลุมสุนนะฮฺทั้งสามประเภท นั่นคือ คำพูด การปฏิบัติ และการยอมรับ อัลบัรรออฺ บิน อาซิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่าท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า (( من ذبح بعد الصلاة فقد تم نسكه، وأصاب سنة المسلمين)) “ผู้ใดเชือดหลังจากเสร็จพิธีละหมาดอีด ถือว่าการเชือดอุฎหิยะฮฺของเขาสมบูรณ์แล้ว และถูกต้องตามธรรมเนียมการปฏิบัติของมุสลิม”[2] อุกบะฮฺ บิน อามิร เล่าว่า “ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้แบ่งสัตว์สำหรับอุฎหิยะฮฺในหมู่เศาะหาบะฮฺของท่าน และส่วนของอุกบะฮฺได้รับญิซอะฮฺ (ชื่อเรียกลูกสัตว์ที่ฟันยังงอกไม่เต็มและยังไม่ร่วง ถ้าเป็นลูกแพะก็จะมีอายุระหว่าง 6-9 เดือน)[3] ดังนั้นเขาจึงกล่าวว่า “โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺ ฉันได้ส่วนแบ่งที่เป็นญิซอะฮฺ?” ท่านจึงตอบว่า “จงใช้มันเชือดอุฎหิยะฮฺ”[4] อะนัส บิน มาลิก เล่าว่า “ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้เชือดอุฎหิยะฮฺด้วยแกะสีเทาสองตัว ท่านเชือดด้วยมือของท่านเอง ท่านกล่าวพระนามของอัลลอฮฺ (บิสมิลลาฮฺ) และตักบีร (อัลลอฮุอักบัร) และท่านวางเท้าของท่านลงบนสีข้างของมันทั้งสอง”[5] ญุนดุบ บิน สุฟยาน อัลบะญะลีย์ เล่าว่า “ฉันได้ร่วมละหมาดอัฎหาพร้อมกับท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หลังเสร็จละหมาดกับประชาชนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านได้มองไปยังแพะที่ถูกเชือด (ทิ้งไว้) ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า ((مَنْ ذَبَحَ قَبْلَ الصَّلاَةِ فَلْيَذْبَحْ شَاةً مَكَانَهَا، وَمَنْ لَمْ يَكُنْ ذَبَحَ فَلْيَذْبَحْ عَلَى اسْمِ اللهِ)) “ผู้ใดได้เชือดก่อนละหมาด (อีดจะเสร็จสิ้น) เขาจงเชือดแพะตัวอื่นแทน และผู้ใดยังไม่ได้เชือดก็จงเชือดบนพระนามของอัลลอฮฺ”[6] ส่วนอิจญ์มาอฺหรือมติเอกฉันท์ของอุละมาอฺเกี่ยวกับบัญญัติการอุฎหิยะฮฺ ก็มีอุละมาอฺหลายท่านที่กล่าวดังกล่าว มีกล่าวในหนังสือ (อัลมุฆนีย์) ว่า “ชาวมุสลิมต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการอุฎหิยะฮฺเป็นบัญญัติศาสนาอย่างหนึ่ง”[7] อิบนุ อัลมุลักกิน กล่าวว่า “ไม่มีการขัดแย้งใดๆว่าการเชือดอุฎหิยะฮฺเป็นหนึ่งในอิบาดะฮฺของศาสนา”[8] อัชเชากานีย์กล่าวว่า “หะดีษต่างๆในบทที่เกี่ยวกับการเชือดอุฎหิยะฮฺบ่งบอกถึงบัญญัติการเชือดอุฎหิยะฮฺ และไม่มีการขัดแย้งใดๆในเรื่องนี้ และการเชือดอุฎหิยะฮฺเป็นอิบาดะฮฺที่อัลลอฮฺทรงชื่นชอบที่สุดที่ถูกปฏิบัติในวันแห่งการเชือด”[9] 3. ความประเสริฐของการส่งเสริม ถึงแม้ว่าจะไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่ระบุถึงความประเสริฐของมันเลย[10] แต่อุฎหิยะฮฺก็เป็นอิบาดะฮฺที่สำคัญยิ่งและเป็นสัญญาณแห่งความยิ่งใหญ่ของอิสลามอย่างหนึ่ง ที่ส่งเสริมให้ชาวมุสลิมทุกคนยึดปฎิบัติอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็เป็นการปฏิบัติตามสุนนะฮฺของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมซึ่งท่านไม่เคยละทิ้งการเชือดอุฎหิยะฮฺเลยตลอดสิบปีที่ท่านพำนักอยู่ ณ มหานครมะดีนะฮฺ อาอิชะฮฺ ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า ((مَا عَمِلَ آَدمِيٌّ مِنْ عَمَلٍ يَوْمَ النَّحْرِ أَحَبَّ إِلَى اللهِ مِنْ إِهْرَاقِ الدَّمِ، إِنَّهَا لَتَأْتِيْ يَوْمَ الْقِيَامَةِ بِقُرُوْنِهَا وَأَشْعَارِهَا وَأَظْلاَفِهَا ، وَإِنَّ الدَّمَ لَيَقَعُ مِنَ اللهِ بِمَكَانٍ قَبْلَ أَنْ يَقَعَ مِنَ الأَرْضِ فَطِيْبُوْا بِهَا نَفْسًا (( “ไม่มีอิบาดะฮฺอันใดที่ผู้เป็นบ่าวปฏิบัติในวันอีดอัฎฮาจะเป็นที่โปรดปรานและชื่นชอบของอัลลอฮฺเป็นพิเศษมากไปกว่าการหลั่งเลือดด้วยการเชือดสัตว์อุฎหิยะฮฺ และแท้จริงสัตว์อุฎหิยะฮฺดังกล่าวจะปรากฏในวันกิยามะฮฺพร้อมกับเขา (ที่สวยงาม), ปุยขน (ที่นุ่มและดกฟู) และกีบเท้า(ที่แข็งแกร่ง), และหยดเลือดของสัตว์กุรบานทุกๆหยดจะหยดลงบนพื้นที่ของอัลลอฮ์ ก่อนที่จะหยดลงถึงพื้นดิน ดังนั้นพวกท่านจงเต็มใจเชือดุฎหิยะฮฺเถิด”[11] อบู ฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า ((مَنْ وَجَدَ سَعَةً فَلَمْ يُضَحِّ فَلاَ يَقْرِبَنَّ مُصَلاَّنَا)) “ผู้ใดมีความกว้างขวางและมั่งคั่ง แต่ไม่ยอมเชือดอุฎหิยะฮฺ ดังนั้นเขาจงอย่าเข้าใกล้สนามละหมาดของเราเป็นอันขาด”[12] 4. หุกมการเชือดอุฎหิยะฮฺ อุละมาอฺมีทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับหุกมของการเชือดอุฎหิยะฮฺ แต่อุละมาอฮฺส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺสำหรับผู้ที่มีความสามารถไม่ใช่วาญิบ ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีความสามารถจึงส่งเสริมให้เชือดอุฎหิยะฮฺทุกปี เพื่อออกจากพิสัยของการคิลาฟ นั่นคือทัศนะของอุละมาอฺที่ว่าวาญิบสำหรับผู้ที่มีความสามารถ[13] อิมามอัชชาฟิอีย์กล่าวว่า “การเชือดอุฎหิยะฮฺเป็นสุนนะฮฺที่ฉันไม่ชอบละทิ้งมัน”[14] อิบนุ อับดิลบัรร์ กล่าวว่า “สรุปจากมัซฮับอิมามมาลิก การเชือดอุฎหิยะฮฺเป็นสุนนะฮฺหนึ่งที่ถูกสั่งกำชับให้ชาวมุสลิมยึดปฏิบัติ และส่งเสริมให้กระทำ และไม่อนุญาตให้ละทิ้งมัน นอกจากผู้ที่กำลังทำหัจญ์อยู่ ณ ทุ่งมีนาเท่านั้น...”[15] ท่านยังกล่าวอีกว่า “ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้เชือดอุฎหิยะฮฺตลอดชีวิตของท่าน และไม่มีรายงานจากท่านว่าท่านละทิ้งการเชือดอุฎหิยะฮฺเลย ทั้งยังส่งเสริมให้ (ประชาชาชาติของท่าน) เชือดอุฎหิยะฮฺอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่เป็นการควรสำหรับมุสลิมที่มีความสะดวกด้านทรัพย์สินที่จะละทิ้งการเชือดอุฎหิยะฮฺ”[16] อัลลอฮฺทรงตรัสว่า ((لَقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ لِمَنْ كَانَ يَرْجُو اللَّهَ وَالْيَوْمَ الْآخِرَ وَذَكَرَ اللَّهَ كَثِيرًا)) (الأحزاب:21) “แน่แท้ ในตัวของท่านรสูลุลลอฮฺนั้นมีแบบอย่างอันดีงามสำหรับพวกเจ้า สำหรับผู้ที่หวัง (ในความโปรดปรานของ) อัลลอฮฺและวันปรโลกและรำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมาก” (อัลอะหฺซาบ, 21) 5. ทำไมจึงส่งเสริมให้เชือดอุฎหิยะฮฺ 1. เพื่อสร้างความใกล้ชิดต่อเอกองค์อัลลอฮฺ 2. เพื่อเป็นการฟื้นฟูแบบฉบับของท่านนบีอิบรอฮีม 3. เพื่อเป็นการปฏิบัติตามสุนนะฮฺของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลยอิวะสัลลัม 4. เพื่อแสดงออกถึงความใจกว้าง เอื้ออาทรต่อบุคคลในครอบครัว เพื่อนบ้าน และบรรดาผู้ขัดสนในวันอีด 5. เพื่อนำความสุขสำราญและมิตรภาพที่ดีสู่สังคม โดยเฉพาะคนยากจนและอนาถา 6. เพื่อแสดงถึงการขอบคุณต่อความโปรดปรานและริซกี อันเปี่ยมล้นของอัลลอฮฺ 7. เพื่อเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการภักดีและยอมสิโรราบต่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ 6. ระหว่างการเชือดอุฎหิยะฮฺกับการบริจาคทานด้วยราคาอุฎหิยะฮฺ อย่างไหนประเสริฐกว่ากัน ? อุละมาอฺส่วนใหญ่เห็นว่าการเชือดอุฎหิยะฮฺประเสริฐกว่าการให้บริจาคทานด้วยราคาอุฎหิยะฮฺหรือมากกว่านั้น เพราะการเชือดอุฎหิยะฮฺเป็นหนึ่งในสัญญาณของศาสนา และเป็นสุนนะฮฺที่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมยึดปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสั่งกำชับและส่งเสริมอย่างหนักให้ประชาชาติของท่านที่มีความสามารถยึดปฏิบัติ และที่สำคัญการให้ความสำคัญกับการบริจาคทานมากกว่าการเชือดอุฎหิยะฮิจะก่อให้เกิดการละเลยและละทิ้งสุนนะฮฺการเชือดอุฎหิยะฮฺในที่สุด หลักฐานหนึ่งที่แสดงถึงความประเสริฐของการเชือดอุฎหิยะฮฺมากกว่าการบริจาคทานด้วยราคาของมันคือ มีอยู่ปีหนึ่งในสมัยของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ประชาชานตกอยู่ในความหิวโหยอยู่ซึ่งช่วงนั้นตรงกับเทศกาลแห่งการเชือดอุฎหิยะฮฺพอดี แต่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมก็ไม่ได้สั่งให้บรรดาเศาะหาบะฮฺให้บริจาคเงินแก่บรรดาผู้ที่ตกยาก แต่ท่านกลับเห็นด้วยกับการเชือดสัตว์อุฎหิยะฮฺของพวกเขา และได้สั่งให้พวกเขาทำการแจกจ่ายเนื้ออุฎหิยะฮฺเหล่านั้นแก่ผู้ที่ขัดสน สะละมะฮฺ บิน อัลอักวะอฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า (( مَنْ ضَحَّى مِنْكُمْ فَلاَ يُصْبِحَنَّ بَعْدَ ثَالِثَةٍ فِي بَيْتِهِ شَيْءٌ ))“ผู้ใดที่เชือดอุฎหิยะฮฺในหมู่พวกเจ้า ดังนั้นหลังจากสามวันให้หลังแล้วจะต้อง (แจกจ่ายเนื้ออุฎหิยะฮฺให้หมดและ) อย่าให้มีเหลืออยู่ที่บ้านแม้แต่นิดเดียว” ในปีต่อมา บรรดาเศาะหาบะฮฺจึงถามว่า “โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺ พวกเราได้ปฏิบัติ (เชือดอุฎหิยะฮฺ) เหมือนกับที่เราได้ปฏิบัติมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา?” ท่านตอบว่า ((كُلُوْا وُأُطْعِمُوْا وَادَّخِرُوْا، فَإِنَّ ذَلِكَ الْعَامَ كَانَ فِي النَّاسِ جَهْدٌ فَأَرَدْتُ أَنْ تُعِيْنُوْا فِيْهَا)) “พวกเจ้าจงทาน จงจัดอาหารให้ผู้อื่นทาน และจงเก็บตุนไว้ เพราะแท้จริงเมื่อปีที่ผ่านมานั้นประชาชนอยู่ในสภาพที่แร้นแค้น ดังนั้นฉันจึงอยากให้พวกเจ้าช่วยเหลือพวกเขาด้วยเนื้ออุฎหิยะฮฺนั้น”[17] มีคนถามอาอิชะฮฺว่า “ท่านรสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ห้ามไม่ให้ทานเนื้ออุฎหิยะฮฺเกินสามวันจริงหรือ?” อาอิชะฮฺตอบว่า “ท่านรสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลออุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ได้ทำเช่นนั้นนอกจากในปีที่ (แห้งแล้งและ) ประชาชนหิวโหยเท่านั้น ดังนั้นท่านจึงอยากให้ผู้ที่ร่ำรวยให้ทานอาหารแก่ผู้ที่ยากจน”[18] อิบนุ อับดิลบัรร์ กล่าวว่า “ตามทัศนะของเรา (มัซฮับมาลิกีย์ ถือว่า) การเชือดอุฎหิยะฮฺประเสริฐกว่าการบริจาคทาน เพราะการเชือดอุฎหิยะฮฺเป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ (สุนนะฮฺที่เน้นหนักให้ปฏิบัติ) เช่นเดียวกับละหมาดอีด และเป็นที่ทราบดีว่าละหมาดอีดนั้นประเสริฐกว่าละหมาดสุนัตอื่นๆทั้งหลาย”[19] อันนะวะวีย์กล่าวว่า “มัซฮับของเรา (ชาฟิอีย์) ถือว่าการเชือดอุฎหิยะฮฺประเสริฐกว่าการบริจาคทานสุนัต เนื่องเพราะหะดีษเศาะหีหฺมากมายที่บ่งบอกถึงความประเสริฐของการเชือดอุฎหิยะฮฺ แลเนื่องเพราะการเชือดอุฎหิยะฮฺเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับการวาญิบของมันหไม่เหมือนกับการบริจาคทานสุนัต (ที่ไม่ความขัดแย้งในหมู่อุละมาอฺเกี่ยวกับมัน) และเนื่องจากว่าการเชือดอุฎหิยะฮฺเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นและชัดเจน”[20] อิบนุกุดามะฮฺกล่าวว่า “การเชือดอุฎหิยะฮฺประเสริฐกว่าการบริจาคทานด้วยราคาของมัน” ท่านยังกล่าวอีกว่า “เพราะการให้ความสำคัญกับการบริจาคทานมากกว่าการเชือดอุฎหิยะฮฺจะนำไปสู่การละทิ้งสุนนะฮฺที่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้ และเนื่องเพราะท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้เชือดอุฎหิยะฮฺและบรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้งสี่หลังจากท่านก็เชือดอุฎหิยะฮฺเช่นกัน ดังนั้น ถ้าพวกเขาทราบว่าการบริจาคทานประเสริฐกว่า พวกเขาย่อมต้องเปลี่ยนจาการเชือดอุฎหิยะฮฺไปบริจาคทานแทนอย่างแน่นอน”[21] วัลลอฮุอะอฺลัม