25 May 2011

ศ นพ ประเวศ วะสี เสนอให้มีรายการประชาเสวนาทางโทรทัศน์

ผม(web blogger)สะดุดใจเมื่ออ่านข้อเสนอของอาจารย์หมอ ในหัวข้อ "สถานีโทรทัศน์กับการแก้วิกฤตชาติ" ผ่าน นสพ มติชน 25-5-54 เนื่องจากรายการ ประชาเสวนา เป็นชื่อรายการที่เป็นภาษาไทยของรายการ "Forum Rakyat" ที่เคยออกอากาศและเผยแพร่โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 ส่วนแยกยะลา ระหว่างปี พศ.2541-2543 ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลาเป็นเจ้าของรายการ และผมกับเพื่อน ๆ เป็นผู้ผลิตรายการ อาจารย์หมอระบุว่า สถานีโทรทัศน์อาจพัฒนาความเป็นสถาบันทางปัญญาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ ๑.สร้างคลังสมองของสถานี โดยทะนุบำรุงคนกลุ่มหนึ่งหรือเครือข่ายของคนที่มีปัญญา เห็นความเป็นไปในโลกและในประเทศทั้งหมด รู้ประเด็นสำคัญของประเทศ คลังสมองนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อกิจการทั้งหมดของสถานีโทรทัศน์ ๒.สนับสนุนการวิจัยปัญหาใหญ่ๆ ของสังคมไทย ให้รู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทางสังคม เพื่อเอามาสื่อสาร ๓.คัดเลือกและพัฒนานักข่าว ผู้ประกาศข่าว ผู้ดำเนินรายการ ที่มีสติปัญญาสูงเข้าใจความเป็นจริงทางสังคม และประเด็นที่สำคัญๆ ของชาติ ร่วมทั้งสร้างนักเขียนเก่งๆ ๔.สร้างละคร และภาพยนตร์โทรทัศน์ ที่สนุก และสอดแทรกประเด็นหลักของสังคม ๕.จัดรายการประชาเสวนา (Citizen Dialogue) ทางโทรทัศน์ สังคมไทยแตกแยกรุนแรง ขาดเอกภาพทางปัญญา ทอนกำลังกันเอง ไม่สามารถปฏิบัตินโยบายที่สำคัญๆ ของประเทศได้ การใช้แต่ความเห็นไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ หรือยิ่งกลับทะเลาะกันมากขึ้น เพราะร้อยคนก็เห็นร้อยอย่างต่างๆ กันไป แต่กระบวนการประชาเสวนาใช้ข้อมูลและความรู้เข้าไปในจังหวะที่เหมาะสม ทำให้ผู้ที่มาจากพื้นฐานที่ต่างกันมีฉันทมติตรงกันได้ ประชาเสวนาเป็นกระบวนการประชาธิปไตยอัตถประโยชน์ ก่อให้เกิดความก้าวหน้าด้วยสันติวิธี ถ้าสถานีโทรทัศน์ทุกช่องทำความเข้าใจและจัดรายการประชาเสวนาทางโทรทัศน์เป็น ประจำ จะลดความแตกแยกและความรุนแรง สร้างสรรค์วิธีคิดที่ใช้ข้อมูล ใช้ความรู้ ใช้เหตุผล ที่ก่อให้เกิดปัญญาและวิจารณญาณขึ้นในสังคม ๖.จัดเสวนานักการเมืองทางโทรทัศน์ ทำนองเดียวกับประชาเสวนา หรือผสมกัน จะเป็นการพัฒนาคุณภาพนักการเมืองอย่างต่อเนื่อง ๗.ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งทำเรื่องสำคัญของชาติให้เป็นประเด็นทางการเมือง โดยเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมาออกรายการโทรทัศน์ แล้วมีการตั้งคำถาม จุดยืนของพรรคว่าถ้าได้รับเลือกมาเป็นรัฐบาลแล้วจะทำเรื่องที่สำคัญของชาติ ดังนี้หรือไม่ ถ้าพรรคใดพรรคหนึ่งประกาศว่าจะทำจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ขับเคลื่อน ต่อไปโดยไม่หยุด

7 ปัญหา

โดย ฐากูร บุนปาน (ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2554) ในฐานะที่แอบไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ประเภท ′ครูพักลักจำ′ มาช้านาน เวลาที่ครูบาอาจารย์เขียนหนังสือหรือไปบรรยายที่ไหน ก็ต้องขวนขวายไปตามหามาอ่านเพื่อผดุงรอยหยักในสมอง และหลายครั้งก็ได้อาศัยข้อมูล-แนวคิดเอามาทำมาหากิน อย่างหนนี้ก็เช่นกัน ′อาจารย์โกร่ง′ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ซึ่งอีกสถานะหนึ่งคือคอลัมนิสต์ประจำของหนังสือพิมพ์ ′ประชาชาติธุรกิจ′ ในเครือมติชน-ข่าวสดด้วยกันนี้ เขียนบทความในคอลัมน์ ′คนเดินตรอก′ ในหนังสือพิมพ์ฉบับ 23-25 พฤษภาคม ในชื่อตอนว่า ความเสียหายที่ทิ้งไว้กับประเทศชาติ ประเด็นว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายขออนุญาตไม่เอามาฉายซ้ำ เพราะเชื่อว่าทุกท่านคงทราบอยู่แก่ใจ เอาประเด็นเนื้อๆ ว่ามีอะไรบ้าง ที่อาจารย์โกร่งสะท้อนไว้ 7 ประเด็นด้วยกันก็คือ 1.ปัญหาความแตกแยกที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ และยิ่งแตกแยกขึ้นเพราะมีการปั้นน้ำเป็นตัว ทำให้เกิดสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม 2.การทำลายอุดมการณ์ที่ถูกต้องดีงามของประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และความซื่อตรงในการนำเสนอข้อมูลต่อประชาชน เพราะที่พูดกับที่ทำคนละอย่างกัน หรือเมื่อเป็นฝ่ายค้านพูดอย่าง พอมาเป็นรัฐบาลพูดได้อีกอย่างหน้าตาเฉย 3.ความเสียหายด้านเกียรติภูมิทางการทูตของประเทศ เพราะเอาความต้องการส่วนตัวอยู่เหนือประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ จนมีปัญหาไปหมดกับนานาประเทศ ตั้งแต่ระดับมหาอำนาจมาจนเพื่อนบ้าน 4.บาดแผลจากการสลายการชุมนุม ที่ มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน บาดเจ็บกว่า 2,000 คน นอกจากไม่ได้รับการเยียวยา ยังมีการตอกลิ่มให้ปัญหาหนักข้อยิ่งขึ้น ทั้งกับคนไทยด้วยกันเอง และกับรัฐบาลต่างประเทศที่มาทวงถามความเป็นธรรมให้กับคนของตัวเองที่มาเสีย ชีวิตในเหตุการณ์นี้ด้วย 5.การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สัญญาเอาไว้มากมาย สุดท้ายที่แก้เหมือนไม่ได้แก้อะไรเลย และยิ่งเปิดช่องให้เกิดการซื้อสิทธิขายเสียงขึ้นได้ง่ายๆ เหมือนจะเชื้อเชิญให้เป็นข้ออ้างในการปฏิวัติรัฐประหาร 6.ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกาศเอาไว้ว่าจะแก้ไขให้ได้ภายใน 6 เดือน ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น 7.สร้าง ′อาณาจักรแห่งความกลัว′ ขึ้นมา ด้วยข้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน นำไปสู่การจำกัดการเสนอข่าวสารของสื่อทุกประเภท ที่ไปกระตุ้นให้ ′ข่าวลือ′ ทั้งที่จริงและไม่จริงยิ่งแพร่สะพัดมากขึ้น ดร.โกร่งระบุว่า ถ้าจะให้นึกถึงผลงานที่ผ่านมาในช่วง 2 ปี ก็มีอยู่แค่ 2 เรื่องเท่านั้น คือเลิกโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรมาเป็นการประกันราคาแทน และโครงการให้กู้ซื้อบ้านดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นนึกไม่ออก อ่านบทความของครูบาอาจารย์จบแล้ว ก็เห็นว่าจะต้องเอามาขยาย เชื่อว่าอาจารย์คงด่าแบบพึมพำนิดหน่อย แต่ลึกๆ แล้วคงไม่ว่าอะไร ฮา

22 May 2011

เวทีรัฐศาสตร์มธ.ชี้สังคมไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการสนทนาแบบเปิด และการประชุมนโยบายโต๊ะกลม ครั้งที่ 1 "สัญญาทางสังคมใหม่: ทางออกของวิกฤติการเปลี่ยนแปลง" ที่หอประชุมศรีบูรพา โดยมีผู้ร่วมสนทนา ได้แก่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ มติชนออนไลน์ ได้นำเสนอเนื้อหาการอภิปรายของ ศ.ดร.ผาสุก ไปแล้ว ครั้งนี้จึงขอนำเนื้อหาการอภิปรายของนักวิชาการอีก 3 ท่าน มานำเสนอ ดังนี้ เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงที่จะเปลี่ยนวิธีคิดแบบเก่า ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมาคล้ายๆ กับมีอะไรเกิดขึ้นมากมาย มีการสะสมการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณและทางคุณภาพ พอสะสมมาจุดหนึ่งมันก็เกิดการระเบิดเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โต โดยเกษียรเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ อยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1.มีการเปลี่ยนย้ายที่ตั้งของอำนาจ (Power shift) 2.มีการขยับเปลี่ยนจากการเมืองของชนชั้นนำ (Elite politics) สู่การเมืองภาคมวลชน (Mass politics) 3.มีนโยบายกระจายความมั่งคั่งเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้คือทิศทางทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น การเปลี่ยนทางปริมาณเราค่อนข้างเห็นได้ชัด มันเป็นเรื่องวิธีการต่อสู้ทางการเมืองโดยมีมวลชนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก อีกทั้งในกระบวนการต่อสู้นั้นมีการใช้รัฐธรรมนูญ และมีความพยายามใช้อำนาจของสถาบันที่นอกเหนือจากการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ โดย 1.ชนชั้นนำที่ต้องการจะรักษาระเบียบเก่าพึ่งชนชั้นนำด้วยกันไม่ได้ ต้องพึ่งมวลชน 2.เพื่อรักษาระเบียบเก่าต้องมีการรัฐประหาร ตลอดจนการรักษาระเบียบใหม่ 3.ทั้งสองฝ่ายพยายามดึงสถาบันมาใช้เพื่อความชอบธรรมทางการเมืองของฝ่ายตน เกษียรเสนอว่าสิ่งที่สังคมไทยต้องการตอนนี้คือ 1.รัฐธรรมนูญวัฒนธรรมฉบับใหม่ ฉบับเก่านั้นเป็นการเมืองของชนชั้นนำ ซึ่งไม่เคยเตรียมพร้อมกับการที่มวลชนจะกระโดดเข้ามาเล่นการเมืองภาพใหญ่ ดังนั้นต้องมีการทำให้การเมืองภาคมวลชนมีความศิวิไลซ์ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถออกจากกับดักได้ "ข้อคิดสำหรับรัฐธรรมนูญวัฒนธรรมฉบับใหม่คือ เราต้องยอมรับกระบวนการโลกาภิวัฒน์ของความขัดแย้ง(Globalization of conflict) ให้ได้ คนไทยมีแต่รักใคร่กลมเกลียว รักกันนะ เราต้องทำให้การทะเลาะเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถกเถียงพูดคุยกันได้แต่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง สิวเป็นเรื่องธรรมชาติ conflict (ความขัดแย้ง) ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ!" 2.ลดเป้าหมายการเมืองสุดโต่ง การตกอยู่ภายใต้เป้าหมายการเมืองสุดโต่งแล้วปฏิเสธเป้าหมายอื่นทั้งหมดเป็นเรื่องที่น่ากลัว 3.ต้องมีจริยธรรม การโกหก การใส่ร้ายป้ายสี การกล่าวหา การด่าทอ ฯลฯ ไม่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ดีได้ ถามว่า ผ่านไป 4-5 ปี คนไทยรู้รักสามัคคีขึ้นไหม สถาบันมั่นคงขึ้นไหม เราต้องคิดว่าวิธีการนั้นสำคัญกว่าเป้าหมาย 4.ต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากเราไม่เข้าใจคนที่มีความคิดเห็นที่ต่าง เราก็จะไม่สามารถทำให้มวลชนมีความศิวิไลซ์ได้ และไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ ดันแคน แมคคาร์โก กล่าวถึงวิกฤติของแหล่งที่มาของความชอบธรรมทางการเมืองว่ามีอยู่ 3 แหล่งด้วยกัน คือ 1.ความชอบธรรมจากกติกาใหญ่สุดของสังคมคือรัฐธรรมนูญ มีความเชื่อกันว่าหากมีกฎเกณฑ์สังคมดีพร้อมก็จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ง่าย 2.ความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ภายหลังปี ค.ศ.2000 เมื่อเกิดระบอบทักษิณ ก็มีแหล่งความชอบธรรมอีกแหล่งเกิดขึ้นนั่นคือ ความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง เป็นความท้าทายต่อความชอบธรรมจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากผู้ใดได้รับการเลือกตั้งมาก็จะมีความชอบธรรม แม้จะคอร์รัปชั่นก็ตาม และ 3.ค่านิยมดั้งเดิมของคนไทยคือ ความชอบธรรมจากนักปกครองที่ดี ถือเป็นความนิยมอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ดันแคน คิดว่า ประเทศไทยยากที่จะมีเสถียรภาพทางการเมือง เพราะรัฐไม่มีฐานอะไรที่เป็นที่ยอมรับ การปกครองโดยคนดีมีคนท้าทายเยอะ แนวคิดเรื่องความชอบธรรมจากผู้ปกครองที่ดีนั้นเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ คนในกรุงเทพฯ จะเชื่อเรื่องความดีของผู้นำมากกว่าคนในต่างจังหวัด แนวคิดความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเป็นแนวคิดที่มาจากกลุ่มคนที่สนับสนุนทักษิณและเพื่อไทย เป็นแนวคิดที่สนับสนุนความชอบธรรมที่ต่างกัน เลยเกิดความไม่ไว้วางใจในการเลือกตั้ง ทักษิณไม่ไว้ใจคนอื่นให้มาเป็นหัวหน้าพรรคเลยให้น้องสาว คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นผู้นำในพรรคเพื่อไทยแทน เมืองไทยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างและเชิงโครงสร้าง ในปี ค.ศ. 2010 คนเสื้อแดงเกิดขึ้นจำนวนมาก คนมาร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางระดับล่าง การศึกษาไม่สูงมาก ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน แทบไม่มีข้าราชการหรือมีน้อย อ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เคยกล่าวไว้ว่ามีการแตกแยกกันระหว่างเขตเมืองกับต่างจังหวัด แต่ตนเองคิดว่าไม่ถึงขั้นนั้น เพราะฝ่ายที่อยู่ในเมืองก็เป็นคนต่างจังหวัดมากเหมือนกัน เวลานี้คนต่างจังหวัดเริ่มมีความกว้างขวางของแนวคิดเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านได้เข้ามาอยู่ในระบบตลาดแล้ว ทักษิณนั้นให้อะไรกับเขาหลายอย่าง ทำให้เขาเคารพและสนใจในอำนาจเก่าน้อยลง ทำให้เขารู้สึกมีเกียรติ ไม่รู้สึกถูกกดขี่ เหยียดหยาม สิ่งที่เกิดขึ้นในปีก่อนบ่งบอกว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงมาก มีการถกเถียงกันในหมู่เสื้อแดงเรื่องอำมาตย์กับไพร่ มีการวิเคราะห์กันอย่างละเอียดถึงความต้องการของผู้ชุมนุม คือ ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของนายทุนแต่ไม่ต้องการล้มระบบ เสื้อแดงมีเสียงสนับสนุนมากในภาคเหนือและอีสาน ดันแคนกล่าวว่า ตนได้ไปทำงานที่สามจังหวัดภาคใต้ วิกฤติการณ์ด้านความชอบธรรมของคนทางใต้นั้น เขามีความรู้สึกว่าถูกล่าเมืองขึ้นจากส่วนกลาง ตัวคนที่อยู่ในพื้นที่ทางใต้เองก็คิดว่าเรามาอยู่ผิดที่หรือเปล่า ความขัดแย้งที่มีสีเสื้อมาแบ่งนี้ไม่ดีเลย เพราะเป็นความขัดแย้งเชิงภูมิภาคไม่ใช่เชิงอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว อีสานมีอัตลักษณ์ของเขา มีความภูมิใจมานาน ในช่วง ค.ศ.1950 มีความรู้สึกแปลกแยกออกจากรัฐไทย มีการก่อการคอมมิวนิสต์ มีการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการปกครองของรัฐบาลกลาง สืบเนื่องมาจากรัฐบาลกลางได้เข้าไปล่าเมืองขึ้นที่อีสาน นี่คือ สิ่งที่อธิบายว่าทำไมทักษิณถึงดัง เพราะอดีตนายกฯ ไม่ได้เข้าไปเหมือนล่าเมืองขึ้น เช่นกันกับเชียงใหม่ที่มีประวัติความเป็นเอกเทศในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าภูมิภาคเหล่านี้ต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะยอมรับรัฐบาลกลาง "ลักษณะการล่าเมืองขึ้นจากส่วนกลางจนถึงเวลานี้ก็ไม่เปลี่ยน แค่มีการเปลี่ยนรูปแบบใหม่เฉยๆ ไม่ได้มีการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมือง ผมรู้สึกอย่างนั้น" "ผมมาจากทางอังกฤษตอนเหนือที่มีเรื่องราวลักษณะนี้เหมือนกัน มีอะไรก็พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ขวานผ่าซาก ผมมีความเชื่อว่าสำหรับประเทศไทย จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเสียใหม่ เพื่อที่ประเทศไทยจะได้รับความชอบธรรมอย่างแท้จริง ภาคใต้ต้องมีการปกครองที่เป็นเอกเทศสักหน่อย ฉะนั้นผมอยากจะบอกว่าหากคุณอยากจะมีรัฐเดี่ยวในศตวรรษที่ 21 ควรที่จะให้มีการขยายคำจำกัดความของรัฐเดี่ยวให้ยืดหยุ่นมากกว่านี้ ความตึงเครียดก็จะลดลง โดยใช้แนวนโยบายที่ผ่อนคลาย และก็ควรจะทำอย่างเร่งด่วนด้วย" ดันแคนกล่าว ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่รัฐบาลใช้กำลังปราบ มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บ เกิดความรุนแรงอีกครั้งหนึ่งในถนนที่กรุงเทพฯ และช่วงนี้ครอบรอบ 19 ปี พ.ค.2535 ด้วย สิ่งที่น่าสนใจคือว่าญาติเหยื่อของ พ.ค.2535 มาตามหาญาติที่หายไป บัดนี้ยังไม่เจอ 19 ปีแล้ว "ผมเชื่อว่าผู้ที่นั่งฟังอยู่ตรงนี้เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญการเมืองการปกครองไทยทั้งนั้น แต่ถ้าจะให้ผมสอนการเมืองไทย ผมสอนไม่ได้ ไม่อาจเอื้อมไม่กล้าสอน ผมไม่เข้าใจ มันยุ่งเหยิง ให้สอนการเมืองอังกฤษเสียจะดีกว่า" ชัยวัฒน์ เกริ่นนำเนื้อหา ชัยวัฒน์ กล่าวว่า การคิดถึงสัญญาประชาคมใหม่ภายใต้สภาพแวดล้อมปัจจุบันเป็นการหวนกลับไปพิจารณาว่าอะไรคือฐานของทฤษฎีสัญญาประชาคมในปรัชญาการเมืองยุคใหม่ พื้นฐานของสัญญาประชาคมก็คือ ความไว้วางใจ และเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ต้นทฤษฎีสัญญาประชาคมในศตวรรษที่ 17 ความไว้วางใจนั้นยังมีลักษณะเป็นปัจเจกบุคคล และเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตยที่ทำงานได้ แต่ในสังคมไทยได้เกิดความรุนแรงในระยะเวลาที่ผ่านมา จำเป็นที่จะต้องรื้อฟื้นความไว้วางใจขึ้นมาอย่างยิ่ง คำถามสำคัญที่ต้องถามคือว่า เราจะฟื้นความไว้วางใจได้อย่างไรหลังจากที่มันได้แตกไปแล้ว ชัยวัฒน์ กล่าวต่อมาถึงข้อถกเถียง 6 ข้อ คือ 1.เมื่อย้อนกลับไปดูสัญญาประชาคมหรือกำเนิดของสังคมการเมือง มักจะอธิบายว่าเกิดจากสิ่งที่เรียกว่าสภาพธรรมชาติที่มนุษย์เห็นคนอื่นเป็นศัตรู ทุกคนพร้อมที่จะแย่งชิงทำร้ายกันทุกอย่าง แต่แล้ววันหนึ่งมนุษย์ในสภาพธรรมชาติตัดสินใจว่าอยู่แบบนี้ไม่ได้ เกิดการตกลงทำสัญญาประชาคมพร้อมกัน วางอาวุธพร้อมกัน การที่จะทำแบบนี้ได้ต้องเกิดจากการที่ไว้ใจกัน ในที่สุดเราละวางบางอย่างในสภาพธรรมชาติพร้อมกัน แล้วเดินเข้าสู่สังคมการเมือง เกิดสัญญาประชาคมในทางปรัชญาการเมือง 2.Trust หรือความไว้วางใจเป็นฐานของชีวิตปกติ ไม่ว่ามนุษย์จะเดินทางไปไหน เช่น การซื้อตั๋วรถ เราก็ต้องมีความไว้วางใจว่าเราจะต้องได้เดินทาง รถจะต้องออกตรงเวลา ฯลฯ เรียนหนังสือก็ต้องมี trust ระหว่างอาจารย์กับศิษย์ คนรับทุนกับคนให้ทุน เป็นต้น 3.มีนักวิชาการต่างชาติคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า สิ่งที่ทำให้สังคมประชาธิปไตยทำงานได้ คือ Trust Network หรือ เครือข่ายความไว้วางใจ และเครือข่ายนี้ก่อให้เกิดกลุ่มคนต่างๆ เช่น กลุ่มสมาคมนักเรียนเก่า สมาคมศาสนา สมาคมกีฬา เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าของพวกนี้เป็นฐานสำคัญของสังคม 4.อีกประเด็นหนึ่ง คือ อภัยวิถี มีนักปรัชญาเยอรมันอธิบายไว้วว่าชีวิตมนุษย์มีปัญหาสองด้าน ด้านหนึ่ง คือ ปัญหาของอดีต ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วหวนคืนไม่ได้ ด้านหนึ่ง คือ ปัญหาของอนาคต ทุกอย่างที่จะเกิดล้วนไม่แน่นอน การที่มนุษย์จะอยู่กับอดีตที่หวนคืนมาไม่ได้ต้องอาศัยการให้อภัย แต่สำหรับอนาคตคือ สัญญา ซึ่งสัญญาจะเกิดขึ้นได้ถ้ามีความไว้วางใจ กล่าวได้ว่า Trust เป็นฐานของชีวิตมนุษย์ในการเดินต่อในอนาคต และ 5.จะทำอย่างไรเมื่อ Trust หักพังไปแล้ว? "ในชีวิตครอบครัว หากใครดูดอกส้มสีทอง ภรรยาซึ่งสามีไปมีชู้อาจจะยกโทษให้ได้ แต่ไม่สามารถกลับไปมีความสัมพันธ์แบบเดิมได้ เพราะ trust มันหายไป แล้วจะฟื้นมันอย่างไร? บอกได้เลยว่าโคตรยาก" ชัยวัฒน์ ยกตัวอย่าง ในทางการเมืองเวลาที่พูดถึงสถาบันตุลาการ ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเรียกร้องเรื่องสองมาตรฐานอยู่เต็มเมือง คือ ความไว้วางใจต่อสถาบันที่ให้ความยุติธรรมนั้นหายไป โอกาสที่จะจัดการกับความขัดแย้ง โอกาสที่จะจัดการกับอดีต จึงเป็นเรื่องที่ยาก ครั้งหนึ่งที่มันเคยทำอะไรได้นับวันจะทำอะไรได้น้อยลง แก้ปัญหาได้น้อยลง คุ้มครองป้องกันสังคมได้น้อยลง "อริสโตเติลกล่าวว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับสังคมการเมือง คือ มิตรภาพ หากไม่มีมิตรสหาย ก็ไม่มีผู้ใดเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะในมิตรสหายมีความไว้วางใจ และความไว้วางใจนั้นเป็นรากฐานของสัญญาประชาคมใหม่ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมไทยกำลังต้องการในตอนนี้" ชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

การรักษาโรคมะเร็งปอด

โรคมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยลำดับต้น ๆ ในประเทศไทย ทั้งในเพศชาย และในเพศหญิง มีความเปลี่ยนแปลงหลายประการเกี่ยวกับมะเร็งปอดในประเทศไทยดังนี้ โรคมะเร็งปอดในเพศหญิงพบมากขึ้น จนอาจพบมาก กว่าในเพศชาย คนไข้ส่วนมากอยู่ในวัยกลางคน ไม่ได้สูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ มะเร็งมักไม่มีอาการในระยะแรก ตรวจพบโดยการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดพบเป็นจุดหรือก้อนในปอด มักจะพบที่ชายปอดมากกว่าที่ส่วนกลางของปอด เนื่องจากไม่ใกล้ชิดกับหลอดลมจึงมักไม่มีอาการ เช่น ไอ หรือไอออกเป็นเลือด ต่อเมื่อเป็นมากจึงมีอาการ โอกาสจะรักษาหายขาดก็คือเมื่อตรวจพบในระยะแรก ๆ ก่อนที่มะเร็งจะแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด การรักษามะเร็งในปอดซึ่งแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ มะเร็งของปอดเอง และมะเร็งที่แพร่มาจากอวัยวะอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย เช่น มาจากลำไส้ใหญ่ จาก เต้านม หรือมาจากกล่องเสียง มะเร็งของปอดเองก็แบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ มะเร็งที่ประกอบด้วยเซลล์ขนาดเล็ก และมะเร็งที่ประกอบด้วยเซลล์ขนาดที่ใหญ่กว่า หลักของการรักษามีดังนี้คือ มะเร็งประเภทเซลล์เล็ก มีความรุนแรงสูงแพร่กระจายรวดเร็ว เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ มักมีขนาดใหญ่ และอยู่ที่ขั้วปอด มีอาการ เช่น ไอเป็นเลือด มีหน้า คอ และลำตัวส่วนบนบวม เพราะมะเร็งไปกดเส้นเลือดดำใหญ่ที่นำเลือดจากร่างกายส่วนบนกลับเข้าหัวใจห้องขวาบน การรักษาที่ได้ผลดี คือ การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสงอาจช่วยได้ในบางกรณี เช่น ลดการบวมของต่อมน้ำเหลืองในรายที่ไปกดถูกอวัยวะสำคัญ การผ่าตัดมีบทบาทน้อย นอกจากพบโดยบังเอิญในระยะแรก ที่คนไข้พบว่ามีก้อนในปอดโดยไม่ทราบว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ หรือเป็นมะเร็งชนิดใด มะเร็งที่ไม่ใช่เซลล์เล็ก พบบ่อยกว่ากลุ่มแรก ประมาณ 75% ของมะเร็งปอด (ไม่นับมะเร็งที่แพร่มากจากอวัยวะอื่น ๆ) มะเร็งกลุ่มนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีก 3-4 กลุ่ม ซึ่งมีความแตกต่างกันบ้างแต่ไม่มากนัก เดิมมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดจะเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มักมีก้อนใหญ่ อยู่ใกล้หลอดลมจึงมีอาการไอ ไอเป็นเลือด หรือมีการอุดกั้นหลอดลมทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อ แต่ในปัจจุบันมะเร็งที่พบมากที่สุดกลับเป็นชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ พบมากในเพศหญิงวัยกลางคน ไม่มีอาการในระยะแรก แต่ถ้ารักษาไม่ทันก็อาจแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดแล้วกระจายต่อไปที่สมอง ในช่องท้อง หรือเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีน้ำท่วมในช่องปอด มะเร็งกลุ่มนี้ตรวจพบโดยการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด แล้วตรวจเพิ่มเติมโดยทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอก และอาจตรวจด้วยเพ็ตสแกน เพื่อดูการจับน้ำตาลของก้อนและต่อมน้ำเหลือง มะเร็งจะจับน้ำตาลมากกว่าเนื้อเยื่อปกติทำให้เห็นเป็นจุดเรืองแสงสว่างกว่าเนื้อเยื่อปกติ แต่การอักเสบและติดเชื้อก็ทำให้มีการจับน้ำตาลมาก อาจให้ผลการตรวจด้วยเพ็ตสแกนที่เป็นบวกได้เหมือนกัน เป็นที่น่าเสียดายที่คนไทยจำนวนมากยังไม่รู้เกี่ยวกับมะเร็งปอดที่ถูกต้อง การรักษาด้วยยาต้ม ยาตำรับต่าง ๆ ไม่มีการศึกษาและพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าสามารถทำให้มะเร็งหายได้ หรือสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งได้ การรักษาที่เป็นมาตรฐานของมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็กมี 3 ชนิดคือ 1.การผ่าตัด โดยตัดปอดออกเป็นกลีบ ปอดของคนเรามี 2 ข้าง ข้างขวามี 3 กลีบ และข้างซ้ายมี 2 กลีบ การตัดปอดเป็นกลีบนี้นอกจากจะตัดก้อนมะเร็งออกแล้วยังเป็นการตัดท่อน้ำเหลืองในปอด และต่อมน้ำเหลืองตามหลอดลมในปอดกลีบนั้น และต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด และบริเวณใกล้เคียง วิธีนี้เป็นการรักษาที่ดีที่สุดในมะเร็งระยะที่ 1 ถึง 2 มะเร็งระยะที่ 3 อาจผ่าตัดร่วมกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด มะเร็งระยะที่ 4 ไม่แนะนำให้ผ่าตัด ยกเว้นบางกรณี เช่นมีก้อนมะเร็งในปอด และมีก้อนมะเร็งที่แพร่ไปที่สมอง 1-2 ก้อนที่สามารถตัดออกได้ไม่เป็นอันตรายต่อสมองก็แนะนำให้ผ่าตัดสมองและผ่าตัดปอด ก็จะมีโอกาสหายขาดได้ 2.การให้ยาเคมีบำบัด แนะนำให้ในระยะที่มีมะเร็งแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว คือตั้งแต่ระยะที่ 2 เป็นต้นไป โดยมักให้หลังการผ่าตัดในระยะที่ 2 สำหรับระยะที่ 3 อาจให้ก่อน หรือให้หลังการผ่าตัดแล้วแต่ผู้ป่วยแต่ละราย ระยะที่ 4 การให้ยาเคมีบำบัดแม้ว่าอาจไม่ทำให้โรคหาย แต่ก็ช่วยให้ควบคุมโรคให้ลุกลามช้าลงได้ อาจช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในบางราย 3.การฉายแสง ในระยะที่ 1 ที่คนไข้ไม่ยินยอมผ่าตัด ก็อาจฉายแสงและบางรายอาจหายได้ โดยทั่วไปการฉายแสงเป็นการรักษาเฉพาะที่เมื่อมีมะเร็งก่อให้เกิดอาการ เช่น กดหลอดเลือดดำใหญ่ทำให้สมองบวม กดหลอดลมทำให้หายใจลำบาก แพร่ไปกระดูกทำให้มีอาการปวดกระดูกทุกข์ทรมาน เนื่องจากมะเร็งปอดพบได้มากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้นจึงมีข้อแนะนำดังนี้คือ 1.การถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดประจำปีมีประโยชน์ เพราะจะพบความผิดปกติซึ่งอาจเป็นมะเร็งปอดในระยะแรก 2.มะเร็งระยะแรกมักไม่มีอาการ เมื่อมีอาการมักเป็นเพราะมะเร็งแพร่กระจาย และอาจรักษาไม่หาย ดังนั้นการตัดสินใจรักษาจึงไม่ใช่เพราะมีอาการ ต้องไม่รอให้มีอาการจึงจะมาตรวจและรักษา 3.การผ่าตัดปอดในปัจจุบันทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบเปิดแผลทรวงอก และการผ่าตัดผ่านกล้อง แพทย์จะแนะนำวิธีการที่เหมาะสม เพราะนอกจากความถนัดของแพทย์แล้ว ระยะของโรคก็ยังมีส่วนในการตัดสินเลือกวิธีผ่าตัด การผ่าตัดทั้งสองวิธีได้ผลดีเท่าเทียมกัน มีความปลอดภัยใกล้เคียงกัน 4.มะเร็งปอดแม้ว่ารุนแรง ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ มะเร็งในระยะที่ 1 มีโอกาสหายขาดถึง 70% 5.การผ่าตัดปอดแม้ว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ แต่ก็มีความปลอดภัยสูง มีความเสี่ยงต่อชีวิตไม่มาก แพทย์ต้องประเมินถึงความปลอดภัยก่อนผ่าตัดโดยพิจารณาและศึกษาจากความแข็งแรงของร่างกาย อายุ โรคร่วมต่าง ๆ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ โรคถุงลมปอดโป่งพอง ระยะของมะเร็ง การแพร่กระจายของมะเร็ง 6.การผ่าตัดปอดไม่ทำให้ร่างกายทุพพลภาพ เพราะสมรรถภาพของปอดจะดีขึ้นหลังการผ่าตัด โดยทั่วไปความสามารถในการออกกำลังกายจะใกล้เคียงกับก่อนผ่าตัด เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 6 เดือน และคนไข้สามารถพัฒนาสมรรถภาพของปอดหลังผ่าตัดได้โดยการออกกำลังกาย 7.ไม่ควรหลงเชื่อว่ามีผู้รักษามะเร็งปอดโดยใช้ยาที่ผลิตขึ้นเอง หรือให้ผ่าตัดพร้อมกับกินยาที่ผู้รักษาขายให้คนป่วยไปพร้อมกัน การรักษามะเร็งปอดในปัจจุบันมีหลักการที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานทั่วโลก และผลการรักษาก็ดีขึ้นมากแล้ว จึงควรที่คนไข้ที่เป็นโรคนี้ได้รับการรักษาด้วยวิธีผสมผสาน ต่าง ๆ ที่ถูกต้องตามหลักการของการแพทย์ปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กิตติชัย เหลืองทวีบุญ หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / ที่ปรึกษาศัลยแพทย์ทรวงอก โรงพยาบาลพญาไท 2 / http://www.phyathai.com