13 October 2011

การละหมาดอีด

การละหมาดอีดทั้งสองนั้นเป็นซุนนะฮ์ที่มีน้ำหนักมาก(มุอักกะดะฮ์)ในส่วนของสุภาพบุรุษที่อายุถึงเกณฑ์ศาสนภาวะ แล้วอยู่ประจำที่ และส่งเสริมให้กระทำสำหรับบรรดาเด็กๆและสุภาพสตรี บ่าว ทาส ตลอดจนคนเดินทาง


มีบางทัศนะบอกว่า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ ไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่แถบหมู่บ้านเล็กๆนอกเมือง


แท้จริงแล้ว ท่านนะบี ใช้ให้ออกไปรวมกันและได้ส่งเสริมเอาไว้ในฮะดีษของอุมมุ อฏียะฮ์ที่นางได้กล่าวว่า :


’’ أمرنا ( تعني النبي صلى الله عليه وسلم ) أن نخرج في العيدين العواتق والحيض ، يشهدن الخير و دعوة المسلمين ، ويعتزل الحيض المصلى ‘‘


“ท่าน(หมายถึงนะบี )ได้ใช้ให้พวกเราพาเด็กๆและหญิงที่มีรอบเดือนไปร่วมละหมาดอีดกันทั้งสองอีด เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้มีส่วนร่วมในความดี และการร่วมขอพรของบรรดามุสลิมทั้งหลาย และสตรีที่มีรอบเดือนนั้นควรจะออกห่างจากที่ทำละหมาด”


และที่ดีที่สุดนั้นการละหมาดอีดทั้งสองนั้นควรทำที่ “มุศ็อลลา” ยกเว้นที่นครมักกะฮฺ แต่อนุญาตให้ทำการละหมาดในมัสญิดได้ หรือในที่ใดก็ตาม ทั้งที่เป็นหมู่คณะหรือเพียงลำพัง และมีซุนนะฮ์สำหรับคนที่มาทำการละหมาดอีดไม่ทันอิมาม ให้เขาทำละหมาดอีดเองจนถึงเวลาดวงอาทิตย์คล้อยจึงหมดเวลา


วิธีละหมาดอีดทั้งสอง


วิธีการละหมาดอีดิลฟิฏริและอีดิลอัฎฮานั้น มีสองรอกอะฮ์โดยไม่ต้องมีการอะซานและการอิกอมะฮ์
จะเริ่มทำการละหมาดโดยกล่าวตักบีรหกครั้งก่อน ทำการอ่านไม่รวมการตักบีร่อตุลอิฮ์รอม และกล่าวตักบีรในรอกอะฮ์ที่สอง ห้าครั้งก่อนทำการอ่าน ไม่รวมการตักบีรกิยาม


ไม่ต้องเว้นระยะในระหว่างตักบีรและไม่ต้องยกมือทั้งสองข้าง นอกจากในการตักบีร่อตุลอิฮ์รอมเท่านั้น
และในทัศนะของชาฟีอีย์กับอะฮ์มัด ให้ตักบีรในร็อกอะฮ์แรก เจ็ดครั้ง ในร็อกอะฮ์ที่สอง ห้าครั้ง พร้อมเว้นช่วงระหว่างการตักบีรด้วยการกล่าวซิกรุลลอฮว่า : -


سبحان الله ، والحمد لله ، ولا إله إلا الله ، والله أكبر


“ซุบฮานัลลอฮฺฮิ , วัลฮัมดุลิลลาฮฺ , ว่าลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ , วัลลอฮุอักบัร”


พร้อมทั้งยกมือทั้งสองในทุกๆตักบีรด้วยเสียงดัง


ครั้นเมื่อเขาลืมตักบีร หรือลืมบางส่วน แล้วนึกได้ก่อนจะทำการรุกัวอฺให้ย้อนกลับมาทำและอ่านใหม่อีกหน พร้อมทำการสุญูดซะฮฺวีย์หลังจากให้สล่ามแล้ว


หากนึกขึ้นได้ หลังจากรุกั๊วอฺแล้วก็ปล่อยเลยไป แต่ให้ทำการสุญูดซะฮฺวีย์ก่อนให้สล่าม แม้จะลืมเพียงตักบีรครั้งเดียวดังที่เป็นทัศนะของมัซฮับ มาลีกีย์


และในทัศนะของมัซฮับ ชาฟีอีย์ ถ้าลืมหรือเจตนา ก็มิต้องทำสุญูดซะฮฺวีย์เพราะเป็นซุนนะฮ์ฮัยอ๊าต แล้วหลังจากการทำละหมาดเสร็จแล้ว ให้กล่าวสองคุฏบะฮ์


เวลาของการละหมาดอีดทั้งสอง


เวลาการทำละหมาดอีดทั้งสองนั้น เป็นเวลาเดียวกันกับเวลาที่อนุญาตให้ทำการละหมาดซุนนะฮ์ได้ คือเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นสูงประมานเท่าด้ามหอก (สิบสองคืบ) หรือประมาณ ยี่สิบนาทีตามดาราศาสตร์ หลังจากดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว เรื่อยไปจนถึงดวงอาทิตย์คล้อย จึงหมดเวลา


สิ่งที่ควรปฏิบัติในวันอีด


1- การรับประทานอาหารก่อนออกไปละหมาด อีดิลฟิฏริ ส่วนอีดิลอัฏฮานั้น ไม่ต้องรับประทาน เนื่องจากมีการรายงานของอนัสกล่าวว่า : -


كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لاَ يَغْدُو يَوْمَ الْفِطْرِ حَتَّى يَأْكُلَ تَمَرَاتٍ


“ท่านนะบี นั้น จะยังมิได้ออกไปในตอนเช้า วันอีดิลฟิฏริ จนกว่าว่าท่านจะรับประทานผลอินทผลัมหลายผล”


และอัลบุคอรีย์ รายงานต่อไปอีกเป็นการเสริมว่า :


’’ وَيَأْكُلُهُنَّ وِتْرًا ‘‘ “และท่านจะรับประทานผลอินทผลัมเหล่านั้นเป็นจำนวนคี่”


อิบนุ คุชัยมะฮ์ บอกว่า ฮะดีษนี้ต่อกัน


และในวันอีดิลอัฏฮาท่านจะไม่รับประทานก่อนทำการละหมาดอีด เพื่อที่ท่านจะได้รับประทานเนื้ออุฏฮียะฮ์ของท่าน หากท่านมีอุฏฮียะฮ์


2- การอาบน้ำล้างชำระร่างกายสำหรับวันอีดทั้งสอง พร้อมใส่เครื่องหอมและการแต่งตัวให้สวยงาม
3- การเชือดสัตว์พลีในวันอีดิลอัฏฮา เนื่องจากมีรายงานจากอัลฮะซัน บินอลี รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า : -


أَمَرَنَا رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي الْعِيدَيْنِ أَنْ نَلْبَسَ أَجْوَدَ مَا نَجِدُ , وَأَنْ نَتَطَيَّبَ بِأَجْوَدِ مَا نَجِدُ , وَأَنْ نُضَحِّيَ بِأَسْمَنِ مَا نَجِدُ , الْبَقَرَةُ عَنْ سَبْعَةٍ , وَالْجَزُورُ عَنْ عَشَرَةٍ , وَأَنْ نُظْهِرَ التَّكْبِيرَ وَالسَّكِينَةَ وَالْوَقَارَ


“ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ได้สั่งพวกเราในวันอีดทั้งสองให้เราสวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดที่เรามี ให้พวกเราใส่เครื่องหอมที่ดีที่สุดที่เรามี และให้พวกเราเชือดสัตว์พลีที่อ้วนที่สุดที่เรามีอยู่ วัวหนึ่งตัวได้เจ็ดส่วน(คน)และอูฐหนึ่งตัวได้สิบส่วน(คน)และให้พวกเราออกเสียงตักบีร(ด้วยเสียงดัง) ให้พวกเราสุขุมสงบเสงี่ยม”


ในทัศนะของมัซฮับ ชาฟีอีย์นั้น อูฐหนึ่งตัวได้เจ็ดส่วนเท่ากับวัว


4- ออกไปละหมาดอีดทางหนึ่งและย้อนกลับอีกทางหนึ่ง ดังที่มีรายงานของอบี ฮุรอยเราะฮ์ กล่าวว่า :


كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا خَرَجَ إِلَى الْعيد ر َجَعَ فِي غَيْرِ الطَّرِيقِ الَّذِي خَرَجَ فِيهِ


“ปรากฏว่าเมื่อท่านนะบี ออกไปละหมาดอีดนั้น ท่านจะกลับทางอื่นที่มิใช่เส้นทางตอนขาออก”


5- มีอยู่หลายรายงานระบุว่า บรรดาศ่อฮาบะฮฺ นั้น ได้กล่าวให้การอวยพรต่อกันในวันอีดว่า :


’’تقبل الله منا و منكم‘‘


“ขออัลลอฮทรงรับจากพวกเราและพวกท่าน”


6- ทำการกล่าวตักบีรในบรรดาวันอีดทั้งสองเนื่องจากมีคำตรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่า: -




“...และเพื่อพวกเจ้าได้ให้ครบถ้วน ซึ่งจำนวนวัน(ของเดือนรอมาฎอน)และเพื่อพวกเจ้าจะได้ให้ความเกรียงไกรแด่อัลลอฮ์ ในสิ่งที่พระองค์ทรงแนะนำแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ” (อัลบากอเราะฮ์ 185)


และคำตรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่า :
“เช่นนั้นแหละ เราได้ทำให้มันยอมจำนนต่อพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจักได้แซ่ซร้องสรรเสริญ อัลลอฮ์อย่างเกรียงไกร ต่อการที่พระองค์ทรง ชี้แนะแก่พวกเจ้า...” (อัลฮัจญ์ 37)


และการกล่าวตักบีรในวันอีดิลฟิฏริ เริ่มตั่งแต่เวลาออกไปละหมาด จนเริ่มถึงเวลาอ่านคุฏบะฮ์
ในทัศนะของมัซฮับ ชาฟีอีย์นั้นเริ่มตักบีรได้ไม่ต้องเกี่ยวกับอะไร
-ไม่ต้องผูกพันอยู่กับสภาพใด จะกระทำได้ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านพักอาศัย ในมัสญิด ในถนนหนทาง เริ่มในคืนวันอีดทั้งสองคือคืนวันดีดิลฟิฏริ และคืนวันอีดิลอัฎฮา


ส่วนที่มีการจำกัดเป็นเวลาหลังละหมาดฟัรฎูทุกเวลา ในวันอีดิลฟิฏริเริ่มตักบีรเช้าวันอีดไปจนจบที่เมื่ออิมามเข้าที่ละหมาด และในวันอีดิลอัฎฮาเริ่มแต่เช้าของวันอะรอฟะฮ์แล้วไปจบที่เวลาอัศริของวันที่สิบสามของเดือนซิลฮิจยะฮ์เป็นที่ทราบดีตามมัซฮับ ชาฟีอียฺ์


และในทัศนะของมัซฮับ มาลีกีย์ให้เริ่มหลังดุฮริของวันที่เชือด -วันนะฮัร- จนถึงวันที่สิบสามตอนเช้าของเดือนนั้น




تقبل الله منا و منكم

09 October 2011

สุนทรพจน์มหาเฎร์: บทบาทองค์ความรู้ในการเสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาค

แปลโดย อาจารย์มัสลัน มาหะมะ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงยิ่งในความกรุณา และผู้ทรงยิ่งในความปรานี
ขอความสันติสุข จงมีแด่ท่านทั้งหลาย
ก่อนอื่นผมใคร่ขอบคุณเป็นอย่างสูงต่อมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ที่ให้เกียรติแก่ผมรับปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีปัณฑิตกิตติมศักดิ์ในวันอันทรงเกียรตินี้
ประเทศไทยคือมิตรประเทศที่ใกล้ชิดกับประเทศมาเลเซียมากที่สุด มีความผูกพันฉันมิตรมาอย่างยาวนาน เราได้มีความร่วมมือด้วยดีเสมอมา ทั้งในระดับทวิภาคี ระดับอาเซียน หรือแม้กระทั่งในระดับนานาชาติ นับเป็นความสำเร็จที่เราต่างภาคภูมิใจ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพลเมืองนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่มาเลเซียมีพลเมืองที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนมาก แต่ความแตกต่างด้านศาสนาไม่เป็นอุปสรรคต่อสัมพันธภาพอันดีงามระหว่างเรา
ผมรู้สึกภูมิใจที่เห็นมุสลิมในประเทศไทยสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข การที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาแห่งนี้ ถือเป็นสิ่งยืนยันในความใจกว้างและการให้โอกาสอย่างทั่วถึงของรัฐบาลไทยที่มีต่อพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย และนี่คือความอิสระที่เราควรต้องตระหนักและให้ความสำคัญมาก
มนุษย์มักได้รับอิทธิพลจากอารมณ์และสติปัญญา โดยปกติแล้ว อารมณ์ ความรู้สึก จะชักจูงเราให้คล้อยตามความต้องการของเรา ในบางครั้ง หากความต้องการของเราไม่ได้รับการควบคุม อาจก่อให้เกิดความโกลาหล วุ่นวาย และเป็นบ่อเกิดแห่งความหายนะต่อตัวเราเอง
ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ (พระเจ้าที่ชาวมุสลิมนับถือ) จึงประทานสติปัญญาแก่มวลมนุษย์ เพื่อสามารถควบคุมและป้องปรามความรู้สึกมิให้กระทำการใดๆ ตามอำเภอใจ
ในขณะเดียวกัน มนุษย์สามารถใช้ปัญญาพิจารณาว่า การกระทำอันใดที่ก่อประโยชน์สูงสุด มีความเหมาะสมและปลอดภัยมากที่สุด และเพื่อให้การใช้สติปัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เราจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ ซึ่งความรู้ ณ ที่นี้ ไม่ได้จำกัดเพียงความรู้ด้านศาสนาเท่านั้น แต่ครอบคลุมศาสตร์อื่นๆ ที่สามารถประกันความสำเร็จและสันติสุขในชีวิต
ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบว่า ประเทศต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นคลังสมองและเปิดโอกาสให้ประชาชนศึกษาเรียนรู้และสร้างสังคมดุลยภาพ ไม่ถูกครอบงำโดยอารมณ์และความต้องการอันไร้ขอบเขต
ด้วยพื้นฐานองค์ความรู้ มนุษย์รู้จักวางแผนและกำหนดมาตรการต่างๆ ที่สร้างความดีงามแก่ตนเอง สังคมภูมิปัญญาและการเรียนรู้เป็นสังคมที่มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าสังคมที่ไร้การศึกษา ความรู้จึงมีบทบาทสำคัญในการจรรโลงความสำเร็จสู่สังคม
ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ถึงแม้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยอิสลาม แต่ไม่ได้หมายความว่า สถาบันแห่งนี้จะเปิดการเรียนการสอนด้านศาสนาเพียงด้านเดียว
ฐานทางศาสนามีความสำคัญในการกำกับดูแลมนุษย์มิให้ออกนอกลู่นอกทาง แต่ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยได้เปิดสาขาวิชาต่างๆ มากมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
ในฐานะมุสลิมเรามีหน้าที่สร้างหลักประกันการดำเนินชีวิตที่ดีงามทั้งบนโลกนี้และโลกอาคิเราะฮฺ (วันพิพากษา, โลกหน้า) เราไม่ลืมอาคิเราะฮฺ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ลืมโลกนี้เช่นกัน
เรามีความจำเป็นต้องดำเนินชีวิตบนโลกนี้อย่างมีความสุข และประสบผลสำเร็จสูงสุด ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับการจัดการวิธีการดำเนินชีวิตอย่างชาญฉลาดของเราเอง เราจะเป็นผู้กำหนดและผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่สร้างหลักประกันความผาสุกและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถครอบครองศาสตร์และองค์ความรู้เท่านั้น
ดังที่ได้เรียนแล้วว่า ปัจจุบันวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างรวดเร็วมาก และเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เราสามารถสื่อสารกับผู้คนทั่วโลกโดยใช้โทรศัพท์มือถือ เสมือนกับเราอยู่ใกล้ชิดกัน
นี่คือผลพวงของการพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ และยังมีศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อีกมากมาย
ข้อสำคัญ เราอย่าใช้องค์ความรู้เหล่านี้ไปในทางที่ผิด เพราะผู้ที่มีการศึกษา ใช่ว่าสามารถประยุกต์ใช้คำสอนที่ถูกต้องเสมอไป หลายคนที่ใช้องค์ความรู้เพื่อทำลายตัวเอง ครอบครัวและสังคม
ดังนั้น นอกจากการแสวงหาความรู้แล้ว เราจำเป็นต้องมีศาสนาคอยกำกับดูแลและสร้างมาตรฐานชีวิตที่สมบูรณ์ นี่คือหน้าที่ของเราในการนำองค์ความรู้เพื่อสรรค์สร้างสังคมที่ดี
หากทุกคนตระหนักว่า การพัฒนาสังคมและการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาที่ถูกต้องคือภารกิจหลักของเราแล้ว ผมเชื่อว่าสังคมมุสลิมเป็นสังคมสันติสุข ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม-อินชาอัลลอฮฺ (หากเป็นความประสงค์ของอัลลอฮฺ)
ในปัจจุบัน สังคมมุสลิมกำลังประสบปัญหาวิกฤติมากมาย หลายๆ ประเทศมุสลิมต้องเผชิญกับความเดือดร้อนวุ่นวาย ถูกกดขี่และไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างอิสระชน เพราะถูกกดดันจากฝ่ายที่ไม่หวังดี
ในประเทศไทยถึงแม้มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย แต่ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข แต่พึงระวังเราอย่าใช้องค์ความรู้ไปในทางที่ผิด ที่อาจสร้างความสูญเสียแก่สังคม ดังที่เกิดขึ้นในประเทศมุสลิมบางประเทศที่เกิดสงครามกลางเมือง และสู้รบในหมู่มุสลิมด้วยกันเอง ซึ่งตามทัศนะอิสลามแล้ว ถือเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะอิสลามสั่งห้ามมิให้ฆ่าบุคคลอื่นโดยมิชอบ ทั้งที่เป็นมุสลิมหรือชนต่างศาสนิก
การเข่นฆ่าชนต่างศาสนิกไม่ใช่เป็นหน้าที่ของเรา แต่สิ่งที่อิสลามเรียกร้องเชิญชวนคือใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกับชนอื่นๆ ท่ามกลางความแตกต่างทางความเชื่อ
อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ความว่า “ศาสนาของท่านเป็นศาสนาของท่าน และศาสนาของฉันคือศาสนาของฉัน” โองการนี้แสดงให้เห็นว่า เราไม่เป็นศัตรูกับผู้ใด และเราจะไม่ประกาศสงครามกับคนอื่น ยกเว้นในกรณีเราถูกรุกรานเท่านั้น
ปัจจุบันเราพบว่า มีมุสลิมจำนวนมากที่อาศัยอยู่ตามประเทศที่ปกครองโดยผู้นำที่ไม่ใช่มุสลิม มีมุสลิมราว 10 ล้านคน อาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กว่า 3 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมัน
ในขณะที่ในประเทศอังกฤษก็มีมุสลิมเป็นเรือนแสน ในฝรั่งเศสมีมุสลิมมากกว่า 5 ล้านคน ซึ่งชาวมุสลิมเหล่านี้ สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข เพราะพวกเขาใช้ความรู้ที่ถูกต้อง และปฏิบัติตามหลักศาสนบัญญัติที่สอดคล้องกับความสามารถของตนเอง
ซึ่งหากเราเป็นพลเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา เราก็ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักศาสบัญญัติได้อย่างสมบูรณ์ เพราะอาจขัดแย้งกับกฎหมายของประเทศ เช่นเดียวกันกับที่มาเลเซีย ซึ่งมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม 60% ในขณะที่อีก 40% ไม่ใช่มุสลิม เราจึงจำเป็นต้องมีความรอบคอบและเฝ้าระวังมิให้เหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นในประเทศของเรา
ขอขอบคุณอัลลอฮฺที่ถึงแม้เรามีทัศนคติที่แตกต่างกันบ้าง แต่โดยภาพรวมแล้ว เรายังสามารถยืนหยัดบนหลักการความยุติธรรม ตามเจตนารมณ์ของอิสลาม มาเลเซียจึงเป็นประเทศที่สงบสุข และท่ามกลางบรรยากาศอันสงบสุขนี้ เราสามารถพัฒนาประเทศอย่างเต็มศักยภาพ
นอกจากนี้เราสามารถมีบทบาทบนเวทีโลก เนื่องจากความมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและการปกครอง
ถึงแม้เรามีรัฐบาลที่ปกครองโดยชาวมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม แต่ด้วยพลังแห่งความร่วมมือจากทุกฝ่าย เราจึงสามารถสร้างประเทศที่มีความปรองดองและพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว และนี่คือผลพวงจากองค์ความรู้ของบรรดาผู้นำประเทศมาเลเซีย
ด้วยความรู้ ทำให้ผู้นำเหล่านี้สามารถแยกแยะสิ่งไหนควรทำและสิ่งไหนไม่ควรทำ เพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นในประเทศ มาเลเซียจึงปลอดภัยจากวิกฤติที่ร้ายแรง เพราะอัลลอฮฺทรงไม่ชอบคนที่สร้างความวุ่นวาย
เราควรพยายามหาแนวทางเพื่อสร้างหลักประกันให้เกิดสันติสุขในสังคม โดยให้ความสำคัญประเด็นศาสนา และนี่คือบทบาทของความรู้ที่ไม่ใช่นำพามนุษย์ให้จมปลักตามอารมณ์ของตนเองเท่านั้น
มนุษย์มีสติปัญญา จึงต่างกับสรรพสัตว์ทั้งหลายที่สามารถกระทำตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ ยามใดที่จนตรอก มันก็จะจู่โจมและทำร้ายโดยไม่ยั้งคิด แต่ด้วยอาศัยพลังแห่งปัญญาและความรู้ มนุษย์สามารถหาจุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง
เมื่อใดที่มนุษย์รับทราบถึงจุดอ่อนจุดแข็งของตนเองแล้ว เขาสามารถกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์และสร้างความปลอดภัยให้กับตนเอง แต่หากเราคล้อยตามอารมณ์หรือดำเนินการใดๆ ที่ไม่ก่อประโยชน์แก่ตนเอง เราก็จะประสบกับความวุ่นวายและความยากลำบากในชีวิต จนกระทั่งในบางครั้ง อาจทำให้ศาสนาของเราหม่นหมองไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงพยายามไขว่คว้าหาความรู้ ณ ทุกแห่งหน การแสวงหาความรู้จึงเป็นบทบัญญัติทางศาสนา อิสลามสั่งใช้ให้มนุษย์ “อ่าน” และเรียนรู้ เพราะเมื่อเราอ่าน เราก็สามารถเพิ่มพูนความรู้ ผู้ใดที่ไม่อ่านหนังสือ เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะมีความรู้ การอ่านจึงเป็นความพยายามที่กว้างขวางครอบคลุมทุกศาสตร์วิชา และเราต้องเรียนรู้ในทุกแขนงวิชา หากเราไม่รู้ เราจะเป็นคนปลายแถวทันที
ณ ที่นี่ ผมใคร่พูดถึงประวัติศาสตร์ของประชาชาติมุสลิม ซึ่งในยุคแรกของประวัติศาสตร์อิสลาม มุสลิมขวนขวายหาความรู้ด้วยความมุ่งมั่น พวกเขาเป็นผู้บุกเบิกศาสตร์ด้านต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์และปรัชญา พวกเขามีความเชี่ยวชาญภาษาอื่นๆ เช่น ภาษากรีก ฮินดู เพื่อใช้เป็นสื่อในการแสวงหาความรู้ พวกเขาจึงแตกฉานศาสตร์ต่างๆ และเผยแพร่ไปทั่วโลก
ในเมืองสำคัญของประเทศอิสลามในขณะนั้น จึงอุดมด้วยห้องสมุดและวิทยาการ แต่ในช่วงทศวรรษที่ 15 ได้มีแนวคิดว่า วิทยาศาสตร์และความรู้อื่นๆ ไม่มีประโยชน์อันใดต่อชีวิต การเรียนรู้ในศาสตร์เหล่านี้ ไม่มีผลบุญอันใดเลย ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ค่อยให้ความสนใจพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์มากนัก
ในขณะเดียวกันยุโรปขณะนั้นกำลังอยู่ในยุคมืด (The Dark Ages) ชาวยุโรปได้ศึกษาอารยธรรมอิสลาม และเห็นความก้าวหน้าทางวิชาการของโลกมุสลิม พวกเขาจึงศึกษาเรียนรู้ภาษาอาหรับ เพื่อเป็นสื่อในการแสวงหาความรู้ที่ปรากฏในประเทศอิสลาม
ในขณะเดียวกันชาวมุสลิมได้พร้อมใจหันหลังกับวิทยาการสมัยใหม่ แต่ชาวยุโรปกลับลุกขึ้นจากการหลับใหล หันมาสนใจศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ จนกระทั่งยุโรปสามารถสถาปนาอารยธรรมที่มั่นคงเข้มแข็งตราบจนปัจจุบัน ในขณะที่ชาวมุสลิมกลับถอยหลังเข้าคลอง พวกเขาไม่สามารถแม้กระทั่งปกป้องตนเอง
เราพบว่า ขณะนี้สภาพของมุสลิมประสบกับความตกต่ำแค่ไหน พวกเขาไม่สามารถลุกขึ้นปกป้องตนเอง นี่คือบทบาทองค์ความรู้ต่อการสร้างอารยธรรม หากเราไม่สามารถสรรค์สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ แสดงว่าเรากำลังเลือกเดินบนเส้นทางแห่งความถดถอย แต่หากเราเป็นสังคมภูมิปัญญา มีการศึกษาทั้งศาสตร์ศาสนา และศาสตร์การดำเนินชีวิต เราจะเป็นสังคมที่เจริญที่สามารถยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ ทัดเทียมกับอารยประเทศ
นี่คือเหตุผลที่เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เราอยากเห็นสังคมมุสลิมมีการพัฒนาเช่นเดียวกันกับสังคมอื่น เราไม่ตั้งใจที่จะประกาศสงครามกับชนต่างศาสนิก แต่เราควรแข่งขันกับเพื่อนมนุษย์บนโลกนี้ในทุกด้าน ทั้งด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิชาการ
เราไม่เพียงแต่ไขว่คว้าความรู้ที่มาจากข้างนอก แต่เราต้องคิดค้นสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ ขอให้ท่านมั่นใจว่า ด้วยวิธีการนี้เท่านั้น ทำให้เราเป็นสังคมที่พัฒนา ไม่ว่าจะเป็นสังคมมุสลิมหรือไม่ก็ตาม
ผมขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง ที่ให้โอกาสแก่ผมพูดคุยกับนิสิตนักศึกษา บรรดาผู้นำและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายในวันอันทรงเกียรตินี้
ผมเชื่อเหลือเกินว่า มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาเป็นสถาบันที่เปิดโอกาสให้บรรดาเยาวชนใฝ่หาเรียนรู้วิชาและศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่จำกัดเฉพาะศาสตร์ด้านศาสนาเท่านั้น แต่ศาสตร์อื่นๆ ที่จำเป็นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
ผมเชื่อมั่นว่า หากเราสามารถแสวงหาความรู้อย่างเท่าเทียมกันแล้ว เราสามารถยืนหยัดบนโลกนี้ท่ามกลางภาวะการแข่งขันในปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ
ผมขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาแห่งนี้ โดยเฉพาะประเทศที่ให้การสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัยโดยตลอด อาทิ ประเทศกาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต เป็นต้น
ผมเชื่อว่าการสนับสนุนในลักษณะนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่มุสลิมที่พึงปฏิบัติต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกัน เพื่อสามารถอยู่ร่วมกับทุกสังคมในโลกนี้ได้อย่างสันติสุข
ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาอีกครั้งหนึ่ง ที่มอบปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในวันนี้ และหวังว่าผมคงสามารถให้การสนับสนุนสถาบันแห่งนี้เท่ากำลังความสามารถของผม และผมขอดุอาให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นของผู้บริหารและคณาจารย์ตลอดจนความตั้งใจเรียนของบรรดานักศึกษาผู้โชคดีทั้งหลายที่สามารถเก็บเกี่ยวความรู้ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้