13 October 2011

การละหมาดอีด

การละหมาดอีดทั้งสองนั้นเป็นซุนนะฮ์ที่มีน้ำหนักมาก(มุอักกะดะฮ์)ในส่วนของสุภาพบุรุษที่อายุถึงเกณฑ์ศาสนภาวะ แล้วอยู่ประจำที่ และส่งเสริมให้กระทำสำหรับบรรดาเด็กๆและสุภาพสตรี บ่าว ทาส ตลอดจนคนเดินทาง


มีบางทัศนะบอกว่า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ ไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่แถบหมู่บ้านเล็กๆนอกเมือง


แท้จริงแล้ว ท่านนะบี ใช้ให้ออกไปรวมกันและได้ส่งเสริมเอาไว้ในฮะดีษของอุมมุ อฏียะฮ์ที่นางได้กล่าวว่า :


’’ أمرنا ( تعني النبي صلى الله عليه وسلم ) أن نخرج في العيدين العواتق والحيض ، يشهدن الخير و دعوة المسلمين ، ويعتزل الحيض المصلى ‘‘


“ท่าน(หมายถึงนะบี )ได้ใช้ให้พวกเราพาเด็กๆและหญิงที่มีรอบเดือนไปร่วมละหมาดอีดกันทั้งสองอีด เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้มีส่วนร่วมในความดี และการร่วมขอพรของบรรดามุสลิมทั้งหลาย และสตรีที่มีรอบเดือนนั้นควรจะออกห่างจากที่ทำละหมาด”


และที่ดีที่สุดนั้นการละหมาดอีดทั้งสองนั้นควรทำที่ “มุศ็อลลา” ยกเว้นที่นครมักกะฮฺ แต่อนุญาตให้ทำการละหมาดในมัสญิดได้ หรือในที่ใดก็ตาม ทั้งที่เป็นหมู่คณะหรือเพียงลำพัง และมีซุนนะฮ์สำหรับคนที่มาทำการละหมาดอีดไม่ทันอิมาม ให้เขาทำละหมาดอีดเองจนถึงเวลาดวงอาทิตย์คล้อยจึงหมดเวลา


วิธีละหมาดอีดทั้งสอง


วิธีการละหมาดอีดิลฟิฏริและอีดิลอัฎฮานั้น มีสองรอกอะฮ์โดยไม่ต้องมีการอะซานและการอิกอมะฮ์
จะเริ่มทำการละหมาดโดยกล่าวตักบีรหกครั้งก่อน ทำการอ่านไม่รวมการตักบีร่อตุลอิฮ์รอม และกล่าวตักบีรในรอกอะฮ์ที่สอง ห้าครั้งก่อนทำการอ่าน ไม่รวมการตักบีรกิยาม


ไม่ต้องเว้นระยะในระหว่างตักบีรและไม่ต้องยกมือทั้งสองข้าง นอกจากในการตักบีร่อตุลอิฮ์รอมเท่านั้น
และในทัศนะของชาฟีอีย์กับอะฮ์มัด ให้ตักบีรในร็อกอะฮ์แรก เจ็ดครั้ง ในร็อกอะฮ์ที่สอง ห้าครั้ง พร้อมเว้นช่วงระหว่างการตักบีรด้วยการกล่าวซิกรุลลอฮว่า : -


سبحان الله ، والحمد لله ، ولا إله إلا الله ، والله أكبر


“ซุบฮานัลลอฮฺฮิ , วัลฮัมดุลิลลาฮฺ , ว่าลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ , วัลลอฮุอักบัร”


พร้อมทั้งยกมือทั้งสองในทุกๆตักบีรด้วยเสียงดัง


ครั้นเมื่อเขาลืมตักบีร หรือลืมบางส่วน แล้วนึกได้ก่อนจะทำการรุกัวอฺให้ย้อนกลับมาทำและอ่านใหม่อีกหน พร้อมทำการสุญูดซะฮฺวีย์หลังจากให้สล่ามแล้ว


หากนึกขึ้นได้ หลังจากรุกั๊วอฺแล้วก็ปล่อยเลยไป แต่ให้ทำการสุญูดซะฮฺวีย์ก่อนให้สล่าม แม้จะลืมเพียงตักบีรครั้งเดียวดังที่เป็นทัศนะของมัซฮับ มาลีกีย์


และในทัศนะของมัซฮับ ชาฟีอีย์ ถ้าลืมหรือเจตนา ก็มิต้องทำสุญูดซะฮฺวีย์เพราะเป็นซุนนะฮ์ฮัยอ๊าต แล้วหลังจากการทำละหมาดเสร็จแล้ว ให้กล่าวสองคุฏบะฮ์


เวลาของการละหมาดอีดทั้งสอง


เวลาการทำละหมาดอีดทั้งสองนั้น เป็นเวลาเดียวกันกับเวลาที่อนุญาตให้ทำการละหมาดซุนนะฮ์ได้ คือเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นสูงประมานเท่าด้ามหอก (สิบสองคืบ) หรือประมาณ ยี่สิบนาทีตามดาราศาสตร์ หลังจากดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว เรื่อยไปจนถึงดวงอาทิตย์คล้อย จึงหมดเวลา


สิ่งที่ควรปฏิบัติในวันอีด


1- การรับประทานอาหารก่อนออกไปละหมาด อีดิลฟิฏริ ส่วนอีดิลอัฏฮานั้น ไม่ต้องรับประทาน เนื่องจากมีการรายงานของอนัสกล่าวว่า : -


كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لاَ يَغْدُو يَوْمَ الْفِطْرِ حَتَّى يَأْكُلَ تَمَرَاتٍ


“ท่านนะบี นั้น จะยังมิได้ออกไปในตอนเช้า วันอีดิลฟิฏริ จนกว่าว่าท่านจะรับประทานผลอินทผลัมหลายผล”


และอัลบุคอรีย์ รายงานต่อไปอีกเป็นการเสริมว่า :


’’ وَيَأْكُلُهُنَّ وِتْرًا ‘‘ “และท่านจะรับประทานผลอินทผลัมเหล่านั้นเป็นจำนวนคี่”


อิบนุ คุชัยมะฮ์ บอกว่า ฮะดีษนี้ต่อกัน


และในวันอีดิลอัฏฮาท่านจะไม่รับประทานก่อนทำการละหมาดอีด เพื่อที่ท่านจะได้รับประทานเนื้ออุฏฮียะฮ์ของท่าน หากท่านมีอุฏฮียะฮ์


2- การอาบน้ำล้างชำระร่างกายสำหรับวันอีดทั้งสอง พร้อมใส่เครื่องหอมและการแต่งตัวให้สวยงาม
3- การเชือดสัตว์พลีในวันอีดิลอัฏฮา เนื่องจากมีรายงานจากอัลฮะซัน บินอลี รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า : -


أَمَرَنَا رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي الْعِيدَيْنِ أَنْ نَلْبَسَ أَجْوَدَ مَا نَجِدُ , وَأَنْ نَتَطَيَّبَ بِأَجْوَدِ مَا نَجِدُ , وَأَنْ نُضَحِّيَ بِأَسْمَنِ مَا نَجِدُ , الْبَقَرَةُ عَنْ سَبْعَةٍ , وَالْجَزُورُ عَنْ عَشَرَةٍ , وَأَنْ نُظْهِرَ التَّكْبِيرَ وَالسَّكِينَةَ وَالْوَقَارَ


“ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ได้สั่งพวกเราในวันอีดทั้งสองให้เราสวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดที่เรามี ให้พวกเราใส่เครื่องหอมที่ดีที่สุดที่เรามี และให้พวกเราเชือดสัตว์พลีที่อ้วนที่สุดที่เรามีอยู่ วัวหนึ่งตัวได้เจ็ดส่วน(คน)และอูฐหนึ่งตัวได้สิบส่วน(คน)และให้พวกเราออกเสียงตักบีร(ด้วยเสียงดัง) ให้พวกเราสุขุมสงบเสงี่ยม”


ในทัศนะของมัซฮับ ชาฟีอีย์นั้น อูฐหนึ่งตัวได้เจ็ดส่วนเท่ากับวัว


4- ออกไปละหมาดอีดทางหนึ่งและย้อนกลับอีกทางหนึ่ง ดังที่มีรายงานของอบี ฮุรอยเราะฮ์ กล่าวว่า :


كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا خَرَجَ إِلَى الْعيد ر َجَعَ فِي غَيْرِ الطَّرِيقِ الَّذِي خَرَجَ فِيهِ


“ปรากฏว่าเมื่อท่านนะบี ออกไปละหมาดอีดนั้น ท่านจะกลับทางอื่นที่มิใช่เส้นทางตอนขาออก”


5- มีอยู่หลายรายงานระบุว่า บรรดาศ่อฮาบะฮฺ นั้น ได้กล่าวให้การอวยพรต่อกันในวันอีดว่า :


’’تقبل الله منا و منكم‘‘


“ขออัลลอฮทรงรับจากพวกเราและพวกท่าน”


6- ทำการกล่าวตักบีรในบรรดาวันอีดทั้งสองเนื่องจากมีคำตรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่า: -




“...และเพื่อพวกเจ้าได้ให้ครบถ้วน ซึ่งจำนวนวัน(ของเดือนรอมาฎอน)และเพื่อพวกเจ้าจะได้ให้ความเกรียงไกรแด่อัลลอฮ์ ในสิ่งที่พระองค์ทรงแนะนำแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ” (อัลบากอเราะฮ์ 185)


และคำตรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่า :
“เช่นนั้นแหละ เราได้ทำให้มันยอมจำนนต่อพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจักได้แซ่ซร้องสรรเสริญ อัลลอฮ์อย่างเกรียงไกร ต่อการที่พระองค์ทรง ชี้แนะแก่พวกเจ้า...” (อัลฮัจญ์ 37)


และการกล่าวตักบีรในวันอีดิลฟิฏริ เริ่มตั่งแต่เวลาออกไปละหมาด จนเริ่มถึงเวลาอ่านคุฏบะฮ์
ในทัศนะของมัซฮับ ชาฟีอีย์นั้นเริ่มตักบีรได้ไม่ต้องเกี่ยวกับอะไร
-ไม่ต้องผูกพันอยู่กับสภาพใด จะกระทำได้ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านพักอาศัย ในมัสญิด ในถนนหนทาง เริ่มในคืนวันอีดทั้งสองคือคืนวันดีดิลฟิฏริ และคืนวันอีดิลอัฎฮา


ส่วนที่มีการจำกัดเป็นเวลาหลังละหมาดฟัรฎูทุกเวลา ในวันอีดิลฟิฏริเริ่มตักบีรเช้าวันอีดไปจนจบที่เมื่ออิมามเข้าที่ละหมาด และในวันอีดิลอัฎฮาเริ่มแต่เช้าของวันอะรอฟะฮ์แล้วไปจบที่เวลาอัศริของวันที่สิบสามของเดือนซิลฮิจยะฮ์เป็นที่ทราบดีตามมัซฮับ ชาฟีอียฺ์


และในทัศนะของมัซฮับ มาลีกีย์ให้เริ่มหลังดุฮริของวันที่เชือด -วันนะฮัร- จนถึงวันที่สิบสามตอนเช้าของเดือนนั้น




تقبل الله منا و منكم

No comments:

Post a Comment

ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda