12 May 2011

เรื่องไพร่ ๆ จากนายรุจ ถึงนายดอน

สวัสดี ดอนเพื่อนรัก อย่างที่นายรู้ดี คำว่า "ไพร่" ที่คนเสื้อแดงเขานำเสนอขึ้นมา มันไม่ได้แทน "ความแตกต่างทางเศรษฐกิจ" ของผู้คนในสังคมหรอกนะ เราไม่คิดว่าจะมีใครบ้องตื้นพอที่จะลุกขึ้นมายอมโดนยิงตายข้างถนน เพียงต้องการเรียกร้องให้ทุกคนในประเทศนี้ร่ำรวยล้นฟ้าจนติดอันดับนิตยสารฟอร์บส อย่างเท่ากันหมด เหมือนกันหมด – เราเชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะรวยเท่ากัน "ไพร่" ที่เขายกมานั้น มันแทน "ความไม่เท่าเทียมทางการเมือง" และ "ความไม่เท่ากันของคุณค่าชีวิต" ต่างหาก ความไม่เท่ากันการเมืองที่เขาพูดถึงคือ "สิทธิ" ในการปกครองตนเอง สิทธิในการเลือกคนมาปกครอง สิทธิที่จะ "รัก" หรือ "ไม่รัก" ใคร โดยไม่ถูกบังคับขืนใจ เขาเลือกใครมาปกครองก็อย่าไปใช้แท็คติก "ล้ม" คนที่เขาเลือกมา ถ้าคนที่เขาเลือกมาจะผิด จะเลว จะชั่ว เขาก็ขอให้ว่ากันไปตามหลักการและหลักฐาน ไม่ใช่ชกใต้เข็มขัดซ้ำแล้วซ้ำอีก "ความเท่ากันทางการเมือง" ที่ไพร่เรียกร้อง ยังหมายถึง "การไม่เล่นเส้น" อีกด้วย เพราะการเล่นเส้นเป็นรากเหง้าของ "อิทธิพลนอกระบบ" ที่กระจายอยู่ในประเทศนี้ตั้งแต่ระดับเด็กประถมถึงผู้แทนในรัฐสภา ตราบใดที่เรายังต้อง "มีเส้น" กับใครสักคน และจำเป็นจะต้องใช้เส้นเหล่านั้นเหนือ "ระบบ" และ "กฏกติกา" ที่มองเห็นกันได้ในที่แจ้ง เราก็คงไม่สามารถเจริญไปไหนได้ไกล ไม่สามารถเป็นสังคม "ศิวิไลซ์" และไม่สามารถ "พึ่งตนเอง" ได้จริงๆเสียทีหรอก ไพร่ น่ะไม่เคยมีเส้น ส่วน อำมาตย์ น่ะมีเส้นเสมอ ความไม่เท่ากันทางการเมืองของไพร่ ยังหมายถึง "เสียง" ที่ควรจะดังเท่ากันในสังคม เพราะไม่ว่าจะรวยหรือจน จะสูงหรือต่ำ คนเราก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น เราจะเท่าเทียมกันได้อย่างไรถ้าเสียงของคนชั้นกลางในเมือง "ดัง" กว่าเสียงของคนชายขอบเสมอ – คนชั้นกลางกรี๊ดกร๊าดเรื่องสาวสงกรานต์เปิดนมไม่กี่วัน รัฐก็ออกมาจัดการอย่างกระฉับกระเฉง ส่วนชาวบ้านมาชุมนุมขอให้ยุบสภา กลับถูกด่าว่าโง่ ถูกหลอก แล้วเอากระสุนไปยิงหัวเขาเสียเกือบร้อยศพ นอกจากนั้น "ไพร่" ยังหมายถึงความต่ำต้อยด้อยกว่าของ "คุณค่าชีวิตคน" เพราะถ้าเรา "เห็นคนเท่ากัน" เราก็จะไม่ "โอเค" กับการยอมให้ใครสักคนโดนฆ่าตายด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่ไม่เหมือนเราเด็ดขาด เว้นเสียแต่ว่าเราเห็นคนเหล่านั้น "ไม่เท่ากับเรา" เพราะเขาเป็นคนอื่น เพราะเขาเป็นคนนอก เพราะเขาไม่ใช่เพื่อน พี่ น้อง ญาติ เจ้านาย ลูกค้า ของเรา – เราจะไปแคร์เขาทำไม จะตายก็ตายไปสิ เราเข้าใจดีว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาต่างกัน บางคนเก่ง บางคนโง่ บางคนฉลาด บางคนช้า บางคนเร็ว – เราเข้าใจด้วยว่าธรรมชาติสังคมมนุษย์มันไม่ใช่ยูโทเปีย มันไม่ได้เป็นสังคมอุดมคติ มันต้องมีระดับชั้นของคนแน่ๆ – แต่สิ่งที่คำว่า "ไพร่" เรียกร้องคือความเท่ากันในทางการเมือง ความเท่ากันทาง "สิทธิพื้นฐาน" และ "เสรีภาพเบื้องต้น" หรือถ้าจะให้พูดในเชิงเศรษฐกิจ (เพราะอาจจะเข้าใจง่ายกว่าสำหรับเหล่าคนกรุงเทพ) เหล่า "ไพร่" ต้องการเรียกร้อง​ "โอกาส" ที่จะทำมาหากินอย่างเท่าเทียมด้วยตนเอง ไม่ได้เรียกร้องให้ทุกคนรวยเท่ากัน เพราะเขาทราบดีว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ ขอเพียงแค่ใครเก่งกว่าก็รวยกว่า ใครทุ่มเททำงานมากกว่าก็ไปได้ดีกว่า ไม่ใช่ดูกันที่เส้นสาย ชาติกำเนิด หรือนามสกุล ดอน – นายคิดเหมือนเราไหมว่าประเด็นนี้มันสะท้อนความจริงที่น่าเศร้าใจอีกอย่างนึง ดูเหมือนคนชั้นกลางในกรุงเทพ จะมีความเข้าใจต่อ "หลักการ" ของสังคม "ศิวิไลซ์" อย่างตื้นเขินจนน่าใจหาย ทั้งที่หลักการที่คำว่า "ไพร่" ชูขึ้นมานั้น มันเป็นประโยชน์กับคนชั้นกลางและลูกหลานของพวกเขาโดยตรงเลยนะ การที่คนชั้นกลางต้องใช้ชีวิตในสังคมเมืองร่วมกับคนชั้นสูง (ในขณะที่คนชั้นล่างเขาไม่กล้าแม้แต่จะคิด) ทั้งที่ตัวเองไม่มีเงิน ไม่มีเส้น ไม่มีปืน นั้น สิ่งเดียวที่จะช่วยการันตี "สิทธิ" ที่คนชั้นกลางพึงมีก็คือหลักแห่งความเท่าเทียม ดังนั้นการที่คนชั้นกลางยังไม่ตื่นรู้กันเสียทีว่า "หลักการแห่งความเท่าเทียม" คือพลังเพียงอย่างเดียวที่ตนเองพึงจะมีได้นั้นมันช่างน่าเศร้า เพราะมันแปลว่าพวกเขายังยินดีที่เห็นลูกหลานตนเองวิ่งแข่งไต่บันไดกันอยู่ต่อไปไม่จบสิ้น ดอนเพื่อนรัก เราอยู่ในสังคมที่มีคนรวย คนจนได้ เราอยู่ในสังคมที่มีคนเก่ง คนไม่เก่งได้ เราอยู่ในสังคมที่มีคนขยัน คนขี้เกียจได้ เราอยู่ในสังคมที่มีคนฉลาด คนโง่ได้ แต่เราอยู่ในสังคมที่ "โอกาส" เติบโตของคนไม่เท่ากันไม่ได้ เราอยู่ในสังคมที่ "สิทธิ" และ "เสรีภาพ" ของคนมีไม่เท่ากันไม่ได้ เราอยู่ในสังคมที่ "คุณค่า" ชีวิตของคนแตกต่างกันไม่ได้ เพราะคนจน คนไม่เก่ง คนขี้เกียจ คนโง่ ย่อมอยากได้ "โอกาส" ที่เปิดกว้างสำหรับวันพรุ่งนี้ พวกเขาก็ล้วนเป็น "คน" ที่สมควรได้รับสิทธิพื้นฐานของมนุษย์เหมือนเราทุกคน และที่สำคัญ เราไม่อยากให้ลูกหลานของเราต้องวิ่งไต่บันไดเหมือนพวกเราไปตลอดกาล เราไม่รู้ว่าเขาจะสอนเรื่องนี้ให้นายไหมที่อ็อกซ์ฟอร์ด แต่เราหวังว่านายจะเข้าใจเรื่องนี้บ้างไม่มากก็น้อยนะเพื่อน เราเอง อ่านฉบับเต็ม ๆ ได้ที่นี่