18 March 2012

การแต่งงาน

มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์
หนังสือมุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮิล อิสลามีย์

ความเข้าใจว่าด้วยการสมรส
การแต่งงานและการมีครอบครัวเป็นวิถีทางหนึ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดแก่สรรพสิ่งที่พระองค์สร้างขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่ครอบคลุมทั้งสรรพสัตว์และพืชพรรณต่างๆ ด้วย
สำหรับมนุษย์นั้นอัลลอฮฺได้สร้างขึ้นมาแตกต่างจากสรรพสิ่งอื่นๆ ที่ไม่มีขอบเขตด้านการสนองความใคร่โดยสิ้นเชิง และอัลลอฮฺนั้นได้วางกรอบแนวทางและกฎระเบียบที่ชัดเจนเหมาะสมกับการเป็นสัตว์ประเสริฐ เพื่อที่จะรักษาชื่อเสียงเกียรติยศและวงศ์ตะกูลของมนุษย์เอง สิ่งเหล่านี้ย่อมจะรักษาได้ก็ต่อเมื่อมีการแต่งงานที่ถูกต้อง และการแต่งงานนั้นย่อมก่อให้เกิดความสัมพันธ์กันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงที่มีเกียรติ บนฐานแห่งความพอใจระหว่างกัน การให้และการรับ และมีความรักใคร่ซึ่งกันและกัน
การแต่งงานเป็นการสนองต่ออารมณ์ด้วยทางที่ถูกต้อง และเพื่อที่จะรักษาเชื้อสายวงศ์ตระกูลให้สามารถดำรงสืบสานต่อไปได้ และปกป้องสตรีเพศจากการเป็นเหยื่อถูกกระทำจากใครก็ตามที่ประสงค์ไม่ดีกับนาง
ความประเสริฐของการแต่งงาน
การแต่งงานนั้นเป็นแบบอย่างที่ได้รับการสนับสนุนอย่างที่สุดของบรรดาศาสนทูต และเป็นแนวทางที่รอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ส่งเสริมมากยิ่งนัก ดังที่ได้ระบุในอายะฮฺและหะดีษดังต่อไปนี้
1. อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
ความว่า "ประการหนึ่งจากสัญลักษณ์ทั้งหลายของพระองค์นั้น คือ ทรงสร้างคู่ครองให้พวกเจ้าให้แก่ตัวของพวกเจ้าเอง เพื่อพวกเจ้านั้นจะได้มีความสุขอยู่ด้วยกัน และได้ทรงให้มีความรักใคร่และเมตตาระหว่างกัน แท้จริงแล้วในกรณีนี้ ย่อมเป็นสัญญาณให้แก่หมู่ชนผู้ใคร่ครวญทั้งหลาย" (อัรรูม 21)
2. อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
ความว่า “และโดยแน่นอน เราได้ส่งบรรดาศาสนทูตมาก่อนหน้าเจ้า และเราได้ให้พวกเขามีภริยาและลูกหลาน ...” ( อัรเราะอฺดุ 38)

3. จากท่านอิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า พวกเราเป็นเด็กหนุ่มที่อยู่กับท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเราไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย(เพื่อสร้างครอบครัว) ท่านจึงได้กล่าวกับเราว่า
«يَا مَعْشَرَ الشَّبَابِ، مَنِ اسْتَطَاعَ البَاءَةَ فَلْيَتَزَوَّجْ، فَإنَّـهُ أَغَضُّ لِلْبَصَرِ، وَأَحْصَنُ لِلْفَرْجِ، وَمَنْ لَـمْ يَسْتَطِعْ فَعَلَيْـهِ بِالصَّوْمِ فَإنَّـهُ لَـهُ وِجَاءٌ». متفق عليه.
ความว่า "โอ้บรรดาชายหนุ่มทั้งหลาย ผู้ใดในหมู่พวกเจ้านี้มีความสามารถ(ในการครองคู่) ก็จงแต่งงานเถิด เพราะแท้จริงนั้น(การแต่งงาน)เป็นการลดสายตาให้ต่ำลงได้ อีกทั้งให้พวกเจ้าสามารถสงวนอวัยวะเพศได้ และผู้ใดที่ไม่มีความสามารถก็จงถือศีลอดเสียเถิด เพราะการถือศีลอดเป็นการลดอารมณ์เพื่อให้ทุเลาลง" ( บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 5066 และมุสลิม 1400)

ความหมายการแต่งงาน
การแต่งงาน (นิกาห์ หรือ ซะวาญจ์) นั้นคือ พันธะสัญญาตามหลักศาสนา ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ฝ่ายชายและหญิงนั้นสามารถหาความสุขซึ่งกันและกันจากคู่ครองของเขาได้
การบัญญัติให้มีการแต่งงาน
1. การแต่งงานเป็นบรรยากาศที่ดีซึ่งนำไปสู่การสร้างรากฐานและความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เข้มแข็ง เป็นการทำให้จิตใจบริสุทธิ์จากพฤติกรรมเสื่อมทราม ก่อให้เกิดความสงบสุข เนื่องจากความรักใคร่ที่เกิดขึ้นระหว่างสามีภรรยา
2. การแต่งงานเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการให้กำเนิดลูกและบุตรหลาน และเพื่อสืบสานวงศ์ตระกูลต่อไป ซึ่งจะก่อให้เกิดการทำความรู้จักกัน สัมพันธไมตรี การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
3. การแต่งงานเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสนองต่อความต้องการทางเพศและขจัดอารมณ์ใคร่ และให้ปราศจากโรคภัยต่างๆ
4. การแต่งงานสามารถที่จะสร้างครอบครัวที่ดีอันเป็นฐานที่เข้มแข็งสำหรับสังคมได้ ต่างคนก็ต่างมีหน้าที่กัน สามีก็ทำหน้าที่ในการหาเลี้ยงชีพ รับภาระค่าใช้จ่ายและเลี้ยงดู ส่วนภรรยาก็ทำหน้าที่อบรมบ่มนิสัยเลี้ยงดูลูกๆ คอยจัดระเบียบสิ่งของต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านให้เรียบร้อย และวางระเบียบให้กับชีวิตในบ้าน ด้วยสิ่งนี้จะทำให้ชีวิตในสังคมเกิดความมั่นคง
5. การแต่งงานนั้นได้ตอบสนองความต้องการของการเป็นพ่อแม่ ซึ่งเกิดได้จากการที่มีลูกๆ ให้เลี้ยงดู

ข้อตัดสินของการแต่งงาน
1. การแต่งงานเป็นสุนัต (ส่งเสริมให้กระทำ) สำหรับผู้ที่มีความต้องการทางเพศและไม่วิตกกังวลถึงตัวเองว่าจะไปซินา(ประพฤตผิดทางเพศ) เนื่องจากการแต่งงานนั้นมีคุณค่าและประโยชน์มหาศาล สำหรับชายและหญิง และสำหรับปวงชนทั้งหลาย
2. การแต่งงานเป็นวาญิบ (สิ่งจำเป็น) สำหรับผู้ที่กลัวว่าตนเองจะตกอยู่ในภาวะการซินาหรือประพฤติผิดทางเพศถ้าเขาไม่ได้แต่งงาน และเป็นสิ่งที่สมควรสำหรับสองสามีภรรยาที่จะต้องตั้งเจตนาในการแต่งงานของเขาทั้งสองนั้นว่าเพื่อสร้างความบริสุทธิ์ใจแก่ตัวเองและเพื่อป้องกันตัวจากการกระทำสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺได้ห้ามไว้ เมื่อตั้งเจตนาดังกล่าวแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ของทั้งสองก็จะถูกบันทึกว่าเป็นเศาะดะเกาะฮฺประการหนึ่ง

การเลือกภรรยา
เป็นสิ่งที่สุนัตสำหรับผู้ที่ต้องการจะแต่งงาน ให้เลือกผู้หญิงที่มีนิสัยรักใคร่สามี และสามารถให้บุตรได้หลายคน เป็นผู้ที่บริสุทธิ์จากมลทิน มีศาสนาอยู่ในตัว
จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้รายงานว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า
«تُنْكَحُ المَرْأَةُ لأَرْبَـعٍ: لِـمَالِـهَا، وَلِـحَسَبِـهَا، وَجَـمَالِـهَا، وَلِدِينِـهَا، فَاظْفَرْ بِذَاتِ الدِّينِ تَرِبَتْ يَدَاكَ». متفق عليه.
ความว่า "ผู้หญิงนั้นจะถูกแต่งงานเนื่องด้วยสาเหตุสี่ประการ คือ เนื่องจากทรัพย์สินของนาง หรือเนื่องจากวงศ์ตระกูลของนาง หรือเนื่องจากความสวยงามของนาง หรือเนื่องจากศาสนาของนาง ดังนั้นจงเลือกแต่งงานกับสตรีที่มีศาสนาอยู่ในตัว แล้วสองมือท่านก็จะมีโชค" (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 5090 และ มุสลิม 1466)

ผู้หญิงที่ดีที่สุด
ผู้หญิงที่ดีที่สุดนั้น คือ หญิงที่ศอลิหะฮฺ(สตรีที่มีคุณธรรม) ในยามที่ท่านมองไปยังนางแล้วท่านจงมีความสุข เมื่อท่านให้คำสั่งแก่นางแล้วนางก็จะปฏิบัติตาม และนางจะไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ท่านไม่พอใจ ไม่ว่าด้วยเรื่องของนางเอง หรือในเรื่องของทรัพย์สินของท่าน นางจะปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺสั่งและหลีกเลี่ยงในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม
จากอับดุลลอฮฺ บิน อัมร์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา เล่าว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
«الدُّنْيَا مَتَاعٌ وَخَيْرُ مَتَاعِ الدُّنْيَا المَرْأَةُ الصَّالِـحَةُ». أخرجه مسلم.
ความว่า "โลกนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ให้ความสุข และสิ่งที่ให้ความสุขที่ประเสริฐที่สุดในโลกก็คือผู้หญิงที่ดี" (บันทึกโดย มุสลิม 1467)

การบัญญัติอนุญาตให้มีภรรยาหลายคน
1. พระองค์อัลลอฮฺ ได้อนุญาตให้ผู้ชายมีสิทธิแต่งงานกับผู้หญิงได้ไม่เกินสี่คน โดยมีเงื่อนไขว่า ชายผู้นั้นมีคุณสมบัติความสามารถทางด้านร่างกาย และความพร้อมด้านทรัพย์สินเงินทอง รวมทั้งต้องมีความสามารถที่จะให้ความยุติธรรมในระหว่างภรรยา การอนุญาตเช่นนี้เนื่องจากว่าจะทำให้เขาได้ปกป้องตัวเองจากการประพฤติที่เสื่อมทราม(จากการผิดประเวณี) และเป็นการรักษาความบริสุทธิ์ของหญิงที่เขาแต่งงานด้วย(ไม่ให้พวกนางต้องประพฤติผิดด้วยการซินา) เป็นการทำความดีแก่พวกนาง เพื่อจะได้มีการสืบวงศ์ตระกูลและเป็นการเพิ่มประชากรให้มากขึ้นและเพิ่มจำนวนบ่าวที่จะทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺอีกด้วย
แต่ถ้าคิดว่าจะไม่ยุติธรรมระหว่างพวกนาง ก็ต้องมีภรรยาเพียงคนเดียว หรือไม่ก็อนุญาตให้แต่งกับทาสหญิงผู้ศรัทธาที่เขาครอบครองอยู่ และเขาไม่จำเป็นต้องแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกันระหว่างทาสีที่เขาครอบครอง
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
ความว่า "และหากพวกเจ้าเกรงว่าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมในบรรดาเด็กกำพร้าได้ ก็จงแต่งงานกับผู้ที่ดีแก่พวกเจ้าในหมู่สตรี สองคนหรือสามคน หรือสี่คน แต่ถ้าพวกเจ้าเกรงว่าพวกเจ้าจะให้ความยุติธรรมไม่ได้ ก็จงมีแต่หญิงเดียว หรือไม่ก็หญิงที่มือขวาของพวกเจ้าครอบครองอยู่(หมายถึงทาสหญิง) นั่นเป็นสิ่งที่ใกล้กว่าในการที่พวกเจ้าจะไม่ลำเอียง" (อัน-นิสาอ์ 3)
2. ในเมื่อพระองค์ได้ทรงอนุญาตให้มีภรรยาหลายคนได้ ก็มีการห้ามไม่ให้รวมกับคนที่มาจากตระกูล ใกล้ชิดกัน เช่น แต่งงานเอาทั้งพี่สาวและน้องสาวในช่วงเวลาเดียวกัน หรือในระหว่างหญิงสาวเองกับน้า หรือป้าของนางในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะจะทำให้เกิดการตัดขาดความสัมพันธ์ ความผูกพันที่มีให้กัน และยังจะก่อให้เกิดความบาดหมางกันในหมู่เครือญาติ เพราะความหึงหวงระหว่างผู้หญิงด้วยกันนั้นเป็นสิ่งที่รุนแรงมาก

การหมั้นหมายกับผู้หญิง
สำหรับชายคนใดที่ต้องการจะหมั้นกับหญิงคนหนึ่ง สุนัตให้เขาต้องดูตัวนางก่อนและดูสิ่งที่จะสนับสนุนให้เกิดการแต่งงานขึ้นจริงๆ ทั้งนี้ เวลาดูตัวต้องอยู่ในที่เปิดเผยไม่ใช่สองต่อสอง ที่สำคัญห้ามสลามกับนาง หรือแตะต้องตัวนางเด็ดขาด และห้ามเปิดเผยในสิ่งที่ได้พบเห็นเกี่ยวกับตัวนาง ในขณะที่ผู้หญิงเองก็มีสิทธิจะมองดูชายที่ต้องการจะหมั้นหมายกับนางเช่นกัน ถ้าหากชายคนใดไม่สามารถที่จะดูฝ่ายหญิงด้วยตัวเองได้ ก็ให้ส่งตัวแทนผู้หญิงคนหนึ่งที่น่าเชื่อถือได้ ไปดูหญิงที่หมายปองไว้ แล้วมาบอกแก่ชายคนดังกล่าวแทน
- หญิงใดที่สามีเสียชีวิตแล้วนางได้แต่งงานใหม่ ในวันปรโลกหญิงคนนั้นจะเป็นสิทธิของสามีคนสุดท้ายของนาง

การหมั้นหญิงที่ถูกหมั้นอยู่ก่อนหน้าแล้ว
ห้ามแลกเปลี่ยนรูปภาพในการหมั้นหรืออื่นๆ และห้ามชายผู้หนึ่งไปหมั้นกับหญิงที่มีผู้อื่นหมั้นอยู่แล้วหรือจับจองแล้ว จนกว่าชายผู้นั้นจะถอนหมั้น หรือต้องได้รับการอนุญาตจากชายผู้นั้นเสียก่อน หรือชายคนแรกถูกบอกยกเลิกจากฝ่ายหญิ่ง ถ้าเขาไปหมั้นซ้อนชายอื่น การหมั้นหมายของเขานั้นถือว่าใช้ได้ แต่เขาจะเป็นผู้ที่ทำบาปและทรยศต่ออัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์
วาญิบ(จำเป็น)สำหรับผู้ปกครองของฝ่ายหญิงที่จะต้องหาผู้ชายที่มีคุณธรรมให้แก่ลูกสาวของเขาได้แต่งงาน ถือว่าไม่เป็นไรถ้าหากจะเสนอลูกสาว พี่สาว หรือน้องสาว ให้แก่ชายที่เป็นคนดีมีคุณธรรมด้วยเจตนาเพื่อให้แต่งงานกัน
ห้ามแสดงเจตน์จำนงอย่างตรงไปตรงมาในการสู่ขอหรือขอหมั้นกับหญิงที่อยู่ในช่วงอิดดะฮฺ(ช่วงเวลาแห่งการรอคอย)จากการตายของสามี หรือหญิงที่ถูกหย่าขาดจากสามีคนเก่า แต่อนุญาตให้แสดงเจตนาอย่างเป็นนัย(ไม่เปิดเผยโจ่งแจ้ง) เช่น กล่าวแก่หญิงที่อยู่ในอิดดะฮฺว่า "คนอย่างคุณนี้ฉันชอบนะ" และทางฝ่ายหญิงก็อาจจะกล่าวว่า "ฉันเองก็ไม่ได้เกลียดคุณ" หรือคำอื่นๆ ในลักษณะนี้
และอนุญาตให้กล่าวสู่ขอหญิงผู้อยู่ในอิดดะฮฺด้วยคำพูดที่ชัดเจนหรือเป็นนัยได้สำหรับสามีของนางซึ่งหย่าจากนางแบบบาอินที่ไม่ถึงสามครั้ง และไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่ใช่สามีกล่าวสู่ขอหญิงที่ถูกหย่าแบบร็อจญ์อีย์(ยังอยู่ในสภาพที่สามารถคืนดีกับสามีคนเก่าได้)ในขณะที่นางอยู่ในช่วงอิดดะฮฺไม่ว่าจะด้วยคำพูดที่ชัดเจนหรือเป็นนัยก็ตาม

หลักการแต่งงาน มีสามประการ คือ
1. สองคู่บ่าวสาว ซึ่งต้องปราศจากข้อห้ามที่เป็นโมฆะของการแต่งงาน เช่น เป็นพี่น้องร่วมแม่นมคนเดียวกัน หรือมีศาสนาแตกต่างกัน เป็นต้น
2. ต้องมีการกล่าว อีญาบ (สำนวนมอบ) หมายถึง สำนวนเสียงที่ออกจากปากผู้ปกครอง หรือผู้ที่ทำการแทนผู้ปกครองในการแต่งงาน เช่น ฉันทำการแต่งงานคุณกับ... หรือ ฉันมอบให้คุณครอบครองผู้หญิงคนนี้ชื่อ... เป็นต้น
3. ต้องมีการกล่าว เกาะบูล (สำนวนตอบรับ) หมายถึง สำนวนเสียงที่ออกจากปากชายที่ต้องการแต่งงานหรือผู้ที่รับแทนเขาในการแต่งงาน เช่น ฉันตอบรับการแต่งงานนี้
เมื่อมีการกล่าวมอบและกล่าวตอบรับ ก็ถือว่าเป็นการแต่งงานที่ใช้ได้แล้ว

การขออนุญาตจากผู้หญิงในการแต่งงาน
จำเป็นสำหรับผู้ปกครองของฝ่ายหญิงที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแต่งงานที่จะต้องขออนุญาตจากนางก่อนการทำพิธีแต่งงาน ไม่ว่านางจะเป็นสาวที่ยังไม่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อนหรือเป็นหม้ายแล้วก็ตาม และห้ามบังคับให้นางแต่งงานกับคนที่นางัรังเกียจ หากมีการแต่งงานโดยที่นางไม่ได้ยินยอมด้วย นางก็มีสิทธิที่จะยกเลิกการแต่งงานได้
1. รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«لا تُنْكَحُ الأَيِّـمُ حَتَّى تُسْتَأْمَـرَ، وَلا تُنْكَحُ البِكْرُ حَتَّى تُسْتَأْذَنَ» قالوا: يا رسول الله وكيف إذنها؟ قال: «أَنْ تَسْكُتَ». متفق عليه.
ความว่า "ห้ามทำการแต่งงานให้หญิงหม้าย จนว่าจะถูกสั่งจากนางเองให้ทำการแต่งงาน และห้ามทำการแต่งงานให้กับสาวที่ยังไม่เคยแต่งงานจนกว่าจะได้รับการยินยอมจากนางให้ทำการแต่งงานได้" บรรดาเศาะหาบะฮฺถามว่า “โอ้ท่าน รอซูลุลลอฮฺ การยินยอมของนางนั้นเป็นแบบไหน ?” ท่านรอซูลก็ตอบว่า “การนิ่งเงียบของนาง นั่นคือการยินยอมแล้ว” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 5136 และมุสลิม 1419)
2. จากค็อนสาอ์ บิน ค๊อดดาม อัล-อันศอรียะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เล่าว่า แท้จริงพ่อของนางทำการแต่งงานนางในขณะที่นางนั้นเป็นหม้าย และนางก็ไม่ชอบการแต่งงานดังกล่าว แล้วนางก็มาหาท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และท่านรอซูลก็ได้ปฏิเสธ(ไม่ยอมรับ)การแต่งงานดังกล่าว (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 5138)
- อนุญาตให้พ่อทำการแต่งงานลูกสาวที่ยังไม่ถึงเก้าปี ซึ่งนางต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมเหมาะสมสำหรับการแต่งงานนั้น โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือยินยอมจากลูกสาว
- ห้ามไม่ให้ชายสวมใส่แหวนหมั้นที่ทำมาจากทอง และการสวมใส่แหวนดังกล่าวนั้นนอกจากจะเป็นการคล้ายคลึงกับผู้ปฏิเสธศรัทธาแล้ว ยังถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติศาสนาอีกด้วย

การอ่านคุฏบะฮฺในการแต่งงาน
สุนัตสำหรับผู้ที่ทำการแต่งงาน ให้อ่านคุฏบะฮฺ อัล-หาญะฮฺ (การให้โอวาทตามที่มีปรากฏในรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) ก่อนการทำพิธีแต่งงาน ดังที่ได้อธิบายแล้วในคุฏบะฮฺวันศุกร์ ซึ่งมันถูกใช้กล่าวในการแต่งงานและอื่นๆ เช่น เริ่มด้วย
«إن الحمد ٬ نحمده ونستعينه... إلخ»
“แท้จริงการสรรเสริญเป็นสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ เราขอสรรเสริญพระองค์และขอความช่วยเหลือจากพระองค์....” จนจบ
จากนั้นให้อ่านอายะฮฺอัลกุรอานที่เกี่ยวข้องตามที่มีปรากฏในรายงาน หลังจากนั้นจึงทำพิธีสมรส โดยให้มีพยานเป็นผู้ชายสองคน

การแสดงความยินดีกับการแต่งงาน
การแสดงความยินดีกับการแต่งงานเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้กระทำ ดังที่รายงานจาก อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่า แท้จริงแล้วท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั้น เมื่อท่านแสดงความยินดีท่านก็จะกล่าวว่า
«بَارَكَ الله لَكُمْ، وَبَارَكَ عَلَيْكُمْ، وَجَـمَعَ بَيْنَكُمَا فِي خَيرٍ». أخرجه أبو داود وابن ماجه.
(คำอ่าน บาเราะกัลลอฮุ ละกุม, วะ บาเราะกะ อะลัยกุม, วะ ญะมะอะ บัยนะกุมา ฟี ค็อยรฺ)
ความว่า “ขอให้อัลลอฮทรงประทานความบารอกัตแก่พวกท่านทั้งหลาย และขอความประเสริฐจงประสบแด่พวกท่านทั้งหลาย และขอให้พระองค์รวมท่านทั้งหลายนั้นอยู่ในคุณความดี” (หะดีษ เศาะฮีหฺ บันทึกโดย อบู ดาวูด 2130 และอิบนุ มาญะฮฺ 1905 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน)
- อนุญาตสำหรับผู้ที่ได้ผ่านพิธีแต่งงานเสร็จแล้ว ให้อยู่กับภรรยาของเขาได้เลย และอยู่สองต่อสองกับนางได้ และคลุกคลีกับนางได้ทันที เพราะนางเป็นภรรยาของเขาแล้ว และห้ามกระทำสิ่งดังกล่าวก่อนพิธีแต่งงาน ถึงแม้จะเป็นหลังจากการหมั้นหมายแล้วก็ตาม

ช่วงเวลาสำหรับการแต่งงานของฝ่ายหญิง
อนุญาตให้จัดพิธีแต่งงานกับหญิงในขณะที่นางปราศจากประจำเดือน หรืออยู่ในช่วงประจำเดือนก็ได้ แต่ห้ามทำการหย่าในขณะที่นางอยู่ในช่วงที่มีประจำเดือน ดังที่จะได้อธิบายในเรื่องที่เกี่ยวกับการหย่าต่อไป

เงื่อนไขของการแต่งงาน
1. ต้องระบุเจาะจงว่าคนใดที่จะแต่งงาน ทั้งจากฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว
2. การยินยอมของทั้งสองคู่บ่าวสาว
3. ต้องมีวะลีย์หรือผู้ปกครอง ไม่อนุญาตให้ทำการแต่งงานหญิงใดเว้นแต่ต้องมีผู้ปกครอง
4. การแต่งงานต้องมี มะฮัร (สินสอด)
5. คู่บ่าวสาวทั้งสองต้องปราศจากข้อห้ามของการแต่งงาน ที่ห้ามให้มีการแต่งงานได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุเชื้อสาย หรือสาเหตุการร่วมแม่นม หรือความแตกต่างในด้านศาสนาของทั้งสอง เป็นต้น

เงื่อนไขของวะลีย์
วะลีย์ หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิงที่จะทำการแต่งงานนางนั้น มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ชาย เป็นไท บรรลุวัยแห่งศาสนภาวะ มีสติปัญญา เป็นคนที่มีความคิดแยกแยะได้ และต้องนับถือศาสนาเดียวกันกับเจ้าสาว
สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจนั้นมีสิทธิที่จะทำการแต่งงานหญิงกาฟิรที่ไม่มีผู้ปกครองได้
ผู้ปกครองนั้นก็คือ พ่อของหญิง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุดในการทำการแต่งงานให้กับเจ้าสาว ถัดไปก็คือผู้ที่พ่อได้สั่งเสียให้ทำการแต่งงานแทนเขา ถัดไปก็เป็นปู่ของนาง จากนั้นก็เป็นลูกชายของนาง จากนั้นก็พี่ชายหรือน้องชายของนาง จากนั้นก็ลุงหรืออา(พี่น้องของพ่อ)ของนาง หลังจากนั้นก็คือผู้ที่มีเชื้อสายตระกูลใกล้ชิดกับนางมากที่สุด สุดท้ายก็คือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ (วะลีย์ สุลฏอน)

การเป็นพยานในการแต่งงาน
สุนัตให้มีพยานในการแต่งงาน ซึ่งต้องเป็นชายสองคนที่มีคุณธรรมความยุติธรรม และเป็น มุกัลลัฟ (บุคคลที่บรรลุวัยทางศาสนภาวะและเป็นบุคคลปกติที่ต้องปฏิบัติศาสนกิจตามบัญญัติศาสนา)
หากการแต่งงานมีพยานรู้เห็นสองคนและมีประกาศให้รับทราบ ก็ถือว่าเป็นพิธีที่สมบูรณ์ที่สุด แต่ถ้าหากได้มีการประกาศให้รับทราบโดยไม่มีพยานสองคน หรือมีพยานรู้เห็นแต่ไม่ได้ประกาศ ก็ถือว่าการแต่งงานนั้นใช้ได้เช่นกัน

หุก่มการแต่งงานโดยปราศจากวะลีย์
ถ้าผู้ปกครองของฝ่ายหญิงไม่รับที่จะเป็นวะลีย์ หรือไม่มีเงื่อนไขพร้อมที่จะเป็นวะลีย์ หรือไม่อยู่และไม่สามารถที่จะเรียกเขามาเป็นวะลีย์ได้เว้นแต่ด้วยความยากลำบาก ก็ให้ผู้ปกครองคนอื่นถัดไปจากเขามาทำการแต่งงานให้เจ้าสาวแทน
การแต่งงานโดยไม่มีผู้ปกครองนั้นใช้การไม่ได้เพราะไม่ถูกวิธี จำเป็นจะต้องยกเลิกการแต่งงานนั้นกับผู้พิพากษา หรือด้วยการหย่าร้างจากเจ้าบ่าวต่อเจ้าสาว แต่ถ้าหากเจ้าบ่าวมีเพศสัมพันธ์กับเจ้าสาวด้วยการแต่งงานที่ใช้ไม่ได้ดังกล่าว ก็จำเป็นต้องจ่ายสินสอดให้กับนาง เนื่องจากได้มีเพศสัมพันธ์กับนางแล้ว

ความพร้อมและเหมาะสมของคู่บ่าวสาว
ความพร้อมและความเหมาะสมระหว่างสองสามีภรรยา คือความเหมาะสมในด้านศาสนาและการเป็นไท แต่ถ้าผู้ปกครองทำการแต่งงานหญิงสาวที่ดีคู่กับชายชั่ว หรือหญิงที่เป็นไทคู่กับชายที่เป็นทาส การแต่งงานนั้นถือว่าถูกต้องตามพิธี แต่เป็นสิทธิสำหรับเจ้าสาวที่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่หรือยกเลิกการแต่งงานนั้น

เป้าหมายของการมีเพศสัมพันธ์
เป้าหมายของการมีเพศสัมพันธ์ มีสามประการ คือ 1) รักษาสกุล 2) ระบายน้ำ(อสุจิ)ที่เป็นพิษภัยต่อร่างกายเมื่อถูกกังขังไว้ในร่างกายโดยไม่ได้ระบายออก 3) สนองความต้องการและเพื่อได้รับความสุขและเสพสุขกับนิอฺมัตที่อัลลอฮฺประทานให้ ประการสุดท้ายนี้จะบรรลุอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดถ้าหากเกิดขึ้นในสวนสวรรค์

สิ่งที่สามีต้องทำในเมื่อเข้าห้องนอนกับภรรยาของเขา
1. สุนัตสำหรับชายที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของเขา ต้องเริ่มด้วยความอ่อนโยนกับนาง ด้วยการเอามือของเขาวางบนศีรษะของนางและกล่าวนามของพระองค์อัลลอฮฺ และขอพรด้วยความประเสริฐ หลังจากนั้นก็กล่าวว่า
«اللَّـهُـمَّ إنِّي أَسْأَلُكَ خَيْرَهَا وَخَيْرَ مَا جَبلْتهَا عَلَيْـهِ، وَأَعُوذُ بِكَ مِنْ شَرِّهَا وَمِنْ شَرِّ مَا جَبلْتهَا عَلَيْـهِ». أخرجه أبو داود وابن ماجه.
(คำอ่าน อัลลอฮุมมะ อินนี อัสอะลุกะ ค็อยเราะฮา, วะ ค็อยเราะ มา ญะบัลตะฮา อะลัยฮิ, วะ อะอูซุบิกะ มิน ชัรริฮา, วะ มิน ชัรริ มา ญะบัลตะฮา อะลัยฮิ)
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงฉันขอต่อพระองค์จากความดีของนาง และความดีของสิ่งที่พระองค์ได้ทรงให้นางเกิดมาด้วยสิ่งนั้น และฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากความชั่วร้ายของนางทั้งปวง และความชั่วร้ายของสิ่งที่พระองค์ได้ทรงให้นางเกิดมาด้วยสิ่งนั้นด้วยเถิด” (หะดีษ หะสัน บันทึกโดย อบู ดาวูด 2160 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และ อิบนุ มาญะฮฺ 2252)
2. สุนัตให้กล่าวพระนามของอัลลอฮฺก่อนจะสอดใส่อวัยวะเพศ และกล่าวดุอาอ์ว่า
«بِاسْمِ الله، اللَّـهُـمَّ جَنِّبْنَا الشَّيْطَانَ، وَجَنِّبِ الشَّيْطَانَ مَا رَزَقْتَنَا».
(คำอ่าน บิสมิลลาฮฺ, อัลลอฮุมมัจญ์นิบนัช ชัยฏอน, วะ ญันนิบิชชัยฏอน มา เราะซักตะนา)
ความว่า "ด้วยนามของอัลลอฮฺ โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ได้ทรงให้ชัยฏอนอยู่ห่างจากเราด้วยเถิด และขอพระองค์ได้ทรงให้ชัยฏอนอยู่ห่างไกลจากสิ่งที่พระองค์ประทานให้กับเรา(หมายถึงลูกที่ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ในครั้งนี้)"
เพราะแท้จริงแล้ว ถ้าหากอัลลอฮฺกำหนดให้มีบุตรขึ้นระหว่างเขาทั้งสองเพราะการร่วมหลับนอนในครั้งนั้น ชัยฏอนก็ไม่สามารถทำอันตรายแก่ลูกคนนี้ได้เลย (บันทึก โดยอัล-บุคอรีย์ 6388 และ มุสลิม 1434)
3. อนุญาตให้สามีร่วมเพศกับภรรยาทางอวัยวะเพศของนางจากด้านไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นจากด้านหน้าหรือด้านหลัง แต่ห้ามมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

การอาบน้ำร่วมกัน
เมื่อสามีร่วมเพศสัมพันธ์กับภรรยาของเขาแล้วยังต้องการร่วมอีกครั้ง ก็สุนัตสำหรับเขาให้อาบน้ำละหมาด เพื่อจะทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น แต่ถ้าเขาอาบน้ำก็จะเป็นการดีกว่า และอนุญาตให้เขาทั้งสองอาบน้ำร่วมกันในที่เดียวกัน ถึงแม้จะมีการมองเห็นซึ่งกันและกันในห้องน้ำในบ้านของเขาทั้งสองนั้นก็ตามที
รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้กล่าวว่า
كان رسول الله صلى الله عليه وسلم يغتسل في القدح، وهو الفرق وكنت أغتسل أنا وهو في الإناء الواحد، قال قتيبة: قال سفيان: والفرق ثلاثة آصع. متفق عليه.
ความว่า "ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้อาบน้ำจากน้ำใน เกาะดะห์ (ภาชนะใส่น้ำรูปร่างคล้ายกะละมังก้นลึก) มันคือ ฟัรก์ (มาตราการตวงประเภทหนึ่ง) และฉันเองก็อาบน้ำจากภาชนะเดียวกันร่วมกับท่าน" กุตัยบะฮฺ ผู้รายงานหะดีษกล่าวว่า : ซุฟยาน ได้อธิบายว่า น้ำใน ฟัรก์ เท่ากับ สาม ศออ์ (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 250 และ มุสลิม 319 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน)
สุนัตสำหรับทั้งสองคนไม่ให้นอนในสภาพที่มีญุนุบ(หลังการมีเพศสัมพันธ์โดยที่ยังไม่ได้อาบน้ำ) เว้นแต่ว่าทั้งสองนั้นได้อาบน้ำละหมาดก่อน

แปลโดย : ริซัลย์ สะอะ