03 March 2010

บทเรียนจากการรบ...โมเดลเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นแบบพิเศษ 4 จังหวัดชายแดนใต้

พลเอก หาญ ลีนานนท์ ได้เห็นข่าว นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบแก้ปัญหาภาคใต้ แถลงในเวทีหนึ่งภายใต้หัวข้อ “รัฐบาลลดกระแสต้านใต้ คืนความเป็นธรรมรื้อคดี” แล้วรู้สึกสะท้อนใจ นายถาวร กล่าวว่า “…สิ่งที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือปัญหาความยุติธรรมซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำให้นำผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับคดีสำคัญมาตรวจสอบใหม่ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและต้องเอาผู้ที่กระทำผิดอย่างแท้จริงมาดำเนินคดีให้ได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในปกครองของใคร และใครถูกใส่ร้ายก็จะให้ความเป็นธรรมด้วย.....” ความจริงเรื่องนี้ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พูดตั้งแต่เข้ารับหน้าที่และพูดต่อมาเป็นครั้งคราว ก็ไม่เห็นมีอะไรกระดุกกระดิกตอบสนองนโยบายนายกฯ ที่นายถาวรพูดอีกก็เป็นการพยายามทำนโยบายที่นายกฯพูดไว้ให้เป็นจริง เป็นการพูดหรือแถลงนโยบายการปฏิบัติที่จะทำต่อไปในอนาคต กลไกที่จะต้องดำเนินการระดับต่ำสุดคือ ตำรวจ ทหาร พยาน ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ของเหตุการณ์ต่างๆ ระดับเหนือขึ้นมาก็คืออัยการและศาล ซึ่งจะต้องดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม อย่างไรก็ดี การแถลงของนายถาวรนั้นไม่มีน้ำหนัก ไม่โดนใจคนมุสลิมผู้ถูกปกครองที่เป็นพลเมืองชั้นสองมาโดยตลอด สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความไม่เสมอภาคในสังคมและกฎหมาย มุสลิมที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกละเมิดมาโดยตลอด ถ้านายถาวรหรือรัฐบาล (พรรคประชาธิปัตย์) มีความจริงใจที่จะลดกระแสต้านใต้จริงๆ หยิบเอาเรื่องที่โดนใจพลเมืองมุสลิมที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาขึ้นป้ายไว้สิครับ มีอยู่ 5–6 เรื่องซึ่งเคยเขียนลงมาแล้วแต่จำเป็นต้องย้ำอีกครั้งหนึ่งคือ (1) หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำทางศาสนา บิดานายเด่น โต๊ะมีนา ถูกจับหายตัวไปตั้งแต่ปี 2491 (2) ทนายความมุสลิม นายสมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหายตัวไปเมื่อ 4 มีนาคม 2547 (สำหรับนายสมชายนี้มิได้เป็นคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นคนที่ทำคดีสำคัญให้กับมุสลิมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน จึงตกเป็นเป้าสังหารไปด้วย) (3) การตายหมู่ของมุสลิมในมัสยิดกรือเซะเมื่อ 28เมษายน 2547 (4) การตายหมู่ของมุสลิม 78 คน กรณีจลาจลที่ตากไปและเสียชีวิตเนื่องจากไม่มีอากาศหายใจในการขนย้ายไปปัตตานีที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 (5) กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ถูกฆ่าตายระหว่างถูกคุมตัวของทหาร ระหว่างสอบสวนที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อ 20 มีนาคม 2551 (6) การตายหมู่ของมุสลิม 10 คน ในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 8 มิถุนายน 2552 ทั้ง 6 เรื่องที่คัดมานี้คือทุกข์แสนสาหัสของพี่น้องพลเมืองมุสลิมที่เป็นญาติของผู้เสียชีวิต พวกเขารู้ว่าใครหรือผู้ถืออาวุธกลุ่มไหนสีอะไรที่เป็นฆาตกร แต่เขาไม่มีโอกาสที่จะเปิดเผยกับใครเมื่อใด ถ้านายถาวร หรือนายกอภิสิทธิ์ มีความจริงใจหยิบมาสักเรื่อง รับรองว่าโดนใจมุสลิมแน่ๆ ขอแนะนำเรื่องที่ง่ายที่สุด คือเรื่องสุดท้ายของการฆ่าหมู่ในบ้านของพระเจ้า มัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย เพราะเพิ่งจะเกิดเมื่อ 6–7 เดือนที่แล้ว และจับผู้ต้องสงสัยได้แล้ว หากรีบรุกดำเนินการโดยด่วนจะได้ตัวกลุ่มฆาตกรแน่นอน เลือกตั้งครั้งหน้าประชาธิปัตย์มาแน่นอน กระแสต้านใต้จะหายไป เสียดายเวลา 1 ปีที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคของคนใต้ แต่แก้ปัญหาใต้แบบ “โน้งเหน่งโน้งแกระ” ไปวันๆ ไม่มีใครรู้จริง เอาจริง ทั้งนี้เพราะไม่รู้ว่าแกนของปัญหาที่แท้จริงนั้นคืออะไร อยู่ที่ไหน และจะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ว่าข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ และทหาร (กองทัพ) ต่างก็ท่องพระบรมราโชวาทของพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่พระราชทานให้ แล้วก็ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง ถ้าเป็นโจทย์ถามว่า “เข้าใจอะไร” ก็ตอบไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าแก่นของปัญหาที่แท้จริงคืออะไร แก่นแกนของปัญหาที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นคือ ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ประเพณี ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของพลเมืองที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นมุสลิม (คนที่นับถือศาสนาอิสลาม) กลไกของรัฐที่เป็นชนชั้นปกครองจำเป็นต้องเข้าใจถึงแก่นของปัญหานี้อย่างแท้จริง จึงจะทำให้การเมืองและการปกครองที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างสงบราบรื่น เพราะการเมืองคือความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองคือข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร และชนชั้นผู้ถูกปกครองคือพลเมือง ประชากรที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม 75–95 เปอร์เซ็นต์ ปรัชญาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ดังนั้นเมื่อเราขึ้นไปบนอำเภอ ศาลากลาง โรงพัก (สถานีตำรวจภูธร) ตามจังหวัดต่างๆ หรือเมื่อขึ้นไปที่สำนักงานราชการของจังหวัดต่างๆ ในส่วนภูมิภาค ก็น่าจะพบเห็นคนมุสลิมที่สวมกะปิเยาะห์ (หมวกขาวของผู้ชาย) หรือสวมฮีญาบ (ผ้าคลุมศีรษะของสตรี) เป็นหลักในการทำหน้าที่รับใช้ประชาชนพลเมืองมุสลิมของเขา เราเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ถ้าแม้นว่าชนชั้นปกครองทั้งนักการเมืองและนักการทหารได้มีจิตสำนึกและยึดมั่นในปรัชญาประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานในการปกครองและบริหารประเทศ จนถึงบัดนี้นับได้เกือบ 80 ปีแล้ว ก็คงจะมีคนมุสลิมทั้งเพศหญิงและเพศชายเข้ามารับราชการในส่วนราชการต่างๆ ในส่วนภูมิภาคที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้นตามเปอร์เซ็นต์ของพลเมืองมุสลิม และถ้านักการเมืองและรัฐบาลเข้าใจถึงแก่นแกนของปัญหาที่กล่าวข้างต้นอย่างแท้จริง ยอมให้มีการแก้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง ให้ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล โดย อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ของทั้ง 4 จังหวัด เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของรัฐบาลไทย เช่นเดียวกับ กทม. (กรุงเทพมหานคร) เมืองพัทยา และ อบจ. 75 แห่งทั่วประเทศ ถ้าเป็นแบบนี้พลเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะได้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นคนมุสลิมที่มาจากการเลือกตั้งโดยมือของพลเมืองมุสลิม สอดคล้องกับปรัชญาประชาธิปไตยที่ว่าการปกครองเป็นของประชาชน เมื่อดูความจริงที่ปรากฏในการปกครองท้องถิ่นระดับล่างที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งสามจังหวัด (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ก็จะพบว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ของทั้ง 3 จังหวัดนั้นเป็นคนมุสลิมเสียเป็นส่วนใหญ่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นในส่วนของปลัด อบต.จะเป็นการแต่งตั้งโดยทางราชการ (กระทรวงมหาดไทย) จึงมีทั้งคนพุทธและมุสลิม ด้วยเกรงว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ (เริ่มเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2545) การบริหารราชการตามระบอบใหม่จะสับสน จึงจำเป็นต้องให้ปลัด อบต. มาจากการแต่งตั้ง บัดนี้ล่วงเลยมา 8 ปีแล้ว น่าจะต้องมีการทบทวนเรื่องนี้ พี่น้องมุสลิมที่ได้รับการศึกษาระดับสูงก็คงมีมากพอที่จะลงรับเลือกตั้งเป็นปลัดองค์กรปกครองท้องถิ่นได้ เพื่อเป็นตัวแทนพลเมืองมุสลิมในการปกครองตนเอง ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจะเป็นสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในโอกาสต่อไปก็คือเรื่อง“การเมือง” ถ้าเข้าใจ“การเมือง”อย่างถูกต้อง ก็จะเข้าถึงปัญหา จะได้ใจของพี่น้องมุสลิม ไม่ต้องเสียงบประมาณเป็นแสนๆ ล้าน และไม่ต้องเสียชีวิตของประชาชนพลเมืองทั้งพุทธมุสลิม ข้าราชการทหาร ตำรวจ อาสาสมัครต่างๆ เช่นปัจจุบัน การพัฒนาจะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องใช้งบประมาณมากมายเช่นทุกวันนี้ ไม่มีการรั่วไหลเพราะเนื้องานไปถึงมือประชาชนเต็มเม็ดเงิน ข้อสังเกตการแก้พระราชบัญญัติเลือกตั้งให้สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของรัฐเช่นเดียวกับ กทม. และเมืองพัทยา ก็จะทำให้พลเมืองของทั้งสี่จังหวัดซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนั้นจะได้ผู้ปกครองคือผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ณ ระดับจังหวัด และอำเภอตามลำดับเป็นคนมุสลิมเพื่อปกครองมุสลิมตามที่เขาเรียกร้องมาหลายทศวรรษแล้ว เป็นการแก้ที่ไม่กระทบกระเทือนกับการแบ่งส่วนราชการของรัฐบาล ดีกว่าไปคิดรูปแบบขึ้นมาใหม่ เช่น มีผู้เสนอเรื่อง “นครปัตตานี” ซึ่งยากที่จะเป็นไปได้ เมื่อปรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มุสลิมปกครองตนเองได้สำเร็จ จะต้องปรับการบรรจุให้มีคนมุสลิมเข้ามาทำหน้าที่ต่างๆ ทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะสายงานที่สำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดและจริงจังเพื่อรับใช้มุสลิมด้วยกัน เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่จะรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม ความเสมอภาคกันทางกฎหมาย ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน 6 ปัญหาทางการเมืองที่ค้างคาใจพลเมืองมุสลิมที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ยกมากล่าวไว้ในบทเรียนนี้ ผมได้เคยเสนอวิธีการแก้ปัญหาไว้แล้ว สรุปความว่าการแก้ปัญหาทางการเมืองนั้น รัฐบาลต้องรุกทางการเมืองต่อปัญหาทั้ง 6 เรื่อง และควรหยิบปัญหาการฆ่าหมู่มุสลิม 10 คนในมัสยิดอัลฟุรกอนมาดำเนินการก่อน นี่คือการรุกทางการเมือง เป็นการปฏิบัติทางการเมืองที่ได้ผลเพราะเข้าใจถึงแก่นแกนของปัญหา แม้จะสำเร็จอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า มุสลิมก็จะพอใจและระลึกได้ว่าสิ่งที่พลเมืองมุสลิมต่อสู้มายาวนานนั้นเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว และต้องรุกทุกวันโดยต่อเนื่อง หยุดมิได้ ทำนองเดียวกับปัญหาอื่นๆ อีก 5 ปัญหาที่เหลืออยู่ก็ต้องสะสาง ตั้งระบบขึ้นบังคับให้รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องทำต่อ มิใช่พอสิ้นรัฐบาลอภิสิทธิ์แล้วก็เลิกกัน ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เริ่มกันใหม่ แน่นอนบางเรื่องอาจจะต้องจบด้วยการเยียวยาระยะยาวต่อญาติพี่น้องของมุสลิมผู้เสียชีวิต เพราะความคิดที่ผิดๆ ของกำลังที่ถืออาวุธ“สายเหยี่ยว” ก็อาจจะต้องทำใจด้วยกาลเวลาและด้วยการตอบแทนของรัฐบาลที่คุ้มค่าแก่ญาติพี่น้องที่อยู่ข้างหลัง เพราะชีวิตนั้นซื้อไม่ได้ ความสมานฉันท์จะได้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ส่วนราชการอื่น ๆ ของรัฐบาลทุกสายงาน บรรดาเจ้ากระทรวงต่างๆ ก็ต้องถือเป็นนโยบายหลักที่จะต้องปรับการบรรจุกำลังพลทุกสายงานให้มีคนมุสลิมเข้ามาเป็นข้าราชการในสัดส่วนที่เหมาะสมกับจำนวนพลเมืองมุสลิมที่ถูกปกครองกับทางราชการที่เป็นฝ่ายปกครอง ประเด็นสำคัญคือศูนย์อำนาจของส่วนราชการต่างๆ ของบรรดาเจ้ากระทรวงทั้งหลายนั้นอยู่ในกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น เช่น อธิบดีกรมป่าไม้ ที่ดิน อุตสาหกรรม เกษตร ประมง สิ่งแวดล้อม ยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากปัญหาจริง ยากที่จะแก้ไขปัญหาได้ เมื่อแก้ระดับการปกครองท้องถิ่นให้พลเมืองรู้จักปกครองตนเองแล้ว ก็จะต้องแก้การกระจายอำนาจในการอนุมัติเรื่องต่างๆ ทุกสายงานที่กล่าวเป็นตัวอย่างข้างต้นนั้นด้วย ตัวแทนของบรรดาท่านอธิบดีทุกสายงานของกระทรวงต่างๆ ต้องเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จึงถึงเวลาแล้ว ...ถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้พลเมืองมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสิทธิเสรีภาพในการปกครองตนเองด้วยการยกฐานะของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) เป็นเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ เช่นเดียวกับ กทม. และเมืองพัทยา แต่เพิ่มเติมด้วยข้อความในวรรคที่พูดถึงศูนย์อำนาจที่กุมไว้ที่ส่วนกลาง (ระดับอธิบดี) ต้องกระจายลงไปให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้ถืออำนาจแทน ทุกคนทุกฝ่ายที่รับผิดชอบมักพูดจนคุ้นหูว่า ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องใช้เวลา แต่นั่นคือคำตอบของผู้ที่ไม่รู้ปัญหาและวิธีแก้ปัญหา!

02 March 2010

ค่ายอบรมภาษาและวัฒนธรรม

หลักการและเหตุผล เคนเนท กู๊ดแมน (Kenneth Goodman) เชื่อว่าการสอนภาษาเป็นเรื่องสําคัญสําหรับชีวิตเด็ก และโดยที่เด็กต้องเรียนรู้ภาษา และต้องใช้ภาษาเพื่อการเรียนรู้ ครอบครัวยิ่งต้องตระหนักในความสําคัญดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จากการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ปรัชญา การรู้หนังสือ และการจัดหลักสูตร กู๊ดแมนได้รับการยกย่องในฐานะผู้บุกเบิกแนวการสอนภาษาโดยองค์รวม มีผู้ให้ความสนใจนําความคิดไปใช้ในประเทศต่างๆ และมีผู้ให้การสนับสนุนเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ในช่วงปี 1970 เป็นต้นมา แนวการสอนภาษาโดยองค์รวมเกิดจากหลักการและแนวทฤษฎีของนักการศึกษาและนักภาษาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง อาทิ ดิวอี้ (Dewey) เปียเจต์ (Piaget) ไวก็อตสกี้ (Vygotsky) ฮอลลิเดย์ (Halliday) และโรเซนแบลตต์ (Rosenblatt) ที่ชี้ให้เห็นความสําคัญของการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาการคิดและภาษาของเด็กในบริบททางสังคมวัฒนธรรม การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมโลกกับเด็ก ตลอดจนการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ตอบสนองธรรมชาติ และเหมาะสมกับขั้นพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย หลักการเหล่านี้เมื่อนํามาเป็นแนวคิดในการปรับเปลี่ยนการสอนภาษา จะทําให้เด็กมีความสนใจเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ภาษาได้ดีขึ้นเพราะสิ่งที่เรียนมีความหมายและไม่เกิดความรู้สึกว่าการเรียนภาษาเป็นเรื่องยากลําบาก การเชื่อมโยงองค์ความรู้โดยรวมของลูก ๆ อย่างบูรณาการเป็นกระบวนการสำคัญในช่วงปิดภาคเรียน โดยจัดให้เด็ก ๆ มีโอกาสเรียนรู้การใช้ชีวิตจริงตามลำพังในต่างแดนฝึกฝนทักษะการปฏิสัมพันธ์กับสังคม ศึกษาแนวทางการดำรงชีวิตบนฐานศาสนา และศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภค วัตถุประสงค์ 1. เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาโดยองค์รวม (Whole Language Approach) 2. เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบ ความมั่นใจ และกล้าตัดสินใจ 3. เพื่อจัดการศึกษาตามธรรมชาติที่เหมาะกับวัย ความสนใจและความสามารถของเด็ก คํานึงถึง -ประโยชน์ที่จําเป็นในการเรียนรู้ และการสื่อสารในชีวิตจริง เป้าหมาย 1. ปริมาณ 1.1.เยาวชนชาย –หญิงที่มีอายุระหว่าง 15-16 ปี จำนวน 30 คน 2. คุณภาพ 2.1.ฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษามลายู 2.2.บูรณาการวิถีชีวิตอิสลามกับครอบครัวบุญธรรม 2.3.เรียนรู้การใช้วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต กับการคุ้มครองบริโภค ระยะเวลา ดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 2 – 24 เมษายน 2010 รูปแบบโครงการ เป็นค่ายอบรมทางภาษาโดยองค์รวม(Whole Language Approach)บูรณาการศาสนา และวัฒนธรรม มีพ่อและแม่บุญธรรมจากครอบครัวสมาชิกองค์การยุวชนอิสลามมาเลเซีย(อาบิม)ร่วมสนับสนุนกิจกรรม หล่อหลอมจริยธรรมอิสลามขณะอยู่ที่บ้าน และมีครูฝึกทักษะภาษาที่มีประสบการณ์ควบคุมกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดโครงการ ศึกษาแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตกับสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคเมืองปีนัง(Consumer Association of Pinang-CAP) สถานที่ดำเนินการ - โรงเรียนขั้นพื้นฐานอิสลาม(SERI-ABIM) สุไหงปตานี เคดะห์ มาเลเซีย - สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคเมืองปีนัง - บ้านพักครอบครัว ABIM สุไหงปตานี เคดะห์ มาเลเซีย ค่าลงทะเบียน คนละ 10,650 ขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: mipandan@gmail.com Dounload Programme