02 June 2009
Kemelut Selatan,Parti Demokrat di Persoalkan
Setelah 5 bulan lebih berbulan madu kerajaan pimpinan Abhisit dari Parti Demokrat sebagai ketua parti gabungan.Kini anak buah yang juga Ahli Parlimen didalam kawasan Selatan yang sengit bertelagah melahirkan kebimbang terhadap kedudukan parti itu pada kaca mata rakyat. Lantaran daripada pihak parti telah banyak menaburkan janji sewaktu memulakan ambil alih kerajaan dari parti lawannya - Parti Phua Thai,penyokong kuat bekas PM.Taksin.
Sumber melahirkan perasaan bimbang jika sekarang ditakdirkan adakan pilihan raya kerana sampai hari ini kerajaan belum lagi dapat menunjukkan kewibawaannya terhadap polisi yang diwarwarkan kepada rakyat.
(selanjutnya berita dalam Bahasa Thai.)
สำรวจผลงาน 5 เดือนรัฐบาลปชป. "ไฟใต้"รัดคอประชาธิปัตย์
วันอังคารที่ 2 มิถุนายน 2009 09:15น.
ปกรณ์ พึ่งเนตร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
"ตอนนี้ในพรรคกำลังเครียดกับปัญหาภาคใต้มาก โดยเฉพาะ ส.ส.ใต้ เพราะไปประกาศนโยบายกับชาวบ้านไว้เยอะ แต่ผ่านมา 5 เดือนแล้วยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม บอกตรงๆ ถ้าเลือกตั้งพรุ่งนี้ ไม่รู้ ส.ส.ใต้จะเหลือกี่ที่ บางคนไม่กล้ากลับไปหาชาวบ้านแล้ว เพราะตอบคำถามไม่ได้"
เป็นถ้อยคำระบายความอึดอัดใจกับผลงานการจัดการปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จาก "คนใน" ของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล และเป็น "คนใน" ของพื้นที่ในฐานะผู้แทนราษฎรใน 5 จังหวัดชายแดน
ต้องยอมรับว่าทันทีที่เกิดการ "พลิกขั้วรัฐบาล" จากพรรคพลังประชาชนมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ สิ่งหนึ่งที่เรียกความเชื่อมั่นจากผู้คนทั่วทั้งประเทศก็คือ "นโยบายดับไฟใต้" ที่เป็นวิกฤติเรื้อรังมายาวนานกว่า 5 ปี
เหตุเพราะพรรคประชาธิปัตย์คือ พรรคที่มีนโยบายแก้ไขปัญหาชายแดนใต้อย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้มากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองในรัฐสภา โดยนโยบายเด่นๆ ประกอบด้วย
1.ตั้งองค์กรใหม่เพื่อรับผิดชอบภารกิจ "ดับไฟใต้" แบบบูรณาการ นโยบายนี้พรรคประชาธิปัตย์ประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้ง 23 ธ.ค.2550 โดยบอกว่ายกร่างกฎหมายเตรียมไว้แล้ว มีอำนาจเมื่อไหร่ส่งเข้าสภาได้ทันที
2.ตั้งรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี 1 คนรับผิดชอบปัญหาภาคใต้เป็นการเฉพาะ เรียกง่ายๆ ว่า "รมต.ดับไฟใต้" นโยบายนี้ประชาธิปัตย์ก็ประกาศเอาไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งเช่นกัน
3.ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร ประกาศเอาไว้เมื่อครั้งรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ย้ำจุดยืนเรื่องนี้หลายครั้ง ไม่ว่าจะในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี
4.ตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ "ครม.ชุดเล็กดับไฟใต้" นโยบายนี้นำมาใช้หลังเข้ามาบริหารประเทศเมื่อต้นปี 2552
5.ทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ที่บังคับใช้ในพื้นที่มานานร่วม 4 ปี นโยบายนี้ นายอภิสิทธิ์ ประกาศชัดเจนช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นโยบายไร้รูปธรรม
ผ่านมา 5 เดือนเต็ม ลองมาติดตามกันดูว่านโยบายแต่ละเรื่องที่เคยประกาศ รัฐบาลประชาธิปัตย์ทำไปถึงไหนแล้ว...
1.ตั้งองค์กรใหม่ดับไฟใต้ ถึงวันนี้ร่างกฎหมายที่ชื่อ "ร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ยังไม่ผ่านแม้ในชั้นคณะรัฐมนตรี
2.ตั้งรัฐมนตรีดับไฟใต้ ถึงวันนี้มีเพียง นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ที่นายกฯมอบหมายให้ดูแลปัญหาภาคใต้เพิ่มเติมจากภารกิจปกติ
3.ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร ถึงวันนี้ยังถูกตั้งคำถามว่าเป็นยุค "การทหารครอบงำการเมือง" หรือไม่
4.ตั้งครม.ชุดเล็กดับไฟใต้ ถึงวันนี้ประชุมกันไปเพียง 1 ครั้ง
5.ทบทวนการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ แต่ถึงวันนี้ผ่านมา 5 เดือน รัฐบาลต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้วถึง 2 ครั้ง เพียงแต่ครั้งต่อไป (เดือน ก.ค.2552 ซึ่งจะครบ 4 ปีของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้) มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ประเมินผลอย่างเป็นทางการ
การเมืองนำการทหาร?
ประเด็นที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ถูกตั้งคำถามมากที่สุดเกี่ยวกับภารกิจดับไฟใต้ คือ ปมปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งแบ่งได้กว้างๆ เป็น 2 ก้อน คืองบดับไฟใต้ในภาพรวม และงบความมั่นคง ภายใต้การกำกับดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่มีกองทัพเป็นกลไกสำคัญ
จากเอกสารของสำนักงบประมาณ พบว่า งบประมาณภาพรวมในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2552 กล่าวคือ งบปกติของหน่วยงาน ปี 2547 อยู่ที่ 5,039 ล้านบาท จากนั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2551 อยู่ที่ 15,488 ล้านบาท และปี 2552 พุ่งสูงถึง 27,547 ล้านบาท
นอกจากนั้นยังมีงบซีอีโอ, งบกลาง, งบค่าใช้จ่ายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้, รายการค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ, รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเยียวยา (ตัวเลขรวม 5 ปีอยู่ที่ 9,959 ล้านบาท)
จากงบทุกหมวดแยกเป็นรายปีจะพบว่า งบดับไฟใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท เป็น 13,674 ล้านบาทในปี 2548 จากนั้นปี 2549 เพิ่มเป็น 14,207 ล้านบาท ปี 2550 ขยับขึ้นอีกเป็น 17,526 ล้านบาท ปี 2551 ทะลุไปถึง 22,988 ล้านบาท และปี 2552 อยู่ที่ 27,547 ล้านบาท รวม 5 ปี ใช้งบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 109,396 ล้านบาท หรือตัวเลขกลมๆ 1.09 แสนล้าน
พิจารณาจากยอด 1.09 แสนล้าน แยกเป็นงบด้านความมั่นคง 51,385 ล้านบาท และงบพัฒนา 58,011 ล้านบาท สรุปว่างบความมั่นคงใช้ไปเกือบเท่างบพัฒนา
ภาพยิ่งชัดขึ้นหากพิจารณาจากตัวเลขงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรรายกระทรวง ประจำปี 2552 จากยอดรวมงบประมาณทั้งสิ้น 27,547 ล้านบาท กล่าวคือ กระทรวงกลาโหม 7,824 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.40 ของงบประมาณทั้งหมด สำนักนายกรัฐมนตรี (รวม กอ.รมน.) 7,656 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.79
กระทรวงสาธารณสุข 2,783 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.11 กระทรวงมหาดไทย 2,134 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.75 กระทรวงคมนาคม 1,884 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.84 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1,636 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.94 กระทรวงศึกษาการ 758 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.75 และอื่นๆ 2,868 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.41
จะเห็นได้ว่ากระทรวงกลาโหม และ กอ.รมน.ได้รับจัดสรรงบประมาณดับไฟใต้เกินกว่าร้อยละ 50 ของยอดงบประมาณทั้งหมด ขณะที่กระทรวงอื่นๆ ได้รับลดหลั่นกันลงมา ที่น่าใจหายก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ กับกระทรวงเกษตรฯ ได้รับงบประมาณในระดับรั้งท้าย
แม้ตัวเลขงบประมาณในภาพรวม และงบที่ได้รับจัดสรรรายกระทรวงจะไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดปัจจุบันมากนัก เพราะเป็นงบที่ถูกตั้งไว้ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้ามาเป็นฝ่ายบริหาร แต่ปัญหานี้ก็เป็นประเด็นท้าทายยุทธศาสตร์ "การเมืองนำการทหาร" ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ และน่าจับตาว่าจะ "ผ่าทางตัน" ไปได้อย่างไร
ทึ้งงบ...ปัญหาซ้อนปัญหา
การที่งบประมาณกระจุกตัวอยู่ที่กระทรวงกลาโหม และกอ.รมน.มากกว่าร้อยละ 50 สะท้อนชัดว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มา (รวมถึงชุดปัจจุบัน) ยังให้น้ำหนักกับภารกิจด้านการทหารมากกว่าการพัฒนา สอดคล้องกับโครงสร้างหน่วยงานแก้ไขปัญหาที่ใช้ กอ.รมน.ภาค 4 เป็นหน่วยนำ โดยที่หน่วยปฏิบัติอื่นๆ ทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งควรจะเป็นหัวหอกในด้านงานพัฒนาและสร้างความเข้าใจ ล้วนอยู่ใต้การบังคับบัญชาของ กอ.รมน.
ข้อมูลจากการตรวจสอบของคณะกรรมการธิการสภาผู้แทนราษฎรชุดต่างๆ ยังพบว่า งบประมาณที่ กอ.รมน.ได้รับปีล่าสุด ตัวเลขกลมๆ อยู่ที่ 7,500 ล้านบาท เป็นงบที่ได้รับจัดสรรโดยไม่ต้องชี้แจงรายละเอียด พูดง่ายๆ ก็คือ "เอาเงินไปก่อน ค่อยคิดโครงการทีหลัง" จึงถูกตั้งคำถามมาตลอดถึงประสิทธิภาพการใช้จ่ายว่า ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาจริงหรือไม่
นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคำถามว่า ศอ.บต. ได้รับงบประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 7,500 ล้านบาทที่ กอ.รมน.ถืออยู่ โดยต้องเบิกจ่ายจาก กอ.รมน. ถ้าเป็นอย่างนี้ ศอ.บต.ก็แทบไม่มีบทบาทอะไรเลย งบประมาณ 2 หมื่นกว่าล้าน ได้บริหารไม่ถึง 10% แล้วจะตอบสนองกับยุทธศาสตร์ "การเมืองนำการทหาร" ได้อย่างไร
"ยุทธการพิทักษ์แดนใต้สามารถทำลายเครือข่ายอาร์เคเคไประดับหนึ่ง ตรงนี้ต้องยอมรับว่าปฏิบัติการทางทหารได้ผล แต่แทนที่รัฐบาลจะอาศัยจังหวะนี้มุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความยุติธรรม และการศึกษา แต่เรากลับไปไม่ถึงจุดนั้น แทนที่จะรุกทางการเมืองมากขึ้น เรากลับชะลอ คล้ายๆ หมอเลี้ยงไข้ ให้กินยาพาราฯไปเรื่อยๆ"
เขาย้ำว่า ปัญหางบประมาณกำลังจะเป็นปัญหาซ้อนปัญหา และหนักกว่าปัญหาความไม่สงบ สุดท้ายจะกลายเป็นกับดักทำให้แก้ปัญหาภาคใต้ยากขึ้นไปอีก
"ถ้าคิดว่างบของตัวเอง ใครแตะไม่ได้ ก็จะแก้ปัญหาไม่สำเร็จ ผมไม่เชื่อว่าคนๆ หนึ่งจะเก่งทุกเรื่อง ทหารจะสอนหนังสือดีกว่าครูได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นเรื่องความมั่นคง แน่นอนทหารย่อมเก่งกว่าทุกหน่วย" นายนิพนธ์ ระบุ
ปมกฎหมาย...สู่ปมขัดแย้ง
อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ถูกตั้งคำถามไม่แพ้เรื่องงบประมาณ ก็คือร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรพิเศษดับไฟใต้ ซึ่งล่าสุดร่างกฎหมายยังไปไม่ถึงไหน ซ้ำยังมีการแก้ไขหลักการไปจากร่างเดิมของ นายนิพนธ์ ที่ให้ตั้งสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ "สบ.ชต." เป็นหน่วยงานอิสระขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี แต่ร่างใหม่เป็นหน่วยงานที่ยึดโยงกับโครงสร้างกระทรวงมหาดไทย และทำหน้าที่คล้าย ศอ.บต.ในปัจจุบัน เพียงแต่ให้สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้เองเท่านั้น
ว่ากันว่าขนาดปรับแก้เนื้อหากันขนาดนี้แล้ว ฝ่ายทหารก็ยังไม่ยอมรับ และนี่เองคือเหตุผลที่ร่างกฎหมายถูกซุกไว้ในลิ้นชัก...
ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงหลักการกฎหมายจากร่างเดิมของนายนิพนธ์ ให้ไปยึดโยงกับมหาดไทย ก็ทำให้เกิดปมร้าวลึกภายในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเช่นกัน ทั้งๆ ที่ นายนิพนธ์ กับนายถาวร เป็น ส.ส.จังหวัดเดียวกัน
"ถ้าผู้ว่าฯ นายอำเภอไม่ให้ความร่วมมือ มันไม่เวิร์คแน่ หากเป็นโครงสร้างที่ขึ้นกับสำนักนายกฯ แล้วให้คนของมหาดไทยไปอยู่ในนั้นคงไม่มีใครเอา ที่สำคัญคือเครือข่ายของมหาดไทยมีทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล อส. ชรบ. ข้าราชการส่วนภูมิภาคตั้งแต่ศาลากลางจังหวัดลงไปถึงอำเภอ ตำบล ถามว่าสำนักนายกฯสั่งใครได้ไหม...ไม่มีทาง"
เป็นคำอธิบายของ รัฐมนตรีถาวร ซึ่งสะท้อนชัดว่าแนวคิดขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว!
เป็นความขัดแย้งท่ามกลางเสียงบ่นดังๆ จากผู้ใหญ่ในพรรคว่ารัฐบาลตั้งรัฐมนตรีรับผิดชอบปัญหาภาคใต้แบบ "ผิดฝาผิดตัว" หรือไม่ ขณะที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคผู้มากบารมี ก็เคยตำหนิผ่านสื่อหลายครั้งว่า นายถาวรลงพื้นที่น้อยเกินไป และแทบไม่เคยลงพื้นที่พร้อมกับนายถาวรเลย
Sumber:www.isranews.org
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment
ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda