03 July 2009
Seratus ribu tentera pun takdapat patahkan perjuangan jihad
Pemimpin tertinggi tentera melahirkan perasaan kesal terhadap perancangan ketenteraan di selatan Thai yang makin banyak dicurah badjet juga tenaga tentera masih juga tidak dapat mematahkan pertahanan pejuang kemerdekaan yang lahir semula ini.
ส่งทหาร 3 แสนนายลงใต้ก็ไม่สงบ! เพราะศูนย์ดุล การรบอยู่ที่"สงครามความคิด"
ไฟใต้ที่โหมกระหน่ำขึ้นมาอีกระลอก ทั้งๆ ที่รัฐบาลทุ่มงบลงไปแล้วเกือบ 1.1 แสนล้าน เปลี่ยนรัฐบาลมาแล้ว 5 ชุด แม่ทัพภาคที่ 4 อีก 5 คน มีกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอยู่ในพื้นที่กว่า 60,000 นาย ทำให้หลายฝ่ายต้องย้อนกลับมาทบทวนว่าอะไรคือความผิดพลาดบกพร่อง และอะไรกันแน่คือต้นตอของปัญหาภาคใต้
ไม่ต้องมาเหนียมอายปลอบใจกันอีกแล้วว่า "เราเดินถูกทาง"
ในวงเสวนามุมมองคนทำงานภาคใต้ ในการสัมมนาโครงการสร้างความเข้าใจต่อแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดโดยกระทรวงยุติธรรม ที่อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2552 พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และอดีตโฆษกกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามถึงประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังทบทวนเอาไว้อย่างน่าสนใจ
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ เริ่มต้นว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายตัวแปร ทฤษฎีที่นำมาอธิบายปัญหาก็มีหลายทฤษฎี แต่ทฤษฎีไหนตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากที่สุด ถ้าค้นหาได้ ก็จะแก้ปัญหาภาคใต้ได้สำเร็จ
ทั้งนี้ ทฤษฎีแรกที่พูดกันมากคือ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากปัญหาเชิงการจัดการ ฉะนั้นถ้าเปลี่ยนโครงสร้างการจัดการก็จะแก้ปัญหาได้ ทฤษฎีที่ 2 คือปัญหาภาคใต้เกิดจากการการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในพื้นที่ ฉะนั้นหากจัดระเบียบโครงสร้างอำนาจเสียใหม่ ก็จะแก้ไขได้
อย่างไรก็ดี ทฤษฎีที่น่าให้น้ำหนักมากที่สุด คือ "การผลิตซ้ำทางความคิด" ซึ่งมีกระบวนการในการดำเนินการ ผลิตซ้ำทางความคิดว่าคนที่นั่นไม่ใช่คนไทย เป็นคนมลายู ถูกรัฐไทยรุกรานทำให้ล่มสลาย ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ใช่เช่นนั้นทั้งหมด
กระบวนการผลิตซ้ำทางความคิดที่ว่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยม ต้องการยึดดินแดนคืน หรือเนชันแนลลิซึม (nationalism) เมื่อนำมารวมเข้ากับการตีความศาสนาอย่างเข้มข้นในลักษณะของญิฮาดลิซึม (jihadlism) จึงเกิดเป็นปัญหาที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้
"ฉะนั้นศูนย์ดุลของสงครามไม่ใช่เรื่องการทหาร ส่งกำลังไป 3 แสนนายก็ยึดได้แค่กายภาพ เฝ้าได้แต่เสาไฟฟ้า สถานที่ราชการ เมื่อฝ่ายก่อการเพิ่มตัวแปรมากขึ้น ก็ต้องแตกกำลังไปเรื่อยเพื่อไปยึดกุมทางกายภาพมากขึ้น ทั้งคุ้มครองครู คุ้มครองพระ คุ้มครองโน่นคุ้มครองนี่ แต่เอาชนะไม่ได้ เพราะศูนย์ดุลที่แท้จริงของสงครามอยู่ที่เรื่องทางความคิด ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครทำเลย"
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ กล่าวต่อว่า กระบวนการผลิตซ้ำทางความผิดใช้อัตลักษณ์ ศาสนา และความอยุติธรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ฉะนั้นเวลาที่สถิติการก่อเหตุร้ายลดลง ส่วนตัวจึงเห็นว่าไม่ใช่คำตอบที่จะมาบอกว่าสถานการณ์ภาคใต้ดีขึ้น เพราะอาจเป็นช่วงที่ฝ่ายโน้นเงียบลงเพื่อเตรียมการอะไรบางอย่างก็ได้
"สถานการณ์ภาคใต้เป็นเรื่องทางความคิด เป็นเรื่องทางการเมืองเป็นหลัก ฉะนั้นถ้าคิดแบบยุติธรรมทางอาญาคือจับคนไปเข้าคุก จะไม่มีวันแก้ปัญหาได้ มาตรา 17 สัตต (หมายถึงแนวทางการนิรโทษกรรม กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว) น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า ลองคิดดูว่าเรารักชาติ เขาก็รักชาติเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะรักแบบหลงทาง เรื่องแบบนี้มีมิติทางการเมือง จะไปดูแต่ว่าเป็นความผิดแล้วให้ศาลลงโทษคงไม่ได้"
ที่ปรึกษา สมช.กล่าวอีกว่า การใช้ประเด็นชาตินิยม อันที่จริงก็ใช้กันทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายก่อความไม่สงบก็ใช้ชาตินิยมมลายูมุสลิม ส่วนรัฐไทยเองก็พยายามทำลายความต่าง สร้างแต่ความเหมือน หากจะแก้ต้องเริ่มที่จุดนี้
"รัฐต้องมีคำตอบก่อนว่าจะเอาอย่างไรกับชนกลุ่มน้อย มีนโยบายเรื่องชนกลุ่มน้อยอย่างไร การแก้ปัญหาบางทีไม่ต้องใช้เงิน แต่ขออย่างเดียวว่าการจัดการปัญหาภาคใต้ต้องเป็นการเมืองของรัฐ ไม่ใช่การเมืองของพรรคการเมือง ไม่อย่างนั้นเปลี่ยนรัฐบาลที นโยบายก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา"
ส่วนยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารที่พูดกันมากนั้น พล.ท.ดร.พีระพงษ์ กล่าวว่า ไม่ใช่การเอาพลเรือนมาเป็นผู้บังคับบัญชาทหาร แต่ต้องย้อนกลับไปดูความขัดแย้งที่แท้จริงว่าอยู่ตรงไหน อยู่ตรงอัตลักษณ์ใช่หรือไม่ ฉะนั้นหากผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาก้าวข้ามความแตกต่างไปได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ
แต่ถ้าก้าวข้ามไม่ได้ คือไม่ได้ยอมรับความแตกต่างอย่างแท้จริง ก็ขอให้กลับบ้านไปทำอย่างอื่นจะเหมาะกว่า!
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment
ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda