15 August 2009
ทฤษฎี 3 อำนาจ
อำนาจและพลังทางสังคม 3 ชนิด
หมายเหตุ ข้อมูลทั้งหมดนี้ เป็นการเก็บความมาจากการบรรยายของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งบรรยายให้กับนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าฯ (ที่เดินทางมาศึกษาภาคสนาม ณ เขตจังหวัดภาคเหนือ) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ สวนบันรีสอร์ท อ.หางดง ในวันที่ 3 มิถุนายน 2543 เวลา 8.30 น. (ข้อมูลที่เก็บความมานี้ ได้มีการปรับปรุงขึ้นมาใหม่และจัดแยกหัวข้อตามที่ผู้เรียบเรียงเข้าใจ และประยุกต์ให้เข้ากันกับสื่ออิเล็คทรอนิค. ดังนั้น หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เรียบเรียงขอรับผิดชอบต่อข้อมูลเหล่านี้ที่นำเสนอ. สมเกียรติ ตั้งนโม)
1. พลังทางสังคมออกเป็น 3 ส่วนคือ
1. 1.พลัง”พลานุภาพ” หมายถึงพลังอำนาจซึ่งมาจากการใช้กำลัง เป็นอำนาจของการใช้ความรุนแรงเข้าแก้ไขปัญหา พลังชนิดนี้ ยิ่งใช้ความรุนแรงมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เกิดความทุกข์ยากมากทั้งฝ่ายที่ถูกกระทำและฝ่ายที่กระทำ และในท้ายที่สุดผู้ใช้ความรุนแรงนั้นก็จะอยู่ไม่ได้. (สังคมที่ใช้พลังแบบ”พลานุภาพ”นี้ เป็นสังคมในรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด มีมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน และมักเป็นสังคมที่ล้าหลัง)
1.2.พลัง”ธนานุภาพ” หมายถึงพลังอำนาจซึ่งได้มาจากการใช้อำนาจทางการเงิน แทรกซึมเข้ามาในการแก้ปัญหา หรือเข้าแก้ปัญหาโดยตรง. อำนาจที่มาจากเงินนี้ไม่มีสัญชาติ แผ่ซ่านแทรกซึมไปได้ทั่วและซับซ้อน มีความแนบเนียนจนผู้ที่ถูกใช้อำนาจชนิดนี้ไม่ทันรู้ตัว ดังนั้น จึงเป็นอันตรายมากเพราะผู้ถูกกระทำไม่ทันได้ระวังตัวเหมือนกับคนที่ใช้ความรุนแรงกับเรา
1.3.พลัง”สังคมานุภาพ” หมายถึงพลังทางสังคมหรือชุมชน บางท็เรียกว่า”ประชานุภาพ” พลังชนิดนี้เชื่อใน”อำนาจของความรู้”ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกัน ร่วมคิดร่วมทำ และการระดมสมองเพื่อเข้าแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นอำนาจในลักษณะของการประสานร่วมมือกัน อำนาจความรู้นี้มีความยั่งยืน. สำหรับ”สังคมานุภาพ”นี้ เป็นพลังอำนาจที่รวมตัวกันอยู่ในพื้นที่จริงทางภูมิศาสตร์หรือทาง cyber space ก็ได้ โดยผ่านสื่ออีเล็คทรอนิค ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน พลังเช่นนี้จึงมาจากหลายแหล่งความคิด และมีอำนาจในการแก้ไขปัญหาทุกชนิด โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง
2. รูปธรรมโครงสร้างทางอำนาจ
2.1.รูปธรรมทางโครงสร้างพลัง”พลานุภาพ” จะเป็นไปในลักษณะแนวดิ่งจากบนลงล่างตามลำดับ มีการสั่งการและมีผู้ปฏิบัติตาม. โครงสร้างทางอำนาจชนิดนี้มีลักษณะของผู้ชาย และอำนาจไม่ยั่งยืน กล่าวคือ เมื่อผู้มีอำนาจแบบนี้ตายลง โครงสร้างนี้ก็จะเสื่อมทรุดลง หรือบางครั้งก็พังครืนลงมา
2.2.รูปธรรมทางโครงสร้างพลัง”ธนานุภาพ” มีลักษณะเป็นแนวดิ่งและแนวนอน ทั้งในลักษณะของการสั่งการของผู้มีอำนาจเงินมากกว่าลงมาตามลำดับ และการแพร่กระจายไปตามแนวนอนแบบเชื้อโรค อีกทั้งยังทำงานร่วมกับอำนาจแบบ”พลานุภาพ”ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้อำนาจความรุนแรงเข้มข้นมากขึ้น. ส่วนการสืบทอดอำนาจนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
2.3.รูปธรรมทางโครงสร้างพลัง”สังคมานุภาพ” จะเป็นไปในลักษณะแนวนอน และร่วมประสานความร่วมมือ อำนาจนี้มีความยั่งยืนกว่า และเป็นอำนาจแบบผู้หญิง คือถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่มีลักษณะของความเป็นผู้นำที่โดดเด่น หรือการสืบทอดอำนาจตลอดกาล
3. สังคมานุภาพ
สังคมานุภาพ เกิดขึ้นมาได้จากหลายๆสาเหตุ บางครั้งเริ่มต้นขึ้นมาจากการพยายามหาทางแก้ปัญหาร่วมกันในสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์ อาจเริ่มจากความทุกข์ของปัจเจกชน และพัฒนาไปสู่การร่วมกันกับคนที่มีความทุกข์อย่างเดียวกัน และพยายามค้นหาทางออกพร้อมๆกัน. การร่วมทุกข์นี้ในทางพุทธศาสนาถือว่าจะทำให้ความรู้สึกทุกข์นั้นน้อยลง และที่สำคัญ การร่วมทุกข์ทำให้ได้มีการปรับทุกข์ ได้รับการปรึกษาหารือกัน จากหนักกลายเป็นเบา
4. หลักธรรมแห่งสังคมานุภาพ
ในทางพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ได้กับพลังแห่ง”สังคมานุภาพ”คือ หลักแห่ง”อปริหานิยธรรม”(หรือ ธรรมะที่ไม่ทำให้ฉิบหาย)[ปริหานิยธรรม – ธรรมแห่งความฉิบหาย] ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนให้มีการ”หมั่นประชุมกันเนืองนิจ”
ในหนังสือเรื่อง Making Democracy World : civic tradition of modern Itary เป็นหนังสือเกี่ยวกับการไปศึกษาเชิงเปรียบเทียบถึงความแตกต่างของประเทศอิตาลีว่า ทำไมเมืองมิลาโน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี จึงมีความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง, แต่พอมาศึกษาที่ซิซิลี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ทำไมจึงพบว่ามีแต่การคอรัปชั่น การฆ่ากัน การโกงกัน และมาเฟีย. ผมสรุปของการศึกษาเชิงเปรียบเทียบนี้ออกมาคือ เป็นเพราะเมืองมิลาโนมีประชาคม ในขณะที่ซิซิลีไม่มีประชาคม. การมีประชาคม ทำให้การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมดี มีศีลธรรม
สรุปทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ หากใช้คำพูดที่รวบรัดและสั้นที่สุดก็คือ “ประชาคม”, “ประชาสังคม”, และ”ความร่วมมือกัน”นั่นเอง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment
ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda