05 April 2010
ปฏิรูปการศึกษา "ความหวัง" หรือแค่ "หวังความ"ที่สวยหรู
โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช
เพื่อนนักเรียนรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ของผมคือ เกียรติชัย พงศ์พานิช โทร.มาชวนให้ผมไปพูดเรื่อง “ปฏิรูปการศึกษา” รอบสอง เกียรติชัยบอกว่าเขากำลังช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอยู่นอกเวทีราชการ
ที่จริงผมเบื่อเรื่องปฏิรูปการศึกษาเต็มที แต่ก็เกรงใจเพื่อน อีกทั้งยังเห็นว่าเกียรติชัยประสงค์ดี และยังไฟแรงอยู่ก็เลยรับปาก ทั้งๆ ที่อยากไปอยู่หัวหินหลายๆ วัน
เมื่อพูดถึงการปฏิรูปการศึกษาก็ต้องนึกถึง ดร.รุ่ง แก้วแดง เวลานี้ทราบว่า ดร.รุ่งไปทำโครงการช่วยชาวบ้านอยู่ทางปักษ์ใต้ ช่วงที่มีการปฏิรูปการศึกษารอบแรกนั้น ดร.รุ่ง จัดการประชุมสัมมนาหลายร้อยครั้ง มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก
การจัดการศึกษาที่ดีนั้น มีเป้าหมายสำคัญๆ อยู่ 3 ประการ คือ หนึ่ง ความเสมอภาค และความทั่วถึง สอง คือ คุณภาพ และ สาม คือ ความสอดคล้องกับความต้องการ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ส่วนระบบการศึกษานั้น ประกอบไปด้วย หลักสูตรครู และกระบวนการเรียนการสอน และอุปกรณ์การเรียน ทั้งนี้การบริหารจัดการย่อมเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จด้วย
ประเทศไทยเราสามารถบรรลุเป้าหมายแรก คือ ความเสมอภาคและการให้การศึกษาแก่พลเมืองอย่างทั่วถึงได้ ส่วนเรื่องคุณภาพ และความสอดคล้องกับความต้องการ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เรายังอยู่ห่างไกลความสำเร็จ
ถ้าจะถามว่า การปฏิรูปการศึกษารอบแรกได้ผลมากน้อยเพียงใด ในความเห็นของผมก็คือ เราไปทำการเปลี่ยนแปลงตัวระบบการบริหารเสียมาก และยิ่งทำให้ระบบมีความเทอะทะมากขึ้นไปอีก กระทรวงศึกษาธิการยังคงมีหน่วยงานส่วนกลางมากมาย แม้จะมีการลดจำนวนกรมลง แต่ก็กลับมีกรมขนาดใหญ่ ส่วนการกระจายอำนาจที่พูดกันมาก ก็ยังเห็นผลน้อย
จุดเน้นของการปฏิรูปการศึกษารอบแรกก็คือ การเปลี่ยนทัศนคติ และวิธีการสอนของครู ด้วยคำขวัญที่ว่า “ให้ถือเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง” แต่เรื่องนี้ก็ได้ผลค่อนข้างจำกัด เพราะครูยังทำการสอนภายใต้ข้อจำกัดของกรอบหลักสูตรที่เน้นการสอนในห้องเรียน เด็กมีโอกาสปฏิบัติและทำกิจกรรมน้อย เพราะไม่มีเวลาเหลือ
ทางด้านคุณภาพ หากวัดจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแล้ว นักเรียนกลับมีผลการเรียนในวิชาหลักๆ ต่ำลง และก็ยังคิดวิเคราะห์ไม่เป็นเหมือนเดิม
แม้ว่าอุปกรณ์การเรียนการสอนจะดีขึ้นก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้คุณภาพของการศึกษาดีขึ้นแต่อย่างใด
ไปๆ มาๆ การปฏิรูปการศึกษารอบแรก จึงได้แต่การเปลี่ยนโครงสร้างการจัดการศึกษา มีจำนวนตำแหน่งระดับ 11 มากขึ้น มีตำแหน่งซีสูงๆ ในระดับพื้นที่มากขึ้น แต่การพัฒนาครูก็ยังไม่ไปไกลถึงไหน แม้ว่าจะไปเพิ่มระยะเวลาการศึกษาวิชาครูมากขึ้นอีกหนึ่งปีก็ตาม
ถ้าเช่นนั้น การปฏิรูปรอบสองควรเน้นอะไร ผมเห็นว่าการพัฒนาครูน่าจะเป็นจุดสำคัญ คุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่กับคุณภาพของครู แต่ก็ควรระลึกด้วยว่าเวลานี้เด็กๆ มีครูนอกระบบแยะมาก โดยเฉพาะจากเทคโนโลยีการสื่อสาร และอินเทอร์เน็ต
บทบาทใหม่ของครูจึงไม่ใช่การสอนอย่างเดียว แต่เป็นผู้ชี้แนะแหล่งการเรียนรู้ให้เด็กอีกด้วย การแนะนำแหล่งเรียนรู้โดยให้เด็กเข้าใจลักษณะของแหล่งเรียนรู้ประเภทต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ กล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ ครูจะต้องเก่งในการช่วยแนะนำให้คำปรึกษาวิธีการเรียนรู้ที่จะรู้ ซึ่งเป็นหลักของการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรอบรู้ของครูจึงไม่ได้อยู่เฉพาะเนื้อหาวิชาการ แต่เป็นความรู้รอบตัว และมีความทันสมัย มีข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ด้วย
นอกจากนี้ ครูควรมีทักษะการคิด ซึ่งมีความสำคัญต่อความสามารถในการวิเคราะห์ของเด็ก แต่เดิมเราถือว่าการวิเคราะห์จะเกิดขึ้นได้จากการเรียนวิชาการต่างๆ แต่ในปัจจุบัน “ทักษะการคิด” เป็นวิชาหนึ่งที่ควรบรรจุอยู่ในหลักสูตร เพื่อช่วยเสริมความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาทั้งที่อยู่ในรายวิชาต่างๆ ปัญหาในชีวิต และปัญหาสังคม
ผมหวังว่า การปฏิรูปการศึกษารอบสองจะไม่เน้นเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการอีก หากจะมีก็ควรจะเป็นความพยายามในการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้น
โดยสรุปแล้ว ผมเห็นว่า การปฏิรูปการศึกษารอบสองควรพิจารณาเรื่องดังต่อไปนี้
1. ปรับหลักสูตรให้มีการปฏิบัติ และการทำกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น
2. พัฒนาครู โดยเน้นบทบาทใหม่ๆ ให้ครูมีความรอบรู้ และสามารถเป็นที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆ แก่เด็กนอกเหนือไปจากการสอนวิชาการให้มากขึ้น
3. เพิ่มวิชา “ทักษะการคิด” ไว้ในหลักสูตร ทั้งในโรงเรียน และในระดับปริญญาตรีของคณะครุศาสตร์
4. ส่งเสริมให้ครูมีทักษะด้านภาษา และทางด้านคอมพิวเตอร์ให้มากขึ้น
5. เน้นการปลูกฝังจริยธรรม และจิตวิญญาณของความเป็นครู
ผมเห็นว่าเวลานี้ครูได้มีโอกาสเรียนรู้ทางวิชาการมากและเข้มข้นแล้ว การปรับบทบาทใหม่เป็นการพัฒนาครูที่สำคัญ หวังว่าการปฏิรูปการศึกษารอบสองจะไม่หยุดนิ่ง เพราะการศึกษาเป็นเรื่องที่จะต้องทำการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะระยะเวลาสั้นๆ เพียง 4-5 ปี หรือ 10 ปีเท่านั้น
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment
ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda