03 June 2011

คุตบะห์:ดัชนีชี้วัดความสำเร็จและความล้มเหลวในชีวิต

ณ มัสยิดพัฒนาวิทยายะลา
โดย อ.ซูฮัยมีย์ อาแว แผนกวิชาสามัญ วิทยาลัยเทคนิคยะลา
suhaimia@hotmail.com


พี่น้องผู้ร่วมละหมาดญุมอัต رحم كم الله ،
ในสำนึกของคนเรามักจะมีสองประการสำคัญเสมอ ที่มักใช้เป็นดัชนีเชิงเปรียบเทียบในสังคมตลอดมา คือ
1) ความสำเร็จ และ 2) ความล้มเหลว บ่อยครั้งที่เราได้ยินคำว่า “คนนั้นประสบความสำเร็จในชีวิตเพราะสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในหน้าที่การงาน ได้รับเงินเดือนเป็นแสน มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ลูก ๆ เรียนจบสูง ๆ ทุกคน” และมีจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกันที่เราได้ยินว่า “คนนั้นน่าเห็นใจ เป็นคนล้มเหลวในชีวิตเพราะทำงานบ้าน ๆ ลูกเมียต้องอยู่อย่างยากลำบาก หาเช้ากินค่ำ ต้องยืมหนี้กู้สินเพื่อส่งลูกเรียน”
ทั้งสองประโยคดังกล่าวนั้น เป็นวัฒนธรรมเชิงสัญลักษณ์แก่คนที่บูชาวัตถุ ซึ่งได้ซึมซับเข้ามามีอิทธิพลเหนือชีวิตของเราอย่างไม่รู้ตัว ทั้งที่เราไม่เคยคิดว่ามันจะถูกหรือผิด อะไรคือดัชนีที่ถูกต้องที่จะสามารถวัดผลความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของมนุษยชาติในสังคม ตำแหน่ง ทรัพย์สิน เกียรติยศ บรรดาศักดิ์ และชื่อเสียงใช่หรือไม่? ซึ่งถ้าหากใช่ก็หมายความว่าในชีวิตของแต่ละคนจักต้องหมกมุ่นอยู่กับภาวะของการแข่งขัน และการแย่งชิงอยู่ตลอดเวลา ตำแหน่งสูง ๆ เงินเดือนสูง ๆ มีจำนวนจำกัด คนในสังคมจึงต้องตะเกียกตะกาย ดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้จงได้ ส่งผลทำให้เกิดภาวะความตึงเครียดระหว่างพี่น้องในสังคม เกิดความเกลียดชัง อิจฉาริษยา และความไม่ไว้เหนือเชื่อใจต่อกัน ต่างคนต่างยึดมั่นต่อศักยภาพของตน จนในที่สุดคุณค่าเชิงมนุษยธรรมก็จะสูญหายไปจากสังคม ความเป็นพี่น้องก็จะหมดไปในที่สุด

อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัล-กุรอานความว่า “เจ้าอย่าได้พึงพอใจต่อทรัพย์สิน และลูกหลานของพวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺประสงค์ที่จะลงโทษพวกเขาในชีวิตแห่งดุนยาอันเนื่องด้วยสิ่งเหล่านั้น และประสงค์ที่จะให้วิญญาณออกจากร่างของพวกเขาในสภาพที่เป็นผู้ปฏิเสธ” (อัตเตาบะฮฺ / 55)

อัลลอฮฺยังได้ตรัสอีกความว่า “ทุกชีวิตต้องได้ลิ้มรสแห่งความตาย แท้จริงในวันกิยามะฮฺพวกเจ้าจะได้รับรางวัลตอบแทนอย่างครบถ้วน ใครที่อัลลอฮฺให้เขารอดพ้นจากไฟนรกและได้เข้าสวรรค์ แน่นอนว่าเขาได้รับความสำเร็จ ชีวิตในโลกนี้หาได้มีอะไรนอกจากสิ่งอำนวยประโยชน์แห่งการหลอกลวงเท่านั้น” (อาละอิมรอน /185)
และที่สำคัญอัลลอฮฺยังได้ตรัสความว่า “แน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว” “บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในเวลาละหมาดของพวกเขา” (อัล-มุอฺมีนูน / 1-2)

ศรัทธาชนผู้ร่วมละหมาดญุมอัต رحم كم الله ،
จงเพียงพอกับคำตรัสของอัลลอฮฺเถิด ในเมื่ออัลลอฮฺได้กล่าวว่า 1) เจ้าอย่าได้พึงพอใจต่อทรัพย์สินและลูกหลานของพวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺประสงค์ที่จะลงโทษพวกเขาในชีวิตแห่งดุนยาอันเนื่องด้วยสิ่งเหล่านั้น 2) ผู้ที่รอดพ้นจากไฟนรกและได้เข้าสวรรค์ แน่นอนว่าเขาได้รับความสำเร็จ และ 3) แน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในเวลาละหมาดของพวกเขา

จากหลักฐานทั้งหมดที่ยกมา การละหมาดสามารถที่จะสรุปให้เป็นตัวชี้วัดทางสังคมได้ชัดเจนที่สุด เนื่อง จากความสำเร็จที่แท้จริงคือความสำเร็จในโลกอันนิจนิรันดร์ คือโลกอาคีเราะห์ นั่นคือผู้ที่รอดพ้นจากไฟนรกและได้เข้าสวนสวรรค์ของอัลลอฮฺ ที่อัลลอฮฺระบุเป็นการเจาะจงว่า “บรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในเวลาละหมาดของพวกเขา”

ซึ่งเป็นที่น่าตกใจว่าในสังคมปัจจุบันกลุ่มอาชีพต่าง ๆ นับตั้งแต่นักเรียนนักศึกษา นักธุรกิจการค้า ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และลูกจ้างต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนส่วนหนึ่ง ที่อาจแลเห็นว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแต่ยังคงเพิกเฉยต่อการดำรงละหมาด ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย
จากสถิติงานวิจัยของนักวิชาการชื่อดังในประเทศมาเลเซีย ดาโต๊ะ ดร.ฮัจญี โมฮัมมัด ฟาดซีละห์ กัมซะห์ ที่ได้ศึกษาวิจัยผ่านการจัดกิจกรรมบรรยายสร้างแรงจูงใจทั่วประเทศระบุว่า ชาวมุสลิมจำนวนร้อยละ 80 ที่ยังดำรงละหมาดไม่ครบวันละห้าเวลา และมีเพียงร้อยละ 17-20 เท่านั้นที่ยืนยันว่าดำรงละหมาดครบวันละห้าเวลา
ข้อมูลดังกล่าวระบุว่า กลุ่มที่มักจะไม่ให้ความสำคัญกับการละหมาดมากที่สุดคือกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา รองลงมาคือกลุ่มคนทำงานในโรงงาน คนในเครื่องแบบ และอื่น ๆ

การศึกษาวิจัยยังได้ระบุถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามไม่สนใจละหมาดให้ครบถ้วนสมบูรณ์นั้นว่า เกิดจากการขาดความรู้ศาสนาเป็นนัยสำคัญ พร้อมทั้งการขาดทักษะเพียงพอในการทำอิบาดะห์เป็นลำดับรองลงมา ซึ่งในทัศนะของ อัล-คูมายี ได้ระบุถึงปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ที่ทำให้ชาวมุสลิมไม่ปฏิบัติละหมาดคือ
1). ความเกียจคร้าน(อัล-กะซัล) 2). ความอ่อนแอทางสติปัญญา (อัล-ฟูตูรฺ) และ 3). ความเบื่อหน่าย(อัล-มาลัล)
จากปัจจัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่า 2 ใน 3 เป็นปัจจัยทางด้านอารมณ์ความรู้สึก และ อีกปัจจัยหนึ่งคือสติปัญญา ดังนั้นการที่เราปล่อยให้ปัญญาของพวกเราอ่อนหล้า อ่อนแอ โดยถูกครอบงำจากฮาวานัฟซู(อารมณ์ใฝ่ต่ำ) นั้น เป็นการกระทำที่ท้าทายต่อบทบัญัติของอัลลอฮฺอย่างรุนแรง บ่าวที่ดี(ศอลิฮฺ)จะไม่ยอมให้ฮาวานัฟวซุ(อารมณ์ใฝ่ต่ำ) มาเป็นผู้นำของตน เพราะนั่นหมายถึงความหายนะ ดังคำดำรัสของอัลลอฮฺ ความว่า “เจ้าเคยเห็นผู้ที่ยึดถือเอาอารมณ์ใฝ่ต่ำของเขาเป็นพระเจ้าของเขาบ้างไหม ? และอัลลอฮฺจะทรงให้เขาหลงทางด้วยการรอบรู้ (ของพระองค์) และทรงผนึกการฟังของเขาและหัวใจของเขาและทรงทำให้มีสิ่งบดบังดวงตาของเขา ดังนั้นผู้ใดเล่าจะชี้แนะแก่เขาหลังจากอัลลอฮฺ พวกเจ้ามิได้ใคร่ครวญกันดอกหรือ ? (อัล-ญาซียะฮฺ/23)

อัศศอวีย์ได้อธิบายอายะฮฺนี้ว่า อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงกล่าวถึงลักษณะของพวกุฟาร 4 ประการ คือ 1. เคารพ
บูชาอารมณ์ใฝ่ต่ำ 2. การหลงทางของพวกเขา โดยที่พวกเขารู้ 3. ประทับตราบนหู และหัวใจของพวกเขา 4.ทำให้
สิ่งบดบังบนดวงตาของพวกเขา
ทั้งหมดนี้เป็นการคู่ควรแก่การหลงทางแสงสว่างหรือการชี้นำที่ดีไม่อาจที่จะเข้าไป
ถึงพวกเขาได้ อนึ่งคำว่า “อะลาอิลมิน”นั้น นักตัฟซีรมีความเห็นเป็นสองความหมาย คือ ด้วยความรอบรู้ของ
อัลลอฮฺ” หรือ “ด้วยความรู้ของผู้หลงทางเอง”

อัลลอฮฺได้สร้างมนุษย์ทุกคนประกอบด้วยอารมณ์สองส่วนด้วยกันคือ อารมณ์ใฝ่ต่ำและอารมณ์ที่ดีหรือสงบ ซึ่งอารมณ์ทั้งสองส่วนนี้ตรงข้ามกันเสมอ ส่วนหนึ่งจะอยู่ฝ่ายเดียวกับมลาอิกะฮฺ และอีกส่วนหนึ่งจะอยู่กับฝ่ายชัยฏอน
ทั้งนี้บทบัญญัติของอัลลอฮฺ ก็จะมีอยู่สองประเภท 1) เป็นบทบัญญัติที่ชอบแห่งอารมณ์ เช่น ข้อคำสั่งให้กินในสิ่งที่ดี ให้แต่งงานกับผู้หญิงที่ชอบได้ถึงสี่คน และอื่นๆ 2) บทบัญญัติซึ่งเป็นที่มิชอบแห่งอารมณ์
ระดับของอีหม่าน(ความศรัทธา) จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งหรือการละเมิดคำสั่งอัลลอฮฺในแต่ละบุคคล ท่านรซู้ลุลลอฮฺ( ศ็อลฯ) ยอมรับว่าความเกียจคร้านเป็นโรคทางจิตใจอย่างหนึ่งและท่านเองก็ขอดุอาจาก -
อัลลอฮฺ เพื่อปกป้องจากโรคร้ายต่อการศรัทธานี้ด้วยดุอาความว่า "โอ้พระผู้อภิบาลแห่งข้า แท้จริงข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระองค์จากความกังวลใจและความโศกเศร้า ความอ่อนแอและความเกียจคร้าน ความขยาดและความตระหนี่ การติดหนี้ที่มากมายจนล้นตัว และการพ่ายแพ้ต่อผู้อื่น" (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 6369)

ศรัทธาชนผู้ร่วมละหมาดญุมอัต رحم كم الله ،
ความสำเร็จที่แท้จริงนั้นจะต้องยั่งยืนและทำให้ผู้สำเร็จได้รับความสุข ซึ่งเป็นความสุขเชิงมนุษยธรรมไม่ใช่ความสุขที่ถูกครอบงำโดยวัตถุ เพราะมันจะไม่จีรังยั่งยืน ที่มันจะอยู่กับตัวเราตราบที่เรามีชีวิตอยู่ และมันจะถูกเปลี่ยนมือเมื่อเราตายไป แต่ความสุขที่แท้จริงนั้นจะอยู่กับตัวเราไปตลอดทั้งเวลาที่มีชีวิตอยู่บนโลกมายาแห่งนี้และหลังจากเราตายไปสู่โลกอันนิจนิรันดรในโลกหน้า

การละหมาดเป็นเสมือนตัวเชื่อมระหว่างบ่าวคนหนึ่งกับพระเจ้าของเขา ซึ่งมุสลิมคนหนึ่งจะได้สัมผัสกับรสชาติที่แท้จริงในการเข้าหาพระเจ้าของเขาในขณะที่เขาละหมาด ดังนั้นสายตาของเขาจะไม่หลุกหลิก หัวใจสงบนิ่ง จิตใจผ่องแผ้ว เขาจึงบรรลุถึงสิ่งปรารถนาที่แท้จริง และด้วยการละหมาดอีกเช่นกันที่เขาสามารถผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าและความลำบากจากทางโลก

ศาสนาอิสลามนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบหลักห้าองค์ประกอบคือการให้คำปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ การให้คำปฏิญาณว่ามูฮัมมัดนั้นเป็นบ่าวและเราะสูลของพระองค์ การดำรงไว้ซึ่งการละหมาด การจ่ายซะกาต การทำหัญจ์ที่บัยตุลลอฮฺ และการถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ)
แท้จริงสิ่งแรกที่มนุษย์จะถูกสอบถามในวันกิยามะฮฺจากการงานของพวกเขา ก็คือ การละหมาด หากพบว่าการละหมาดของเขาสมบูรณ์ เขาก็จะถูกประทับตรารับรองว่าสมบูรณ์ แต่หากการละหมาดของเขาบกพร่องส่วนหนึ่งส่วนใด อัลลอฮฺจะตรัสแก่มลาอิกะฮฺ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงรอบรู้ดียิ่งว่า พวกเจ้าจงดูซิว่า บ่าวของข้าคนนี้มีละหมาดสุนนะฮฺบ้างไหม? หากว่าเขามีละหมาดสุนนะฮฺ ก็จงทำให้การละหมาดฟัรฎูของของบ่าวผู้นี้สมบูรณ์ด้วยการละหมาดสุนนะฮฺของเขา แล้วกิจการงานอื่น ๆ ก็จะถูกสอบสวนในทำนองนี้" (เป็นหะดีษที่เศาะฮีหฺ บันทึกโดยอันนะสาอีย์)

รายงานจากท่านญาบิรฺ(D) กล่าวว่าได้ยินท่านนบี(J) กล่าวความว่า “แท้จริงสิ่งที่แยกแยะระหว่างชายคนหนึ่งกับการตั้งภาคี และการปฏิเสธต่ออัลลอฮฺนั้นคือการขาดละหมาด” (บันทึกโดยมุสลิม)

มีรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ(D) กล่าวว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ(J) เคยกล่าวความว่า“ผู้ใดที่ทำวุฎูอฺที่บ้านของเขาหลังจากนั้น เดินออกจากบ้านเพื่อไปมัสญิดเพื่อไปละหมาดห้าเวลาที่อัลลอฮฺ ได้บัญญัติไว้ ในทุกๆ ย่างก้าวของสองเท้าเขานั้น ก้าวหนึ่งเขาจะได้รับการลดความผิดหนึ่งความผิด และอีกก้าวหนึ่งเขาจะได้รับการเพิ่มชั้นในสวรรค์” (บันทึกโดยมุสลิม : 666)

ศรัทธาชนผู้ร่วมละหมาดญุมอัต رحم كم الله ،

สิ่งที่ทำให้เกิดการคุชูอฺ(นอบน้อมสงบเสงี่ยม)ในละหมาดนั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยประการต่างๆ เหล่านี้ เช่น
1.ความเอาใจใส่กับการละหมาดอยู่ตลอดเวลา
2.ความเข้าใจความหมายที่รู้สึกได้กับสิ่งที่ได้อ่าน ได้ฟัง
3.ความรู้สึกสำนึกถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากมีสองสิ่งดังกล่าวก่อน
4.ความรู้สึกยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซึ่งจะมีระดับสูงกว่าการสำนึกถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ
5.ความหวังที่อยากจะได้รับผลบุญจากอัลลอฮฺ

สำหรับผู้ศรัทธาจะต้องไม่ยืนอยู่บนความพึงพอใจหากความรู้ศาสนายังมีไม่เพียงพอ ผู้ศรัทธาจะต้องอยู่ไม่เป็นสุขหากการละหมาดยังไม่ได้รับการปฏิบัติ เป็นฟัรฎูอัยน์หรือหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องแสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่และแสดงความรับผิดชอบด้วยตัวเองอย่างเต็มความสำนึกเพื่อดำรงตนเป็นบ่าวผู้ภักดีต่ออัลลอฮฺ และสำหรับผู้ที่อยู่ด้วยกันไม่ว่าในฐานะใดก็ตาม ก็จะต้องหมั่นให้การตักเตือนทุกครั้งเมื่อถึงเวลา เพราะนั่นเป็นทางเดียวที่ได้รับการระบุไว้ในอัลกุรอานความว่า “และจงตักเตือนเถิด เพราะแท้จริงการตักเตือนนั้นจะให้ประโยชน์แก่บรรดาผู้ศรัทธา” อัซซารียาต:55

ศรัทธาชนผู้ร่วมละหมาดญุมอัต رحم كم الله ،
จงอย่าหยุดเพียรพยายามเพราะเมื่อใดที่เราหยุด ชัยฏอนก็จะครอบงำ และประกาศชัยชนะเหนือชีวิตเราทันที จงดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชนะชัยฎอน และอารมณ์ใฝ่ต่ำให้จงได้
กุญแจความรู้คือการถามและการฟัง
กุญแจความสำเร็จคือการอดทน
กุญแจเพิ่มพูนปัจจัยคือการรู้จักพอ
กุญแจความปลอดภัยดุนยาและอาคีรัตคือการยำเกรง(ตักวา)
กุญแจความตอบรับคือการดุอา
กุญแจการละเมิดคือความหยิ่งยะโส
กุญแจละหมาดคือการทำความสะอาด
กุญแจฮัจญ์คือการครองอิฮรอม
กุญแจความดีคือการยึดมั่นในสัจธรรม และ
กุญแจสวนสวรรค์คือการละหมาด
"โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์และจากลูกหลานของข้าพระองค์เป็นผู้ดำรงการละหมาด โอ้พระเจ้าของเรา ขอพระองค์ทรงตอบรับการวิงวอนของข้าพระองค์ด้วยอามีน" (อิบรอฮีม 40)

1 comment:

  1. Siapa akan dipertanggung jawabkan dalam hal ini?

    ReplyDelete

ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda