13 June 2011

คู่มือการเลือกตั้งในประเทศมิใช่อิสลาม

โดย นิพล แสงศรี

การเลือกตั้ง

เนื่องจากประชาชนในแต่ละประเทศมีจำนวนมากจนไม่สามารถหาสถานที่และเวลาเหมาะสมในการประชุมหารือกันได้เพื่อบริหารจัดการประเทศและอื่นๆ ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีให้ประชาชนแต่ละคนคัดเลือกตัวแทนขึ้นมา การเลือกตั้งจึงกลายเป็นเครื่องมือสรรหาตัวแทนหรือคณะที่ไว้วางใจได้เพื่อมอบอำนาจให้แก่ตัวแทนหรือคณะไปทำหน้าที่แทนประชาชน ซึ่งในบางประเทศถือว่า การเลือกตั้งตือการที่ประชาชนได้มอบอำนาจทั้งหมดให้ตัวแทนเพื่อปฎิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ขณะที่บางประเทศถือว่าการเลือกตั้งคือ การที่ประชาชนได้มอบอำนาจเพียงบางส่วนให้แก่ตัวแทนเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด

ผลจากกระบวนการเลือกตั้งทำให้ระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกมีประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) รับมอบอำนาจจากประชาชนช่วยกันทำหน้าที่รัฐบาลบริหารจัดการประเทศแทนประชาชน ขณะที่ระบอบสภาที่ปรึกษาชูรอของตะวันออกกลางจะมีสมาชิกสภาที่ปรึกษาชูรอ (’Ahlu al-Shura) รับมอบอำนาจจากประชาชนเพื่อทำหน้าที่รัฐบาลบริหารจัดการประเทศ โดยสมาชิกสภาฯ อาจจะมาจากประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งขึ้นมา หรือในบางประเทศอาจจะมาจากกลุ่มนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มสาขาอื่นๆ ช่วยกันเลือกตั้งขึ้นมาก็ได้ อย่างไรก็ตามบางประเทศพระมหากษัตริย์ หรือเจ้าผู้ครองรัฐ หรือผู้นำยังคงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ แม้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งและถอดถอนคณะรัฐมนตรี หรือแต่งตั้งสภาที่ปรึกษาชูรอก็ตาม (นักวิชาการมีความเห็นต่างกันซึ่งจะไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้)

คุณสมบัติผู้สมควรได้รับการคัดเลือก

การเลือกตั้งใประเทศอิสลามและผู้สมัครเป็นมุสลิม คุณสมบัติของผู้สมควรได้รับการเลือกจะค่อนข้างชัดเจนพอสมควร ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งในประเทศมิใช่อิสลามเนื่องจากบางครั้งผู้สมัครอาจจะไม่ใช่มุสลิม อย่างไรก็ตาม ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิสลามให้ทัศนะว่า คุณสมบัติของสมาชิกสภาฯ ก็เหมือนกับคุณสมบัติคนทำงานทั่วไป กล่าวคือ รู้จักหน้าที่ มีความรับผิดชอบ และมีวิสัยทัศน์ต่อการจัดการปัญหาต่างๆ นอกจากนั้นยังพบคุณสมบัติอื่นๆ อีกได้แก่


-บรรลุนิติภาวะและมีสติปัญา (al-Taklif)

กล่าวคือ มีความเฉลียวฉลาด หลักแหลม มีความคิดความอ่านที่ดี มีไหวพริบ รู้จักใคร่ครวญ และพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยพื้นฐานสำคัญซึ่งจะทำให้เขาสามารถวางแผน รับมือ และแก้ไขปัญหาได้ หรือทำให้เขาแสดงวิสัยทัศน์ และคิดค้นนโยบายใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการและความหวังของประชาชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สิ่งเหล่านี้สามารถพบได้ในผู้มีปัญญาเท่านั้น อัลกุรอานระบุว่า

))وَتِلْكَ الْأَمْثَالُ نَضْرِبُهَا لِلنَّاسِ وَمَا يَعْقِلُهَا إِلَّا الْعَالِمُونَ(( (العنكبوت : 43)

ความว่า "และอุปมาเหล่านั้นคือสิ่งที่เราได้ยกมันเป็นตัวอย่างเพื่อมนุษยชาติ โดยไม่ทำให้ผู้ใดเกิดปัญญา นอกจากผู้รู้จริงเท่านั้น"

(อัลอังกะบูต : 43)


-มีความรู้และความเชี่ยวชาญ (al-Almu Wa al-Khibtah)

กล่าวคือ มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในสิ่งที่ตนเองกำลังจะรับผิดชอบ และตรงตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง อัลกุรฎูบีย์ กล่าวในหนังสือตัฟซีรอัลกุรฎูบีย์ (เล่ม 4/หน้า 250) ว่า การงานทางโลกสมาชิกสภาฯ จะต้องมีสติปัญญา มีความเชี่ยวชาญ และชอบที่จะให้คำปรึกษาหาทางแก้ไขปํญหาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อัลกุรอานระบุว่า

((فَاسْأَلُوا أَهْلَ الذِّكْرِ إِنْ كُنْتُمْ لَا تَعْلَمُونَ))

ความว่า "ดังนั้นพวกท่านจงถามบรรดาผู้ที่มีความรู้หากพวกท่านไม่รู้"

(อันนะฮฺลุ : 43)


-มีความไว้วางใจได้ (al-’Amanh)

กล่าวคือ ความไว้วางใจถือเป็นของฝากอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะเกิดจากประชาชนมอบอำนาจแก่เขาเพื่อปฎิบัติหน้าที่แทน หรือเขาให้ความหวัง รับปาก และสัญญากับประชาชน โดยทั้ง 2 กรณีเป็นหน้าที่และของฝากที่เขาจะต้องมอบคืนแก่ประชาชนด้วยความซื่อสัตย์และสุจริต ดังอัลกุรอานระบุว่า

))إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُكُمْ أَنْ تُؤَدُّوا الْأَمَانَاتِ إِلَى أَهْلِهَا وَإِذَا حَكَمْتُمْ بَيْنَ النَّاسِ أَنْ تَحْكُمُوا بِالْعَدْلِ إِنَّ اللَّهَ نِعِمَّا يَعِظُكُمْ بِهِ إِنَّ اللَّهَ كَانَ سَمِيعاً بَصِيراً(( (النساء : 58)

ความว่า "แท้จริงอัลลอฮฺทรงใช้พวกท่านให้คืนของบรรดาของฝากแก่เจ้าของของมัน

และเมื่อพวกท่านได้ทำหน้าที่ตัดสินระหว่างผู้คน พวกท่านจะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม

แท้จริงอัลลอฮฺทรงแนะนำพวกท่านในสิ่งที่ดีจริงๆเท่านั้น แท้จริงอัลลอฮฺทรงเป็นผู้ได้ยินและเป็นผู้ทรงเห็น"

(อันนิซาอฺ : 58)


-มีความเป็นธรรม (al-‘Adalah)

กล่าวคือ แม้ความยุติธรรมระหว่างประชาชนจะถูกกล่าวถึงหลังการได้รับความไว้วางใจจากประชาชน แต่ความยุติธรรมในเรื่องต่างๆก็คือสิ่งที่ประชาชนคาดหวังมากจากตัวเขา โดยเฉพาะหลังเขาได้รับมอบอำนาจจากประชาชนให้ปกครองแทน (ในอายะฮฺข้างต้น) ดังนั้นการเลือกปฎิบัติสองมาตรฐาน และการเลือกที่รักมักที่ชัง จึงถือเป็นการบ่อนทำลายภาพลักษณ์ความเป็นธรรมของตนเอง และก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มและสังคมตามมา อัลกุรอานระบุว่า

))يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُونُوا قَوَّامِينَ لِلَّهِ شُهَدَاءَ بِالْقِسْطِ وَلا يَجْرِمَنَّكُمْ شَنَآنُ قَوْمٍ عَلَى أَلَّا تَعْدِلُوا اعْدِلُوا هُوَ أَقْرَبُ لِلتَّقْوَى وَاتَّقُوا اللَّهَ إِنَّ اللَّهَ خَبِيرٌ بِمَا تَعْمَلُونَ(( (المائدة : 8)

ความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกท่านจงปฎิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลลอฮฺ เป็นพยานรู้เห็นด้วยความเที่ยงธรรม

และพวกท่านจงอย่าทำให้ความเกลียดชังกับพวกหนึ่งพวกใดทำให้พวกท่านไม่ให้ความเป็นธรรม

พวกท่านจงให้ความยุติธรรมเถิด เพราะมันคือสิ่งที่ใกล้ชิดกับความยำเกรงต่ออัลลอฮฺยิ่ง

และพวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺแท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วนในสิ่งที่พวกท่านจะกระทำกัน"

(อัลมาอิดะฮฺ : 8)


-มีสัจจะ (al-Sidq)

กล่าวคือ พูดจริงทำจริง เขาจะต้องมีความสามารถกระทำในสิ่งที่ตนเองได้พูด ให้สัญญา และให้ความหวัง โดยเฉพาะเชิงนโยบายต่างๆ ที่โน้มน้าวประชาชนให้เชื่อถือ หากพูดได้แต่ทำไม่ได้ แน่นอนย่อมผลเสียต่อตนเองและสังคมส่วนร่วมซึ่งเขาจะต้องรับผิดชอบ อัลกุรอานกล่าวถึงบุคคลประเภทนี้ว่า

))يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لِمَ تَقُولُونَ مَا لا تَفْعَلُونَ(( (الصف : 2)

ความว่า"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายทำไมพวกท่านจึงพูดในสิ่งที่พวกท่านไม่สามารถทำได้"

(อัศศ็อฟ : 2)

))وَلا تَقْفُ مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ إِنَّ السَّمْعَ وَالْبَصَرَ وَالْفُؤَادَ كُلُّ أُولَئِكَ كَانَ عَنْهُ مَسْؤُولاً(( (الاسراء : 36)

ความว่า"และท่านจงอย่าติดตามในสิ่งที่ท่านไม่มีความรู้ในสิ่งนั้น แท้จริงหู ตา และหัวใจ ทุกสิ่งเหล่านี้จะต้องถูกสอบสวน"

(อัลอิสรออฺ : 36)

คุณสมบัติที่กล่าวมาหากค้นพบในตัวผู้สมัครคนใดก็ย่อมสะท้อนให้เห็นถึง ภาวะการเป็นผู้นำและความน่าเชื่อถือของเขา ซึ่งจะทำให้ความฝันของประชาชนมีสิทธิจะเป็นจริง และนำพาประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง


ข้อสรุป

ดังนั้นเมื่อสังคมให้โอกาสกับมุสลิม เขาควรใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่สังคมมุสลิม โดยศึกษาจากคุณสมบัติของผู้สมัครแต่ละคนให้ละเอียดถี่ถ้วน ทั้งจากวิสัยทัศน์ คำพูด พฤติกรรม และนโยบายของผู้สมัครที่มีต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือสามารถเรียนจากอดีต ประวัติ และผลงานของผู้สมัคร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติข้างต้นรวมอยู่ในตัว ข้อสำคัญควรมีทัศนะคติและนโยบายไม่ขัดกับกฎหมายอิสลาม หรือใกล้เคียงหลักการอิสลามมากที่สุด


والله ولي التوفيق وصلى الله وسلم على نبينا محمد وآله وصحبه

No comments:

Post a Comment

ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda