16 June 2010
Bloody Sunday
Click to See more photographsBloody Sunday in photographs
เหตุการณ์ “อาทิตย์แดงเดือด” (Bloody Sunday): ความยุติธรรมไม่มีวันหมดอายุ
โดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
แม้จะผ่านไปเกือบ 40 ปี ประชาชนชาวไอร์แลนด์เหนือไม่มีวันลืมเหตุการณ์สังหารหมู่ที่รัฐบาลอังกฤษกระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากเลือกจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลอย่างยืดเยื้อในอีกสามทศวรรษต่อมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,500 คน แต่ในรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงครั้งใหม่ที่กำลังมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ พวกเขาคงได้เห็นความยุติธรรมที่รอคอย รวมทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างสันติด้วยความเหี้ยมโหด
Bloody Sunday เกิดขึ้นเมื่อปี 2515 เป็นเหตุการณ์ที่ทหารของรัฐบาลอังกฤษสังหารพลเรือนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีการยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม 27 คน เป็นเหตุให้ 13 คนเสียชีวิตทันที อีกหนึ่งคนเสียชีวิตอีกสี่เดือนกว่าถัดมา (ซึ่งนับว่าน้อย ถ้าเทียบกับความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของพลเรือนผู้เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ช่วงเดือนเม.ย.กับ พ.ค.ที่ผ่านมา)
ในวันที่ 30 มกราคม 2515 กลุ่มสิทธิมนุษยชนในไอร์แลนด์เหนือ (Civil Rights Association) ได้ขัดขืนคำสั่งห้ามของรัฐบาล และประกาศเดินขบวนชุมนุมโดยสันติและไม่มีการติดอาวุธ ในเขต Bogside ของเมือง Londonderry หรือ Derry ซึ่งเป็นเมืองใหญ่สุดเป็นอันดับสองของไอร์แลนด์เหนือ (ทำให้เหตุการณ์นี้มีอีกชื่อว่า Bogside Massacre) โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณหนึ่งหมื่นคน แต่ปรากฏว่าทหารหน่วยพลร่มของอังกฤษตัดสินใจใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งต่อมาพบว่าผู้เสียชีวิตไม่มีอาวุธเลย และเป็นผู้ชายทั้งสิ้น 13 คน ในจำนวนนี้เป็นวัยรุ่นเจ็ดคน
การเดินขบวนเป็นการประท้วงชาวคาทอลิกต่อนโยบายจับกุมโดยไม่มีการตั้งข้อหาและไม่มีสิทธิอุทธรณ์ทางต่อศาล หรือที่เรียกว่า “internment” ซึ่งเป็นมาตรการที่ทางการอังกฤษนำมาใช้ตั้งแต่หนึ่งปีก่อนหน้านั้น โดยอ้างว่าเพื่อค้นหาและจับกุมผู้นำกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาล เป็นเวลานับร้อยปีที่ชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์พยายามต่อต้านระบอบปกครองของอังกฤษ เนื่องจากถูกกดขี่ ข่มเหง และมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ผลจากการปราบปรามพลเรือนอย่างเลือดเย็นในครั้งนั้น ทำให้ประชาชนในไอร์แลนด์เหนือจำนวนมากตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่ม Irish Republican Army (IRA) ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐบาล และทำให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่าง IRA กับรัฐบาลอังกฤษและกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนรัฐบาลอังกฤษ (unionists) สงครามกลางเมืองยืดเยื้อมาถึงสามทศวรรษ และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,500 คน เฉพาะปี 2515 เหตุการณ์สังหารเอาชีวิตผู้คนได้พุ่งขึ้นถึง 500 ศพ ซึ่งนับว่าเลวร้ายสุดในรอบสามทศวรรษ
มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง (คล้ายๆ กับคณะกรรมการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์แต่ตั้งและนำโดยนายคณิต ณ นคร) ถึงสองครั้ง ครั้งแรกว่ากันว่าเป็นความพยายาม “ฟอก” รัฐบาล (whitewash) โดยมีประธานคือ Baron John Widgery อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเขตอังกฤษและเวลส์ (Lord Chief Justice of England and Wales) แต่ถึงอย่างนั้น ข้อสรุปที่ได้ก็ชัดเจนว่าเป็นการยิงในลักษณะที่ “น่าจะเข้าใกล้การยิงแบบไม่เลือกเป้า” ("bordered on the reckless")
เมื่อมีการลงนามในสัญญาสันติภาพเมื่อปี 2541 (Good Friday Agreement) รัฐบาลนายโทนี่ แบลร์จากพรรคแรงงานจึงได้รับปากที่จะตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมาอีกชุดเพื่อรื้อฟื้นการพิจารณากรณีนี้อีกครั้ง เขาบอกในช่วงการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่ด้วยว่า คนที่ตายต้องถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ตรงกับข้อกล่าวหาใดๆ ที่ว่าพวกเขาถูกยิงขณะที่ถืออาวุธปืนหรือระเบิดตะปู (nail bomb)
คณะกรรมการไต่สวนชุดใหม่นี้ที่นำโดย Lord Mark Saville ใช้เวลาเสาะหาข้อเท็จจริงอีก 12 ปี ใช้งบประมาณไปกว่า 190 ล้านปอนด์ (เก้าพันกว่าล้านบาท) มีการสอบปากคำพยานกว่า 900 ปาก และมีการรับถ้อยแถลงเพื่อให้การจากประชาชนอีก 2,500 คน และเพิ่งมีการส่งมอบรายงานหนา 500 หน้าให้นายกฯ คนใหม่ คือนายเดวิด คาเมรอน จากพรรคอนุรักษ์นิยมไปเมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิ.ย.นี้เอง
รายงานฉบับนี้จะเปิดเผยอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะในวันอังคารที่ 15 มิ.ย. 2553
ในบรรดาพยานผู้ให้ปากคำประกอบด้วยนาย Martin McGuinness ผู้ช่วยรัฐมนตรี (Deputy First Minister) ของรัฐบาลไอร์แลนด์เหนือ เขายอมรับว่าดำรงตำแหน่งเป็นนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาของกลุ่ม IRA ที่เมือง Londonderry ตอนที่เกิดเหตุ
“พลเมืองที่เมือง Derry ทั้งชายและหญิง ต้องการให้ลอร์ดเซวิลล์ทำข้อมูลให้ประจักษ์ชัดว่า ทั้ง 27 คนที่ถูกยิงในวันนั้น ต่างถูกฆาตกรรมและทำร้ายจนบาดเจ็บ พวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นจนบาดเจ็บล้มตายต้องเป็นฝ่ายผู้กระทำผิด” เขากล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ในทำนองเดียวกับการอ้างความชอบธรรมของรัฐบาลไทยต่อการปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง รัฐบาลอังกฤษในขณะนั้นที่นำโดยนายวิลเลียม เฮก (William Hague) จากพรรคอนุรักษ์นิยมอ้างว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้ทั้งอาวุธปืนและระเบิด ทำให้รัฐบาลต้องสั่งการให้ทหารใช้อาวุธเพื่อปราบปราม
เหตุการณ์ “อาทิตย์แดงเดือด” นับเป็นเหตุการณ์ที่ทหารรัฐบาลอังกฤษสังหารพลเรือนจำนวนมากสุดในประวัติศาสตร์ นับแต่การสังหารหมู่ปีเตอร์ลู (Peterloo massacre) ที่เมืองแมนเชสเตอร์เมื่อ 150 ปีก่อนหน้านั้น ในครั้งนั้นมีพลเรือนเสียชีวิต 15 คน (แสดงว่าทหารอังกฤษเขาไม่ได้มีไว้ยิงประชาชนของตนเอง - ผู้เขียน)
คาดว่าในรายงานของ Lord Seville จะมีการระบุชื่อนายทหารที่เป็นคนลั่นไก และน่าจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป แม้เหตุการณ์จะผ่านไปเกือบ 40 ปี
คงเป็นอุทาหรณ์สำหรับรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่า ความยุติธรรมไม่มีวันหมดอายุ !!!
ดูฉบับภาษาอังกฤษ read more in English
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment
ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda