12 November 2010
ผลวิจัยปี 52 พบคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 94 นาทีต่อวัน
จุฬาฯ 12 พ.ย.- คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ ทีเคปาร์ค เผยผลวิจัยการอ่านของคนไทยปี 2552 พบว่าเฉลี่ยอ่าน 94 นาทีต่อวัน เป็นเด็กและเยาวชน อาชีพข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ อ่านมากที่สุด ขณะที่อายุ 49 ปีขึ้นไป อาชีพภิกษุ แม่บ้าน ทหารเกณฑ์ อ่านน้อยที่สุด ด้าน "สมพงษ์ จิตระดับ" ระบุผลวิจัยนี้ตอบโต้ข้อมูลเดิมระบุคนไทยอ่าน 8 บรรทัดต่อปี
รศ.ดร.วรรณี แกมเกตุ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัยและคณะ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง "การศึกษาสถานการณ์การอ่านและดัชนีการอ่านของคนไทยปี 2552" จัดโดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคปาร์ค) ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ พบว่า สถานการณ์การอ่านของคนไทย จากการวิเคราะห์สอบถามกลุ่มตัวอย่าง 5,865 คน และการจัดประชุมกลุ่มย่อย 156 คน และศึกษากรณีผู้ที่มีนิสัยการอ่านสุดโต่งทั้งกลุ่มที่ชอบอ่านและไม่ชอบอ่านอีก 191 คน ครอบคลุม 13 จังหวัด ทุกภูมิภาคของไทยพบสถิติสะท้อนพฤติกรรมการอ่านของคนไทยระบุว่า คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 94 นาทีต่อวัน โดยเด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างในการอ่านมากที่สุด ขณะที่คนอายุ 49 ปีขึ้นไป ใช้เวลาว่างอ่านน้อยที่สุด อาชีพข้าราชการใช้เวลาว่างอ่านหนังสือมากที่สุด ส่วนอาชีพอื่นๆ เช่น ภิกษุ แม่บ้าน ทหารเกณฑ์ใช้เวลาว่างอ่านน้อยที่สุด ด้านที่ตั้งของถิ่นที่อยู่ที่แตกต่างกันพบว่า ผู้ที่อยู่ในเขตเมืองมีดัชนีการอ่านที่มากกว่าผู้ที่อยู่ในเขตนอกเมือง ส่วนเด็กและเยาวชนที่ไม่อ่านหนังสือมีสาเหตุจากความขี้เกียจ แม้จะมีหนังสือสถานที่ให้อ่านก็ไม่อยากอ่าน
รายละเอียดของกลุ่มตัวอย่างบางส่วนที่ไม่ได้อ่านหนังสือเลย จนถึงอ่านทุกวัน โดยเฉลี่ยอ่านประมาณ 4 วันต่อสัปดาห์ ที่อายุน้อย
กว่า 20 ปีอ่านน้อยที่สุด เฉลี่ยประมาณ 3-4 วันต่อสัปดาห์ การศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีอ่านมากที่สุดเฉลี่ยประมาณ 5-6 วันต่อสัปดาห์ ส่วนระดับประถมศึกษาน้อยที่สุดเฉลี่ยประมาณ 3-4 วันต่อสัปดาห์ อาชีพรับราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและเอกชน มีจำนวนเรื่องที่อ่านใน 1 สัปดาห์มากที่สุดเฉลี่ยประมาณ 5 วันต่อสัปดาห์ ส่วนอาชีพ รับจ้าง และเกษตรกรน้อยที่สุดเฉลี่ยประมาณ 3 วันต่อสัปดาห์
กลุ่มตัวอย่างใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ยต่อวันอยู่ระหว่าง 0-18 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉลี่ยประมาณ 1.568 ชั่วโมงต่อวัน หรือประมาณ 94นาทีต่อวัน อายุน้อยกว่า 20 ปีมีเวลาในการอ่านเฉลี่ยต่อวันมากที่สุดเฉลี่ยประมาณ 115 นาทีต่อวัน ส่วนอายุมากกว่า 49 ปีขึ้นไปน้อยที่สุดเฉลี่ยประมาณ 75 นาทีต่อวัน การศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีมีเวลาในการอ่านเฉลี่ยต่อวันมากที่สุดเฉลี่ยประมาณ 116 นาทีต่อวัน ส่วนระดับประถมศึกษาน้อยที่สุดเฉลี่ยประมาณ 76 นาทีต่อวัน อาชีพนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ว่างงานมีเวลาในการอ่านเฉลี่ยต่อวันมากที่สุดเฉลี่ยประมาณ 113 นาทีต่อวัน ส่วนอาชีพ รับจ้าง และเกษตรกรน้อยที่สุดเฉลี่ยประมาณ 66 นาทีต่อวัน
ค่าใช้จ่ายการอ่านมีตั้งแต่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการอ่านเลย จนถึง 9,010 บาท โดยเฉลี่ยประมาณ 523 บาท แยกเป็น อายุ 20-29 ปีมีค่าใช้จ่ายในการอ่านต่อเดือนมากที่สุดเฉลี่ยประมาณ 589 บาท ส่วนอายุมากกว่า 49 ปีขึ้นไปน้อยที่สุดเฉลี่ยประมาณ 426 บาท การศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีมีค่าใช้จ่ายในการอ่านต่อเดือนมากที่สุดเฉลี่ยประมาณ 1,015 บาท ส่วนระดับประถมศึกษาน้อยที่สุดเฉลี่ย 287 บาท อาชีพรับราชการมีค่าใช้จ่ายในการอ่านต่อเดือนมากที่สุดเฉลี่ยประมาณ 670 บาท ส่วนอาชีพ รับจ้าง และเกษตรกรน้อยที่สุดเฉลี่ยประมาณ 301 บาท
เมื่อพิจารณาถึงการอ่านคล่องหรือไม่พบว่า อายุมากกว่า 49 ปีขึ้นไปมีความคล่องแคล่วในการอ่านน้อยที่สุด การศึกษาระดับประถมมีความคล่องแคล่วในการอ่านน้อยที่สุด อาชีพ รับจ้าง เกษตรกร ภิกษุ แม่บ้าน และทหารเกณฑ์มีความคล่องแคล่วในการอ่านน้อยที่สุด
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงผลการวิจัยครั้งนี้ว่า ผลวิจัยที่พบว่าการอ่านของคนไทยต่อวัน 94 นาที เป็นประโยชน์และท้าทายและตอบโต้ข้อมูลเดิมที่มีข้อมูลว่าคนไทยอ่านเฉลี่ย 8 บรรทัดต่อปี ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่การกระตุ้นเชิงนโยบาย ถ้าปีต่อไปทำงานวิจัยนี้ต่อ แต่เน้นเชิงคุณภาพและรายละเอียดมากกว่านี้ เราจะได้สถานการณ์การอ่านของคนไทยที่ชัดเจนขึ้น เช่น ความสามารถอ่านคล่องหรือไม่คล่องจะสะท้อนถึงนโยบายการเรียนการสอน.-สำนักข่าวไทย
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment
ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda