22 December 2010

เอแบคโพลล์ เผยนักเรียนนักศึกษา จากป. 5 ถึงปริญญาเอกดื่มเหล้า 3,631,706 คน สูบบุหรี่ 1 ล้านคน

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจต่อเนื่องภายใต้โครงการวิจัยเพื่อเฝ้าระวังรักษาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนไทย เรื่อง ประมาณการตัวเลขนักเรียน นักศึกษาผู้ใช้ยาเสพติด จากตัวอย่างนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ (ป.) 5 ถึงนักศึกษาปริญญาเอกทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 21,572 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-21 ธันวาคม 2553 ผลวิจัยพบว่า นักเรียนนักศึกษาชายมีสัดส่วนของคนที่สูบบุหรี่และดื่มเหล้าสูงกว่านักเรียนนักศึกษาหญิง คือร้อยละ 15.8 ต่อร้อยละ 5.1 สูบบุหรี่ และร้อยละ 33.8 ต่อร้อยละ 27.9 ดื่มเหล้า เมื่อทำการประมาณการจำนวนตัวเลขนักเรียน/นักศึกษาที่ดื่มเหล้าจากกลุ่มเป้าหมาย 9,240,981 คน พบว่ามีนักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ป.5 ถึงปริญญาเอกดื่มเหล้า 3,631,706 คน และสูบบุหรี่ 1,090,436 คน แต่ที่น่าเป็นห่วงต่อคุณภาพเด็กและเยาวชนของประเทศคือ จำนวนเด็กนักเรียน/นักศึกษาตั้งแต่ป. 5 จนถึงปริญญาเอกที่ใช้ยาเสพติด ไม่นับรวมเหล้าบุหรี่ ยานอนหลับ ไม่นับรวมยาแก้ปวด พบว่า มีนักเรียนนักศึกษาที่ใช้ยาเสพติด 711,556 คน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อจำแนกตามประเภทตัวยาเสพติดที่ใช้กันในกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาตั้งแต่ป. 5 ถึงปริญญาเอก พบว่า มีจำนวน 316,110 ใช้กัญชา อีก 298,480 คน ใช้กระท่อม ใช้สาระระเหย 214,020 คน ใช้ยาบ้า 148,010 คน สี่คูณร้อย 134,480คน ยาไอซ์ 100,040 คน ยาอี อ็กซ์ตาซี ยาเลิฟ 63,550 คน และใช้ยาเค เคตามีน 53,300 คน ที่เหลืออีก 65,880 คน ใช้ยาเสพติดอื่นๆ เช่น เฮโรอีน มอร์ฟีน โคเคน เป็นต้น ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ผลการใช้หลักสถิติวิจัยพบว่า นักเรียน/นักศึกษาตั้งแต่ป. 5 จนถึงปริญญาเอก ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดสูงกว่าเด็กนักเรียน นักศึกษาที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 9 เท่า หรือ 9.052 เท่า และเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ดื่มเหล้ามีโอกาสเข้าไปใช้ยาเสพติดสูงกว่าเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ไม่ดื่มสูงถึง 4 เท่า หรือ 4.413 เท่า นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้ทำการสำรวจกลุ่มข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับ รองผู้กำกับและสารวัตรหัวหน้าสถานีตำรวจจำนวน 612 แห่งทั่วประเทศ พบว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.0 บอกว่า อาวุธของขบวนการค้ายาเสพติดมีประสิทธิภาพมากกว่า อาวุธประจำกายของตำรวจ ในขณะที่ร้อยละ 31.0 ระบุว่า อาวุธประจำกายของตำรวจมีประสิทธิภาพมากกว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ถ้าตำรวจประสบเหตุต่อสู้กับขบวนการค้ายาเสพติด ร้อยละ 34.4 ระบุมีปัญหาประสานงานล่าช้าจากทหารในการเข้าถึงที่เกิดเหตุ ในขณะที่ร้อยละ 32.6 ระบุมีการประสานงานล่าช้าในการเข้าถึงที่เกิดเหตุจากฝ่ายปกครอง ในขณะที่ร้อยละ 11.1 ระบุมีปัญหาประสานงานล่าช้าเข้าถึงที่เกิดเหตุจากทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายปกครอง และร้อยละ 21.9 ไม่คิดเช่นนั้น สำหรับข้อเสนอแนะพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.1 ระบุงบประมาณในการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด รองลงมาคือ ร้อยละ 39.1 ระบุอุปกรณ์การตรวจสารเสพติด อาวุธประจำกาย ร้อยละ 14.9 ระบุความทันสมัยของเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ร้อยละ 13.5 ระบุการเลื่อนขั้น เพิ่มสวัสดิการ รองๆ ลงไปคือ การปรับปรุงกฎหมาย สนับสนุนการปราบปรามยาเสพติดมากขึ้น เพิ่มความรวดเร็วเมื่อประสบเหตุ และกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่จากฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง ยานพาหนะ ค่าน้ำมัน การอบรมด้านการใช้อาวุธ ให้ความสำคัญเด็ดขาดกับผู้ค้ายาเสพติด และวางนโยบายหลักในการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติดอย่างจริงจัง เป็นต้น ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชนกล่าวว่า “รั้วโรงเรียน” ตามแนวนโยบายของรัฐบาลอาจได้รับความพึงพอใจตามความรู้สึกของสาธารณชน แต่ในข้อเท็จจริงที่ปรากฏของผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า รั้วโรงเรียนยังมีปัญหาเพราะปัญหายาเสพติดในกลุ่มนักเรียนนักศึกษายังมีให้ปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก และการทำงานเชื่อมประสานกันระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็มีปัญหา มีช่องว่างเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ วัสดุอุปกรณ์ อาวุธประจำกายของเจ้าหน้าที่ก็ได้รับการยืนยันจากผู้ปฏิบัติว่าด้อยประสิทธิภาพกว่าอาวุธของขบวนการค้ายาเสพติด การเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงไปถึงมือผู้ใต้บังคับบัญชาต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นว่า พวกเขาที่เสี่ยงภัยในพื้นที่เหล่านั้นได้รับเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่ตกค้างในมือของผู้บังคับบัญชาระดับสูง “ดังนั้น รัฐบาลและกลไกของรัฐในทุกระดับต้องกระชับลดช่องว่างในการปฏิบัติการตามแนวนโยบายโดยในระยะสั้นน่าจะเร่งสนับสนุนการทำงานเต็มรูปแบบไปยังสถานีตำรวจทุกสถานีให้พร้อมรองรับการร้องเรียนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อ “เคลียร์” ให้จบในระดับพื้นที่ไม่ปล่อยให้ลุกลามบานปลาย เพราะปัญหายาเสพติดมันเกินขอบเขตความสามารถของผู้บริหารสถาบันการศึกษาจะแก้ไขได้เพียงลำพัง สุดท้าย รัฐบาลน่าจะลองพิจารณาให้การสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมทำหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานของรัฐอย่างเข้มข้นอีกชั้นหนึ่ง” ดร.นพดลกล่าว จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 58.1 เป็นชาย ร้อยละ 41.9 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 38.1 อายุต่ำกว่า 15 ปี ร้อยละ 42.7 อายุระหว่าง 15-20 ปี ร้อยละ 10.2 อายุระหว่าง 21-25 ปี และร้อยละ 9.0 อายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 21.2 กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 33.8 กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ร้อยละ 13.0 กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวช. ร้อยละ 11.8 กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ร้อยละ 9.8 กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี และร้อยละ 10.4 กำลังศึกษาอยู่ในระดับสูงกว่าปริญญาตรี source:Matichon online

No comments:

Post a Comment

ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda