21 March 2011
นโยบายสาธารณะของไทย: ต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร
โดย ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา
ความจริงคิดเรื่องการเงินท้องถิ่นมาพักหนึ่งแล้ว โดยคิดว่าปัญหาของท้องถิ่นตอนนี้ได้เงินฟรีจากรัฐบาลที่มาจากภาษีของคนทั่วไป ไม่
ได้เกิดจากคนในท้องถิ่นโดยตรง ดังนั้นจึงคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบของการใช้เงินและการตรจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Account Ability) เพราะขณะนี้การตรวจสอบมีความเบาบางและแผ่วบางมาก
ขณะนี้ระบบราชการไทยมีเรื่องนี้อยู่น้อย โดยเฉพาะในรัฐบาลของคุณทักษิณ ชินวัตร แม้ในช่วงนั้นคุณทักษิณจะทำให้เกิดคำว่า ประชาธิปไตยกินได้ แต่ก็ยังขาดการตรวจสอบอยู่ ซึ่งการแก้ไขปัญหาตรงนี้ผมอยากให้นำรายได้จากภาษีทรัพย์สินและปลูกสร้างทั้งหมดยื่นให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ดูแล โดยให้มีการเก็บภาษีออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.เก็บจากการประเมินราคา 2.เก็บจากกำหนดอัตราการประเมิน และ 3.เก็บจากการเดินไปเก็บกับประชาชนหรือการเรียกเก็บ
ส่วนตัวอยากให้รัฐบาลกลางดูแลเรื่องการเก็บจากการประเมินและการเก็บแบบเรียกเก็บ เพราะหากดูจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นใน กทม.แล้วจะมีพฤติกรรมแบบเกาหลังกันไปกันไปมา คนอยู่ในกทม.ก็จะจ่ายเงินให้กับคนที่มาประเมินที่มันเกิดการซูเอี๋ยกัน คล้ายๆ กับว่า มีความทับซ้อนกันของผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ดังนั้นควรให้คนเก็บและคนประเมินเป็นหน่วยงานอิสระที่ลดความทับซ้อนของผลประโยชน์เสีย โดยอปท.จะต้องกำหนดอัตราใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ เช่น พื้นที่ กทม. คนรวยมากไม่ควรเก็บภาษีได้ต่ำ เป็นต้น
รัฐบาลควรมีมาตราการแรงจูงใจว่า หากท้องถิ่นใดมีความพยายามในการจัดเก็บได้ดี รัฐบาลก็จะแถมให้ โดยหลักการอยากจะเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถปกครองตนเอง ทั้งนี้อปท.จะต้องแลกเปลี่ยนกับประชาชนของเขาว่า จะสร้างภาระให้กับประชาชนมากน้อยแค่ไหนและอปท.จะทำงานอะไรให้กับคนในท้องที่และเพื่ออะไร ถือเป็นการแลกเปลี่ยนในพื้นที่ เพราะคนเขาใกล้ชิดกันมากกว่าส่วนกลาง
นอกจากนี้ยังเห็นว่า เรื่องครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญมากเรื่องหนึ่งที่อยากจะพูดและอยากให้นักวิชาการศึกษาเรื่องครอบครัวให้มากและขอเน้นคำว่า “ครอบครัว” ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ก็เริ่มการศึกษาวิจัยจากครอบครัว แต่กลับมีงานวิจัยเรื่องนี้อย่างจำกัด โดยปัจจุบันเราบ่นกันมากว่า สังคมไทยเป็นสังคมปัจเจกนิยมมากขึ้น ต้องขอออกตัวว่า ครั้งนี้ไม่มีข้อเสนอเชิงนโยบาย แต่มีคำถามที่อยากให้คิด
“ครอบครัว” ถือเป็นชุมชนเล็กๆ ที่สร้างขึ้นโดยสมัครใจหรืออาจจะตัดสินแบบถูกบังคับหรืออะไรก็แล้วแต่ หากมีการศึกษาเรื่องครอบครัวก็จะได้นโยบายอีกหลายอย่างที่รัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้กับครอบครัว โดยทั่วไปสถิติที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดเก็บก็จะเลือกกำหนดการจัดเก็บจากการกำหนดจากครัวเรือนก่อน จากนั้นจึงจะเก็บข้อมูลครอบครัว นั่นเพราะ “ครอบครัว” ถือเป็นจุดรวมของการบริโภค
โดยหลักแล้ว “ครอบครัว” มี “ครัวเรือน” อยู่ในนั้น และนิยามของคนว่า “ครัวเรือน” หมายความว่า “คนกินข้าวหม้อเดียวกัน” นั่นจึงเป็นจุดศูนย์รวมของการบริโภคที่มีการแบ่งปันหรือการแชร์กัน ที่เห็นชัดที่สุด คือการแชร์ที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ในสมัยก่อนครัวเรือนก็ถือเป็นจุดศูนย์รวมของเกษตรกรรม เพราะการทำเกษตรใช้แรงงานในครอบครัวเป็นเกษตรแบบครัวเรือน มี พ่อ แม่และลูก แต่ขณะนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว มีการจ้างแรงงานนอกครัวเรือนเข้ามาทำงานแทน เพราะลูกไปทำงานต่างจังหวัด
นอกจากภาคเกษตรกรรมแล้ว หากเราเดินไปร้านโชว์ห่วยต่างๆ เราก็จะพบว่า เป็นกิจการของครอบครัวที่มีคนในครอบครัวเป็นทำ ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายถึง “โสภณพานิช” หรือ “ชินวัตร” แต่หมายถึงครอบครัวในฐานะของการทำกิจการหรือทำงานร่วมกันในครัวเรือน เพราะในกิจการเหล่านี้ก็จะเห็นผู้ผ่องถ่ายทรัพย์สินระหว่างรุ่น เพราะจากข้อมูลที่มีเราพบว่า ครอบครัวไทยกำลังจะไปเป็นครอบครัว 3 รุ่นมากขึ้นเรี่อย ๆ
หากเราแบ่งอายุคนออกเป็น 3 ช่วงก็จะพบว่า คนอายุระหว่าง 15-20 ปี จะบริโภคมากกว่าผลิต อายุระหว่าง 20-60 ก็จะเป็นผู้ผลิตมากกว่าบริโภค จากนั้นก็จะกลับมาบริโภคมากกว่าผลิตอีก เพราะกำลังหมดแล้ว ดังนั้นทั้ง 3 รุ่นนี้ก็จะมีการผ่องถ่ายกันละกันต่อเนื่อง โดยมีความหวังว่าคนรุ่นกลางจะเป็นผู้สนับสนุนมี อย่างไรก็ตามหากครอบครัวใดมีคนอยู่สามรุ่นด้วยกันก็จะสะดวกด้วยประการทั้งปวง เพราะมีคนแก่ช่วยดูแลหลาน
การที่คนในครอบครัวทำหน้าที่สนับสนุนซึ่งกันและกันก็มีนัยยะทางนโยบาย เพราะถือเป็นระบบ Social Security กันเองในครอบครัว ถือว่าครอบครัวไทยมีระบบนี้ทำงานของมันเองอยู่แล้ว ทุกคนรู้ดี ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยรัฐบาลควรจะใช้หลักนี้เป็นประโยชน์เท่าที่จะเป็นไปได้
แต่ปัญหาใหญ่ของรัฐบาล คือ จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา Moral Passive หรือ การเกิดภาวะประชาชนรอเงินจากรัฐบาลอยู่ฝ่ายเดียว โดยเฉพาะนโยบายการดูแลผู้สูงวัย รัฐบาลควรคิดหาวิธี เพราะการจัดการเรื่องนี้ หากรัฐบาลดูแล แล้วลูกก็จะไม่ดูแล หรือบางรายลูกก็ไม่มีความสามารถดูแล ดังนั้นต้องคิดหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดการซ้อนกันระหว่างความดูแลของรัฐและครอบครัว
ทั้งนี้โครงสร้างของครอบครัวไม่ได้เกิดจากครอบครัวเป็นตัวตั้งอย่างเดียว บางทีเกิดมาจากผลกระทบมาจากนโยบายของรัฐที่มีอยู่โดยตรง ในบางประเทศเมื่อรัฐให้สวัสดิการสังคมแบบสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ก็กลายเป็นว่า ลูกกับคนสูงวัยต้องแยกจากกัน โดยสังคมอเมริกันพ่อแม่ก็จะบอกว่า ถ้าลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วกลับมาอยู่บ้านจะถือว่าล้มเหลวในชีวิต ดังนั้นเขาจะให้ออกไปอยู่ข้างนอก เขาต้องการอย่างนั้นและลูกก็พร้อมทำอย่างนั้นเพราะเห็นว่า พ่อแม่ได้รับเงินจากรัฐอยู่แล้ว ถือเป็นการตัดสินใจร่วมกันว่า จะมีโครงสร้างอย่างนั้น
จึงเป็นคำถามว่า ระบบสวัสดิการทางสังคมที่ผู้สูงอายุได้รับการสนับสนุนจากคนข้างนอกกับสังคมไทยแล้วจะดีหรือไม่ และสังคมไทยควรจะทำอย่างไรที่จะให้ได้ผลดีที่สุด ไม่ได้บอกว่า วิธีนี้ดีที่สุด ส่วนตัวอยากให้ครอบครัวดูแล แต่ก็มีบางครอบครัวที่ลูกทำไม่ได้ ดังนั้นรัฐบาลอาจจะต้องคิดเรื่องนี้ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีเครื่องมือมาบังคับให้คนอยู่ร่วมกันสามรุ่นในครอบครัวเดียวกัน อีกอย่างการอยู่กันสามรุ่นบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป ดังนั้นจึงจะต้องวิเคราะห์ว่าอะไรจะทำได้และอะไรเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาว่า รัฐดูแลมากเกินไป
นอกจากนี้ยังอยากให้ทำการศึกษาเรื่องการเงินในครัวเรือนว่า สามีภรรยาใช้เงินร่วมกันอย่างไร เพราะส่วนหนึ่งสามีภรรยาใช้เงินร่วมกัน แต่บางคนก็แยกกระเป๋า โดยการศึกษาแบบนี้อาจจะเป็นการละลาบละล้วงเกินไป เพราะในประเทศญี่ปุ่นเขามีวัฒนธรรมให้ภรรยาเป็นคนถือเงินเกือบทั้งหมดแล้วสามีก็แอบขยักไว้นิดหน่อย เรื่องนี้ท้ายที่สุดจะมีนัยยะต่อนโยบาย
---------------------------------
หมายเหตุ: ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปาฐกถาหัวข้อ “นโยบายสาธารณะของไทย:ต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร” ภายใต้การวิจัยเรื่อง “สองทศวรรษแห่งการพัฒนาของสังคมไทย:นัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ” ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ จัดโดยแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment
ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda