27 April 2011

ศาสนากับ “หน้ากาก”

สุรพศ ทวีศักดิ์ Wed, 2011-04-27 02:05 “ฉันไม่ใช่พุทธศาสนิก ฉันเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง และธรรมะมีไว้เพื่อปกป้องศักดิ์ศรี และจิตวิญญาณอันลึกซึ้งในความเป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องรูปแบบทางวัฒนธรรม หรือทางศาสนาใดๆ โดยเฉพาะ” - เชอเกียม ตรุงปะ – ผม “ถูกใจ” ข้อความข้างบนจากหนังสือ “ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” ของ เชอเกียม ตรุงปะ คุรุทางจิตวิญญาณแห่งโลกสมัยใหม่ในสายธารทางปัญญาของวัชรญาณแบบธิเบต-อเมริกัน หนังสือเล่มดังกล่าว แปลโดย วิจักขณ์ พานิช ชาวพุทธรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองในบทบาทของการพยายามเสนอความไปด้วยกันได้ระหว่างมิติทางจิตวิญญาณและมิติทางสังคมของพุทธศาสนา สิ่งที่ เชอเกียม ตรุงปะ เรียกว่า “จิตวิญญาณ” ไม่ได้หมายถึงของสูงส่ง ของวิเศษสุดเอื้อม ที่เป็นคุณสมบัติเฉพาะของ “อภิมนุษย์” เช่น พระอริยะเจ้า พระอรหันต์ หรือคนที่มุ่งสละชีวิตทางโลก หันหลังให้กับความเป็นไปของสังคม มุ่งปลีกวิเวกหรือปลีกตัวออกไปจากความวุ่นวายทางโลกไปอยู่ในป่าโดยลำพัง หากแต่จิตวิญญาณคือ ธรรมชาติหรือเนื้อแท้ของคนธรรมดาทุกคน และธรรมะก็ไม่ใช่มีไว้เพื่อการอื่นที่นอกเหนือไปจากการปกป้องศักดิ์ศรีและจิตวิญญาณอันลึกซึ้งในความเป็นมนุษย์ธรรมดา ท่านพุทธทาสเคยบอกว่า “ภาษาธรรม” ในพุทธศาสนานั้น เดิมทีเป็นภาษาชาวบ้านธรรมดาๆ เช่น คำว่า “นิพพาน” เป็นภาษาที่คนอินเดียโบราณใช้กันอย่างปกติในชีวิตประจำวัน นิพพานแปลว่า ดับ หรือเย็น เวลาไฟดับชาวบ้านก็ว่าไฟนิพพาน หรือคนๆ นี้ดูอัธยาศัยดีใครอยู่ใกล้ชิดแล้วสบายใจ เย็นใจ อย่างที่มีคนพูดถึงบุคลิกภาพของเจ้าชายสิทธิธัตถะว่า พ่อแม่ที่มีลูกเช่นนี้ก็นิพพาน (เย็นใจ) ภรรยาที่มีสามีเช่นนี้ก็นิพพาน (เย็นใจ) เป็นต้น และเมื่อนิพพานถูกนำมาใช้ในทางศาสนาก็หมายถึง “ความดับทุกข์” หากดับทุกข์ชั่วคราวหรือดับทุกข์เฉพาะเรื่องๆ ไป ก็เรียกว่านิพพานชั่วขณะ หากดับทุกข์ถาวรก็เรียกว่าดับทุกสิ้นเชิง แต่นิพพานไม่ได้มีความหมายว่า เป็นของสูงส่ง หรือของศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้คนเป็นผู้วิเศษ หรือเป็นอภิมนุษย์ที่มีสถานะเหนือมนุษย์มนาธรรมดาทั่วๆ ไป ทว่าต่อมาเมื่อคำว่านิพพานหรือแม้แต่คำว่า “ธรรมะ” ถูกใช้ในศาสนาแบบจารีตประเพณี คำที่เคยใช้กันธรรมดาๆ ก็กลายเป็น “คำศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นมา และแทนที่จะใช้กันเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและจิตวิญญาณในความเป็นมนุษย์ธรรมดา กลับเป็นคำที่สร้าง “มายาคติ” อย่างสลับซับซ้อน พูดภาษาบ้านๆ คือคำว่า “ธรรมะ” กลายเป็นคำที่ใช้สร้าง “หน้ากาก” หลายชั้นมาก จนทุกวันนี้เวลาเราพบบุคคลที่บรรดาสาวกยกย่องว่าเป็นคนปฏิบัติธรรมหรือมีธรรมะสูงส่ง เราไม่แน่ใจว่าเขาสวมหน้ากากอยู่กี่ชั้น หรือจะถอดหน้ากากออกกี่ชั้นถึงจะพบความเป็น “คนธรรมดา” ของเขา ที่แย่ที่สุดคือ พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนเรา แต่พุทธศาสนาแบบจารีตก็ไปสวมหน้ากากให้กับพระองค์จนกลายเป็นอภิมนุษย์ เป็นผู้วิเศษ เป็นสัพพัญญูที่รู้เจนจบจักรวาล รู้โลกนี้ รู้โลกหน้า เป็นสุดยอดนักเศรษฐศาสตร์ สุดยอดนักการเมือง เป็นสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ รู้โลกกลม รู้ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ประมาณว่าไอสไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ ไอสไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น ดาร์วินขยายความ พระพุทธเจ้ารู้แจ้ง ฯลฯ ไปๆ มาๆ เราเลยแยกไม่ออกว่า พระพุทธเจ้ากับ God ต่างกันยังไง ! “พุทธะ” ที่แปลว่าผู้รู้ทุกข์กับความดับทุกข์ และธรรมะซึ่งหมายถึงความจริงเกี่ยวกับทุกข์และความดับทุกข์ของมนุษย์ธรรมดาๆ นั้น ได้ “ถูกปรุงแต่ง” ให้กลายเป็นของวิเศษ และถูกนำมาสร้างมายาคติว่าผู้มีธรรมะคือผู้วิเศษ ตั้งแต่วิเศษระดับธรรมดาๆ คือดีกว่าคนแบบโลกย์ๆ ทั่วไป มีภาพลักษณ์อันน่านิยมในแวดวงดารา ในสังคมชนชั้นกลาง เป็นภาพอุดมคติของนักการเมือง กระทั่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนกลายเป็นเทพ ฯลฯ ธรรมะที่เคยมีความหมายอย่างเรียบง่ายอย่างที่ ติช นัท ฮันห์ นิยามว่า “ธรรมะคือมรรควิถีแห่งความเข้าใจและความรัก” ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ธรรมหรือการปฏิบัติธรรมคือการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจความทุกข์ของตนเองและเพื่อนมนุษย์ เพื่ออยู่ร่วมกันในฐานะ “เพื่อนร่วมทุกข์” ที่เข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันและกันนั้น ได้กลายมาเป็นดาบสำหรับฟาดฟันเพื่อนมนุษย์ เป็นสิ่งแบ่งแยกความแตกต่างในความเป็นคน กระทั่งสนับสนุนความศักดิ์สิทธิ์ของระบบชนชั้น สังเกตไหมครับ การประกาศใช้ “ธรรมนำหน้า” นั้น ธรรมะที่พูดถึงมีความหมายเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” และเป็นเครื่องมือส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ของอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ธรรมะในความหมายนี้จึงไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้อง “ศักดิ์ศรีและจิตวิญญาณอันลึกซึ้งในความเป็นมนุษย์ธรรมดา” หรือไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้อง “ความเป็นคน” ของประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้น ภายใต้วาทกรรม “ธรรมนำหน้า” จึงไม่มี “คน” หรือ “ประชาชน” อยู่ในนั้นเลย ฝ่ายที่เห็นต่างจึงกลายเป็นพวกเฬวราก พวกถ่อย สมุนโจร และหัวหน้าโจรคือ “ปีศาจชาติชั่ว” ที่ไม่มีความเป็นคนเหลืออยู่เลย ตัวอย่างดังกล่าวไม่ใช่ผมพูดเสียดสีนะครับ แต่เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่เห็นได้ชัดมาก และอีกด้านหนึ่งเราก็เห็นอยู่ทุกวันว่า ธรรมะถูกใช้สนับสนุนสถานะของ “ผู้วิเศษ” ต่างๆ ตั้งแต่ผู้วิเศษที่สแกนกรรมออกทีวีทุกวัน เจ้าอาวาสวัดใหญ่เคยทำซีดีอธิบายภพภูมิของพญานาคใต้แม่น้ำโขงเพื่อยืนยันที่มาของบั้งไฟพญานาค ฯลฯ สรุปแล้วศาสนาจารีตประเพณีได้ “แปรรูปธรรมะ” ซึ่งเป็นภาษาชาวบ้านธรรมดาๆ ให้กลายเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” และนำมาสร้าง “มายาคติ” หรือ “ยากล่อมประสาท” สร้างหน้ากากแก่พระพุทธเจ้า หน้ากากของ “ผู้วิเศษ” สร้างความศักดิ์สิทธิ์ทางชนชั้น เป็นต้น จนยากเหลือเกินที่เราจะถอดหน้ากากที่สลับซับซ้อนต่างๆ เหล่านั้น เพื่อให้พบ “ธรรมะธรรมดา” ที่มีความหมายต่อการสร้างมรรควิถีแห่งความเข้าใจทุกข์ของตนเองและของกันและกัน หรือที่มีความหมายส่งเสริมให้เราอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ และเคารพกันและกันในฐานะที่ทุกคนเป็นคนธรรมดาครือๆ กัน ! From:Prachathai.com

No comments:

Post a Comment

ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda