29 April 2011

สื่อตปท.วิเคราะห์สถานการณ์ไทยสู้รบเขมร ชี้กองทัพขัดแย้งรบ.-ยิ่งรบยิ่งเสีย"เพลี่ยงพล้ำฮุน เซน"

สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักได้จับตามองสถานการณ์สู้รบระหว่างไทยและกัมพูชา และวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าว โดย "ดิ อินดิเพนเดนท์" รายงานอ้างการวิเคราะห์ของศาสตราจารย์ดันแคน แม็คคาร์โก้ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยลีดส์ ระบุว่า สถานการณ์พิพาทระหว่างไทยและกัมพูชาขณะนี้เป็นผลมาจากการขัดแย้งระหว่างกองทัพไทย กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักนายกรัฐมนตรี โดยในอดีตที่ผ่านมา กองทัพไทยมักจะถือสิทธิในการดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศเพื่อเดินหน้าไปถึงที่สุด และในสงครามระหว่างกัมพูชาที่ประหลาดและไร้เป้าหมายนี้ กองทัพไทยกำลังพยายามที่จะแสดงตัวว่าเป็นผู้นำผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ และยึดกุมศรัทธาจากประชาชนแทนนักการเมือง อย่างไรก็ตาม ยิ่งความขัดแย้งดำเนินไปมากเท่าไหร่ ไทยก็จะสูญเสียภาพลักษณ์ในสายตาประชาคมโลก และนี่จะกลายเป็นปัญหาปวดหัวสำหรับอาเซียนและสหประชาชาติ แต่หากกองทัพไทยยอมรับว่า นโยบายต่างประเทศควรดำเนินโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเร็วเท่าใด ก็ยิ่งจะดีเท่านั้น ด้าน "อีโคโนมิสต์" วิเคราะห์ว่า บางทีสิ่งเดียวที่จะยุติความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศนี้ได้ก็คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลไกทางการเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของไทย ซึ่งมีการชุมนุมปลุกกระแสรักชาติของกลุ่มชาตินิยมในช่วงการเลือกตั้ง โดยกลุ่มเสื้อเหลืองที่ผ่านมาได้ออกมาชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพมหานคร และแสดงจุดยืนแข็งกร้าวต่อต้านกัมพูชาว่าเป็นพวกรุกรานก้าวร้าว และต้องการให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปลี่ยนแปลงจุดยืนกับกัมพูชา นอกจากนี้ ยังเกิดกระแสร่ำลือด้วยว่า สงครามที่เกิดขึ้นเนื่องจากกองทัพไทยต้องการกลบเกลื่อนวิกฤตภายในประเทศ และเพื่อที่จะเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปออกไป โดยกองทัพเกรงว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ฝ่ายที่จะชนะคือกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ด้านนิตยสารไทมส์ ได้อ้างอิงการวิเคราะห์จากนายจอห์น ซิออร์เซียริ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งสถาบันนโยบายสาธาารณะ เจอรัลด์ อาร์. ฟอร์ด มหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า ในประเทศที่กองทัพต้องการมีบทบาทนำทางการเมือง ก็จำเป็นจะต้องสร้างสถานการณ์ขัดแย้งด้านพิพาทพรมแดนเพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างอิทธิพล และกองทัพไทยมักจะผูกพันกับสถานการณ์ขัดแย้งกับกัมพูชาเพราะมีกลุ่มเสื้อเหลืองเป็นฝ่ายสนับสนุนหลัก โดยที่ผ่านมา กลุ่มการเมืองดังกล่าวเคยใช้ประเด็นความขัดแย้งเรื่องดินแดนกับกัมพูชา มาเป็นข้ออ้างในการชุมนุมเพื่อล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นพันธมิตรกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2008 และขณะนี้สำหรับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชะชีวะ ก็อยู่ในสถานะที่จำเป็นต้องทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีท่าทีสงบลงต่อสถานการณ์การสู้รบกับกัมพูชา และว่า การต่อสู้ที่เกิดขึ้นระหว่างไทยและกัมพูชายังได้ช่วยให้นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา สามารถทำทางคะแนนการเมืองภายในประเทศได้อีกด้วย ขณะที่ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจาย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การที่กองทัพไทยดำเนินบทบาทเดินหน้าในลักษณะเสริมไฟขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยปฎิเสธที่จะยุติสถานการณ์สู้รบเพราะผลประโยชน์ทางการเมืองของกองทัพเอง ยิ่งทำให้ไทยเป็นรองกัมพูชาในสายตาผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ และทำให้นานาชาติพากันมองไทยในด้านลบ

No comments:

Post a Comment

ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda