เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่โรงแรมสยามซิตี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง "องค์กรและกระบวนการปรองดอง หลังการเลือกตั้ง" โดย ฐากูร บุนปาน ผู้จัดการทั่วไป บริษัทมติชนดำเนินรายการ
ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตรา จารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การปรองดองมีหลายแบบ มีคนที่พูดเรื่องการปรองดอง 2 ซีก ซีกหนึ่ง เป็นคนที่พูดเรื่องการ ปรองดองในรูปของการแสดงความจริง ความยุติธรรม และการพร้อมรับผิดแต่อีกซีกหนึ่ง เป็นการพูดถึงความปรองดอง ในความหมายของการพยายามจะลืมอดีต การพยายามจะพูดถึงการให้อภัยในความหมายของการนิรโทษกรรม
ดร.ชัยวัฒน์ยกตัวอย่างจากข้อมูล-ประสบการณ์ การจัดการความปรองดองในต่างประเทศ มีหลายแบบ อาทิ
แบบที่ 1 สนับสนุนให้ลืมความรุนแรงในอดีต แล้วไม่ได้ทำความจริงให้ปรากฏ แต่เกิดการปรองดองขึ้น เช่น แคนาดา เวียดนาม
แบบที่ 2 พูดถึงการปรองดองแล้วต้องจำให้ได้ถึงอดีต ลืมความรุนแรง ไม่ได้ ต้องทำความจริงให้ปรากฏ แต่การปรองดองไม่เกิดก็มี เช่น ประเทศกานาและเปรู
แบบที่ 3 ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการทำความจริงให้ปรากฏ และเน้นหนักการเล่าความเป็นจริง แต่ยิ่งเล่า ยิ่งแย่ ยิ่งเล่ายิ่งเดือดร้อน เช่น รวันดา
แบบที่ 4 ให้ความสำคัญกับการทำความจริงให้ปรากฏ เล่าความเป็นจริง พยายามพูดถึงการให้อภัยและ อื่น ๆ แต่ความยุติธรรมก็ยังไม่ปรากฏ เช่น แอฟริกาใต้
แบบที่ 5 ทำความจริงให้ปรากฏแล้วทำความยุติธรรมให้เริ่มประจักษ์ แล้วในที่สุดเดินไปตามความปรองดองในอุดมคติของใครหลายคนก็มี เช่น อาร์เจนตินา ชิลี
ดร.ชัยวัฒน์สรุปว่า ประเด็นคือความปรองดองมีหลายแบบ แล้วแต่ละอันนำไปสู่ผลที่ไม่เหมือนกันเลย และมีราคาที่ต้องจ่ายสำหรับทุกสังคม คำถามสำคัญคือสังคมพร้อมจะจ่ายหรือไม่
"ปัญหาต่อมาคืออะไรคือตำแหน่งของการปรองดองในสังคมไทย ต้องตอบคำถาม 2 ข้อคือปรองดองระหว่างใครกับใคร อันที่ 2 คือปรองดองระหว่างอะไรกับอะไร ซึ่งใครกับใคร ซึ่งถ้าเป็นระหว่างนักการเมืองในระบบเลือกตั้ง ผมคิดว่าไม่ค่อยน่าห่วง เพราะเขาคงคิดเรื่องนี้พอสมควร อุตส่าห์ลงทุนหาเสียงทุกพรรค คงไม่อยากมีปัญหา"
ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า ปัญหาที่ยุ่งคือ ปรองดองระหว่างอะไรกับอะไร ?
ข้อค้นพบของ "ดร.ชัยวัฒน์" คือ ปัญหาของสังคมไทยมีโจทย์อยู่ตรงที่การพยายามจะปรองดองระหว่าง "พลังทางการเมืองนอกระบอบเลือกตั้ง" กับ "พลังทางการเมืองในระบบเลือกตั้ง" ซึ่งสะท้อนสิ่งที่มันเป็นปัญหาอยู่ในสังคมไทยหลายอย่าง
"ถ้าจะย้อนก็ต้องย้อนไปตั้งแต่ พ.ศ. 2475 น่าสนใจที่เราพูดในวันนี้วันที่ 27 มิ.ย. หรือโจทย์ของการปรองดองของสังคมไทยคือการพยายามจะปรองดองระหว่างสถาบันประเพณี กับสถาบันการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตลอดมา อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของปัญหาการปรองดอง"
"ถ้าเป็นเช่นนี้ ปัญหาการปรองดองไม่ใช่เรื่องปรองดองระหว่างพรรคการเมือง เพราะเมื่อพรรคเข้ามาอยู่ในระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาแบบนี้ ในระบอบที่ต้องพึ่งพากันแบบนี้ ในที่สุดก็คงประนีประนอมหลายเรื่อง แต่มันมีพลังนอกการเมืองเชิงเลือกตั้งอีกมาก"
เพราะฉะนั้นโจทย์ก็คือ ทำอย่างไรจะให้การเมืองนอกระบอบเลือกตั้ง ยอมรับการปรองดองระหว่างพรรคการเมือง
"การปรองดอง เป็นสินค้าสำคัญในตลาดทางการเมืองตอนนี้ แต่การคิดถึงแบรนด์สินค้านี้ยังไง จะขายอย่างไร ในที่สุดรูปของสินค้าจะปรากฏในลักษณะไหน ผมคิดว่า เป็นความท้าทายของสังคมไทย แต่มันไม่มีสูตรสำเร็จหรอกครับ เพราะหน้าที่จะเกิดขึ้นหลังการ เลือกตั้ง ก็เป็นใบหน้าของเรา ทุกคน"
"ในสังคมไทย พลังที่อยู่นอกระบอบการเลือกตั้ง เช่น สื่อมวลชน ภาคธุรกิจ ผมคิดว่า ถ้าพลังเหล่านั้น ผลักสังคมไทยให้ไปในทิศทางที่ทำให้พรรคการเมืองหรือผู้ที่จะมาสู่เวทีการเลือกตั้ง ผู้จะมาเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน ต้องเดินไปในบางทิศทาง สื่อมวลชน เป็นทั้งกระจกและตะเกียง อาจจะมีหน้าที่บอกสังคมว่า ถ้าไม่เอาการปรองดองแล้วทางเลือกคืออะไร อนาคตจะหน้าตาเป็นอย่างไร"
ฉะนั้น สื่อต้องเปิดพื้นที่คิดเรื่องการปรองดองที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่การปรองดองในระดับทำได้ที่ร้านหูฉลาม แค่จัดตั้งรัฐบาล
ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเลือกตั้งที่มีกระบวนการปรองดองมีความสำคัญ เพราะมีความแตกแยกในสังคม ไม่ใช่เพียงแตกแยกทางการเมือง
"ตั้งแต่ปี 2548 เรามีนายกรัฐมนตรีแล้ว 5 คน ผ่านรัฐบาลมาหลายรูปแบบ มีรัฐบาลแต่งตั้ง มีรัฐบาลที่นำโดยขั้วหนึ่งทางการเมืองมา 2 รัฐบาล มีรัฐบาลที่นำโดยอีกขั้วหนึ่งทางการเมืองมา 1 รัฐบาล มีรัฐประหารก็มี เลือกตั้ง ก็มี แต่ผลเหมือนกันคือ มีความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน"
ฉะนั้น การเลือกตั้งที่มีการปรองดองน่าจะทำให้การแตกแยกทางสังคมทุเลาลง และการเข้าสู่การปรองดองต้องเป็นไปโดยองค์กรที่เป็นอิสระ แล้วองค์กรที่เหมาะที่สุด ต้องมีคุณสมบัติ 5 ประการ
1) พอเหมาะพอดีไม่เป็นฝ่ายใดทุกฝ่ายพอรับได้แม้ไม่ได้ชอบที่สุด
2) ต้องมีคุณสมบัติที่ทุกฝ่ายมีความสบายใจที่จะให้องค์กรนั้นเป็นแกนที่จะขับเคลื่อนขบวนการปรองดอง
3) ต้องมีการออกแบบองค์กรให้เหมาะสมที่จะทำหน้าที่นั้นในเวลานั้น เฉพาะกิจเฉพาะการไม่ใช่องค์กรถาวร
4) องค์กรนั้นต้องมีสาระทางวิชาการ ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้
5) องค์กรนั้นต้องเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก ขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียว ถึงแม้เราจะถอนตัวจากนี่นั่นโน่นไปเรื่อย ๆ ก็ตาม แต่เราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในประชาคมโลก
"ผมเห็นว่า คอป.น่าจะเข้าองค์ประกอบทั้ง 5 ข้อ มีความพอเหมาะพอดี ถ้าต้องหาองค์กรใหม่อาจจะเสียเวลาเถียงเรื่องความปรองดอง เสียจนไม่มีความปรองดอง ซึ่ง คอป.ได้พบกับทุกฝ่ายทุกสีมาแล้ว แสดงว่าทุกฝ่ายมีความสบายใจที่จะมาคุยกับ คอป. อีกทั้งไม่ไปโต้แย้งกับฝ่ายไหน แต่มีการรับฟังความคิดเห็นตลอดเวลา"
ดร.สุรเกียรติ์กล่าวว่า คอป.กำหนดหลักการเอาไว้ว่า ให้ประชาคมโลกมีความมั่นใจ ว่าประเทศไทยมีคณะกรรมการอิสระที่สามารถจะแก้ไขความขัดแย้งได้ ซึ่งอันนี้สำคัญมากสำหรับภาคเอกชน
ฉะนั้น ความมั่นใจของนักลงทุน ต่างประเทศ ถ้าทราบว่ามีขบวนการที่เดินอยู่ได้จะเป็นความเชื่อมั่นที่สำคัญ คอป.ได้รับความร่วมมือกับองค์กรของสหประชาชาติ องค์กรระหว่างประเทศที่มาคุยกับ คอป.เยอะ รวมทั้งสถานทูตหลายแห่ง
หลังเลือกตั้ง การปรองดอง-ตามความเห็นของ "ดร.สุรเกียรติ์" มีขั้น-มีตอน
"เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ขั้นตอนน่าจะเป็นทำนองนี้คือ ให้ คอป.ไปพบทุกพรรค พบทุกกลุ่ม ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล แล้วถามแต่ละพรรค แต่ละกลุ่ม รวมทั้งเสื้อทุกสีว่า คุณเห็นว่า ปรองดองหมายถึงอะไร เพราะหลักการปรองดองที่สำเร็จ ต้องไม่มีการวางเงื่อนไขล่วงหน้าใด ๆ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง"
"จากนั้น เอาความเห็นของทุกฝ่ายที่ให้ความหมายการปรองดอง มากองเอาไว้ ว่ามีกี่ประเด็น จากนั้น คอป.ก็มาวิเคราะห์สังเคราะห์ ว่ามีจุดใดเป็นจุดร่วมกัน ก็เริ่มจากตรงนั้นก่อน เช่น การประกันตัว หรือหลักนิติธรรม"
ส่วนประเด็นที่ยังเห็นต่างกัน ต้องหาทางออกร่วมกัน "ดร.สุรเกียรติ์" เอ่ยถึงทุกฝ่าย-หลายพรรค
"บางเรื่องอาจจะต้องไปขอ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ บางประเด็นอาจจะไปขออดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุน บางประเด็นอาจจะไปขอ อาจารย์หมอประเวศ วะสี หรือท่านนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ (อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ประชาธิปัตย์"
"บางประเด็นอาจจะขอต่างประเทศมาช่วย บางประเด็นอาจจะเป็นคณะบุคคล 3-4 คน มาช่วยพูดกับพรรคนี้ บางประเด็นอาจจะเป็นคณะบุคคล 3-4 คนทั้งไทยและต่างประเทศ ไปดูไบ อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้น ต้องออกแบบมาว่าประเด็นไหน ใครจะพูดกับใคร"
กฎปรองดอง จะเป็นคำตอบสำเร็จรูปสำหรับการเมืองในรัฐบาลหน้า
"ไม่ว่ารูปแบบรัฐบาลจะเป็นแบบไหน รัฐบาลใหม่จะผสมกันอย่างไร จะอยู่ได้นานหรือไม่นาน และถ้าอยู่ได้ไม่นานก็ล้มไป แล้วจะขึ้นมาใหม่ เป็นรัฐบาลอย่างไร ผมว่ามันก็ต้องมาจบที่ ปรองดอง มันไม่มีประตูอื่นที่ออกไปได้ ถ้าออกไปได้ก็ออกไปได้ชั่วคราว ออกไปด้านความรุนแรง หรือกฎหมู่ ก็ออกไปได้ชั่วคราว ทำเนียบก็ล้อมมาแล้ว สนามบินก็ล้อมมาแล้ว"
"จุดหัวใจของภาคเอกชนก็ล้อมมาแล้ว จะเผาอะไรต่าง ๆ ก็เผากันมาเยอะแล้ว แม้จะไม่รู้ว่าใครเผา ทั้งสถานที่ราชการเอกชน ในที่สุดก็ไม่ได้ทางออก ไม่ว่าจะใช้พลังแบบใดจะเป็นพลังในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ใช่ประชาธิปไตย หรือมีมือที่ 3 ที่พูดกันเยอะก็ตาม ในที่สุดก็จะมาจบที่ปรองดอง"
No comments:
Post a Comment
ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda