มีผู้คนถกเถียงกันไปมากมายหลังเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผมเองก็ไม่วายที่จะถูกตั้งคำถามด้วย เนื่องด้วยไปเกี่ยวข้องกับสื่อวิทยุที่ชาวบ้านเขาอยากจะฟังความเห็น
บังเอิญพบข้อมูลจากมติชนออนไลน์ ที่ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ ผมก็เลยขออาศัยท่านไปขยายต่อผ่านรายการวิทยุ Anjung Minda สถานีวิทยุชุมชน สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา คลื่นความถี่ FM 89.75 MHz. ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-15.00น.
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้มองถึงปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำว่าเป็นปัญหาหรือไม่ มากกว่านั้นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปเพื่อการพัฒนาประเทศหรือไม่ ถ้าเป็นการพัฒนาประเทศก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อทำตามนโยบายอย่างเดียวโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่นก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
คำถามก็คือว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นการเพิ่มรายได้ด้วยหรือไม่ หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วไม่เป็นการลดรายได้ก็จะเกิดปัญหาตามมา เพราะก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานครขึ้นค่าแรงไปแล้ว 9 บาท เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผลปรากฎว่าค่าครองชีพสูงขึ้น กล่าวคือคือ ได้ค่าแรงเพิ่ม 9 บาทต่อวัน แต่ราคาก๋วยเตี๋ยวเพิ่มจาก 25 บาท เป็น 30 บาท ถ้าวันหนึ่งกิน 3 มื้อ ก็เท่ากับว่าต้องจ่ายค่ากินเพิ่มอีก 15 บาทต่อวัน
ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่าค่ากินเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าจ้าง หากเทียบกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท (คิดจากฐานของกรุงเทพและปริมณฑล) ก็เท่ากับว่าเพิ่มขึ้นอีก 85 บาท เพราะเดิมเคยได้ 215 บาทต่อวัน หากสินค้าที่เรากินอยู่ต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 100 บาทต่อวัน การปรับขึ้นค่าแรงก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร นี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน
เท่าที่ผ่านมาระบบรากฐานเศรษฐกิจของบ้านเราจะอยู่ภายใต้อำนาจของตลาด ทำให้สินค้าหลายประเภทมีอำนาจในการปรับขึ้นราคาสินค้า ปัญหาก็คือว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีผลต่อการขึ้นราคาสินค้า ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วการปรับขึ้นค่าแรงแบบนี้จะเรียกว่า ค่าจ้างเพิ่มแต่รายได้ลด ในเมื่อธุรกิจในไทยมีอำนาจเหนือตลาดแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ค่าครองชีพหรือรายได้ไม่มั่นคง หรือสูงกว่ารายรับที่เพิ่มขึ้น ก็เสมือนเป็นการลงโทษแรงงานมากกว่า ถ้าแรงงานเพิ่มอีก 100 บาท ของอย่างอื่นก็ปรับขึ้นหมด ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเพิ่มตาม ถ้าถามว่ารายได้เพิ่มแล้วสินค้าแพง ก็เท่ากับว่ารายได้ลงลง แม้ปริมาณเงินจะเพิ่มขึ้น ขณะที่การเพิ่มค่าแรงขึ้นอีก 85 บาทในกรุงเทพฯ แล้วรัฐบาลสามารถดูแลไม่ให้ราคาสินค้าปรับขึ้นได้ ก็เป็นสิ่งที่ดีและสามารถทำได้
ขณะที่ผู้ประกอบการมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ก็ไม่ได้มีผลกระทบมากนัก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะว่า การขึ้นค่าแรงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนในการผลิต ซึ่งน้อยกว่าต้นทุนการผลิตอื่นๆ ด้วยซ้ำ เพราะการผลิตจะต้องดูภาพรวมหลายอย่างประกอบกัน ผู้ประกอบการเองก็อาศัยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำขยับราคาสินค้าได้ แต่ในเชิงธุรกิจแล้วก็มักจะอ้างการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพราะแท้ที่จริงแล้วค่าแรงไม่ได้มีผลต่อการทำธุรกิจ การครองชีพของแรงงานมากกว่าที่เป็นปัญหา และการดำเนินนโยบายของพรรคการเมืองก็ไม่ได้ทำความเข้าใจว่า การเพิ่มค่าจ้างจะเป็นการช่วยเหลือแรงงานนั้น เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ รศ.ดร.ณรงค์ ยังกล่าวกับ "มติชนออนไลน์" อีกว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้อธิบายว่าจะเป็นค่าแรงนั้นจะเป็นรายได้ที่แท้จริง ที่ไม่ใช่การขึ้นค่าจ้างพร้อมๆ กับการขึ้นราคาสินค้า ถ้าตั้งใจเพิ่มให้จริง จะต้องทำให้แรงงานอยู่ได้ และต้องสินค้าหรือค่าครองชีพลดลงด้วย คำถามหลังจากนี้ก็คือ ที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นการเพิ่มหรือลดรายได้ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการหรือแรงงานที่จะได้ประโยชน์
จากเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้น จะทำให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในต่างจังหวัดยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีค่าแรงที่ต่ำกว่า ขณะเดียวกันสินค้าอุปโภค บริโภคทั้งหลายจะต้องมีราคาที่สูงกว่า หากมีการปรับขึ้นราคาสินค้า ไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่งต่างๆ ขณะเดียวกันทางกระทรวงแรงงานได้เอาค่าครองชีพของกรรมกรไปถัวเฉลี่ยกับชาวนา ทั้งที่กรรมกรมีค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ค่าเดินทางสูงกว่า ต้องออกจากบ้านทุกวัน แต่ชาวนาอาจจะไม่ต้องออกบ้านทุกวัน ฉะนั้นจึงคิดถัวเฉลี่ยไม่ได้ และกระทรวงแรงงานก็ไม่เคยแยกแยะตรงนี้
No comments:
Post a Comment
ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda