03 May 2011

"ฟรีดอมเฮาส์"เผย เสรีภาพสื่อทั่วโลกประสบภาวะเสื่อมถอย ไทยลดจาก"กึ่งเสรี"เหลือ"ไม่เสรี"

องค์กรฟรีดอมเฮาส์ (www.freedomhouse.org) เปิดเผยวานนี้ (2 พ.ค.) ว่า จำนวนประชากรทั่วโลกที่สามารถเข้าถึงสื่อที่เสรีและอิสระได้ลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบกว่าสิบปี ตามรายงาน "Freedom of the Press 2011: A Global Survey of Media Independence" หรือ "เสรีภาพของสื่อประจำปี 2011: การสำรวจความเป็นอิสระของสื่อทั่วโลก" พบว่าประเทศหลักๆ อาทิ อียิปต์ ฮอนดูรัส ฮังการี เม็กซิโก เกาหลีใต้ ไทย ตุรกี และยูเครน เผชิญกับความเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ภาพรวมทั่วโลกนั้น มีประชากรเพียงหนึ่งในหกเท่านั้น ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีสื่อเสรี แผนที่แสดงเสรีภาพของสื่อ สีเขียว-มีเสรีภาพ สีเหลือง-กึ่งเสรี สีม่วง-ไม่เสรี เสรีภาพของสื่อของไทยลดลงจากปี 2010 ที่เป็นสีเหลือง หรือ"กึ่งเสรี" เป็น สีม่วง หรือ"ไม่เสรี"(ภาพบน) จากรายงานยังพบว่า ในปี 2010 ประเทศที่สำคัญอย่าง เม็กซิโก ถูกจัดให้ไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ “ไม่เสรี” อันเป็นผลพวงมาจากความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับการลักลอบค้ายาเสพติด ซึ่งนำไปสู่การโจมตีผู้สื่อข่าวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก อีกทั้งภาวะ"การเซ็นเซอร์ตนเอง"ที่สูงขึ้น การละเว้นโทษต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และความพยายามจากฝ่ายนอกรัฐที่ควบคุมและชี้นำกระแสข่าว ขณะที่แถบภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เสรีภาพสื่อยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากเหตุการปราบปราบประชาชน ในช่วงก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2010 สถานะของอียิปต์จึงลดไปเป็น "ไม่เสรี" ส่วนประเทศอื่นๆเช่น อิหร่าน อิรัก โมร็อกโก และเยเมน เสรีภาพสื่อยังคงลดลงเล็กน้อย การเสื่อมถอยของเสรีภาพสื่อในภูมิภาคนี้ ซึ่งก็มีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้ว เมื่อประกอบกับเสรีภาพการแสดงออกในระดับปานกลาง และสิทธิทางประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ค่อนข้างกว้าง อาจกล่าวได้ว่าช่วยก่อให้เกิดการลุกฮือเรียกร้องการปฏิรูปที่เกิดเป็นลูกคลื่นในหลายประเทศช่วงต้นปี 2011 อย่างไรก็ดี ในบางประเทศพบว่ามีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด เช่น ประเทศในแถบซับซาฮาราของทวีปแอฟริกา และบางส่วนของประเทศที่เคยอยู่ในอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปฏิรูปกฎหมายและบทบัญญัติต่างๆ ขณะที่ประเทศที่มีการเปิดกว้างขึ้นของระบบการเมืองที่เห็นได้ชัดเจน อาทิ กินี ไนเจอร์ และมอลโดวา ในขณะที่ประเทศ เช่น โคลอมเบีย จอร์เจีย เคนยา เคอร์กิสถาน ไลบีเรีย เซเนกัล และซิมบับเว มีระดับเสรีภาพสื่อที่สูงขึ้นเล็กน้อย ด้านนายเดวิด เจ. เครเมอร์ ผู้อำนวยการของฟรีดอม เฮาส์ กล่าวว่า ประเทศที่นักข่าวไม่สามารถรายงานข่าวได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกแทรกแซงจากรัฐบาลหรือกลุ่มใดๆ ยังคงมีความหวังที่ริบหรี่ในการรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง "เราไม่แปลกใจนักต่อการที่นักข่าวได้เจอกับบรรยากาศที่อันตรายและจำกัด โดยเฉพาะในประเทศที่ระบอบการปกครองไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น ประเทศในแถบตะวันออกกลาง และประเทศอดีตสหภาพโซเวียต แต่เรารู้สึกเป็นปัญหาอย่างมากที่ต้องพบกับการถดถอยเช่นนั้นในประเทศที่ประชาธิปไตยใหม่ หรือยังไม่มั่นคงนัก เช่น เม็กซิโก ฮังการี และไทย" จากทั้งหมด 196 ประเทศที่ได้ทำการสำรวจในปี 2010 พบว่า มี 68 ประเทศ หรือร้อยละ 35 ที่ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเป็นเสรีภาพของสื่อ ขณะที่อีก 65 ประเทศ หรือร้อยละ 33 ถูกจัดให้มีความเป็น"กึ่งเสรี" และอีก 63 ประเทศ หรือร้อยละ 32 ถูกจัดว่า "ไม่เสรี" ทั้งนี้รายงานดังกล่าว ยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของปัจจัยต่างๆที่สำคัญที่มีผลต่อการคุกคามเสรีภาพสื่อด้วย ได้แก่ การที่รัฐใช้กรอบทางกฎหมายและข้อบังคับต่างๆไปในทางที่ผิด รัฐบาลเริ่มค่อยๆนำกลยุทธิ์ฉ้อฉลทางกฎหมายบางประการมาใช้เพื่อบีบพื้นที่ในการนำเสนอข่าวอย่างอิสระลดลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มของรัฐในการโต้กลับการเติบโตของจำนวนช่องข่าวอิสระทางวิทยุและโทรทัศน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลที่แสดงการกดขี่ พยายามใช้การควบคุมที่รุนแรงต่อการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ เช่น โทรทัศน์ดาวเทียม อินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งรวมถึงที่มาของแหล่งข้อมูลข่าวสารนั้นด้วย ขณะที่รัฐประชาธิปไตยและกึ่งประชาธิปไตยบางแห่งได้พยายามเพิ่มกฏข้อบังคับในการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น รวมถึงเกาหลีใต้และไทย ที่รัฐบาลเพิ่มมาตรการควบคุมเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต ความรุนแรงที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้นต่อสื่อมวลชน และการละเว้นโทษต่อกรณีการบีบบังคับให้นักข่าวต้องเซ็นเซอร์ตนเองหรือลี้ภัยไปต่างประเทศ ระดับความรุนแรงและการคุกคามทางร่างกายที่พุ่งเป้าไปยังนักข่าวโดยตรงยังคงเป็นสิ่งที่น่ากังวล ทั้งจากฝ่ายรัฐและจากบุคคลภายนอก การโจมตีเหล่านี้มีผลกระทบอันน่าตระหนกต่อผู้ประกอบวิชาชีพ และความล้มเหลวในการลงโทษหรือแม้กระทั่งการเอาจริงเอาจังในการสอบสวนต่อเหตุร้ายที่เกิดต่อผู้สื่อข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวโน้มในรอบ 5 ปี จากการสำรวจ พบว่าเสรีภาพของสื่อมวลชนได้ลดลงอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2005 ถึง 2010 และแนวโน้มดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในทุกภูมิภาคของโลก อย่างไรก็ตาม พบว่าการเสื่อมถอยที่ชัดเจนที่สุด เกิดขึ้นในแถบอเมริกาใต้ ซึ่งเกิดจากการถูกจำกัดพื้นที่สื่อในหลายประเทศ และในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและอำนาจนิยมในแถบยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก และรวมถึงประเทศอดีต ประเทศสหภาพโซเวียต ในรอบห้าปีที่ผ่านมา จำนวนประเทศที่เสรีภาพสื่อมวลชนลดน้อยลงนั้นสูงกว่าประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากขึ้นในสัดส่วน 2 ต่อ 1 สองเท่า ปรากฏการณ์ที่เสรีภาพสื่อเสื่อมถอยนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่ระบบประชาธิปไตยเพิ่งจะเริ่มเติบโต ที่ถูกทดสอบจากการลุกฮือทางการเมือง การแบ่งขั้วจากความขัดแย้ง การรัฐประหาร หรือสงครามกลางเมือง เช่น โบลิเวีย เอกวาดอร์ ฟิจิ ศรีลังกา และไทย นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ที่มีความโน้มเอียงไปทางรัฐบาลอำนาจนิยม อาทิ อิหร่าน รัสเซีย และเวเนซุเอลา ความจริงแนวโน้มเสรีภาพสื่อโลกที่เสื่อมถอยนี้ ดูเหมือนว่าจะลดน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวก็ถูกตีกลับอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี 2011 อันเป็นผลมาจากการประท้วงระลอกใหญ่ในหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ณ จุดนี้ ก็ยังไม่ชัดเจนนักว่าจุดสมดุลระหว่างส่วนที่เพิ่มขึ้นและส่วนที่ลดลงนั้นอยู่ที่ใดและจะช่วยให้ภาพรวมของโลกมีส่วนพัฒนาในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ในปี 2011 สิ่งที่น่าสนใจจากภูมิภาคต่างๆ อเมริกา มีสองประเทศในภูมิภาคนี้ ที่เปลี่ยนสถานะไปในทางลบ ได้แก่ ฮอนดูรัสและเม็กซิโก ที่ถูกจัดในประเทศที่มีสื่อที่"ไม่เสรี" เช่นเดียวกับในอาร์เจนติน่า โบลิเวีย และเอกวาดอร์ ก็ประสบกับสภาวะเสรีภาพสื่อที่ลดลง ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2006 ที่มีจำนวนประเทศที่ถูกจัดอยู่ในข่ายเช่นนี้ คะแนนเฉลี่ยในปี 2010 ถือว่าแย่ลงเมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคในปี 2009 อันเป็นผลมาจากการถดถอยด้านทางการเมืองและเศรษฐกิจ ขณะที่โคลอมเบียถือเป็นประเทศที่มีความหวังมากที่สุด เนื่องจากมีการปรับปรุงในนโยบายการยกเว้นโทษของเจ้าหน้าที่รัฐ เอเชีย-แปซิฟิก คะแนนเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสถานะในด้านลบของสองประเทศคือ เกาหลีใต้ จาก "เสรี" เป็น "กึ่งเสรี" และไทยจาก "กึ่งเสรี" เป็น "ไม่เสรี" นอกจากนี้ กัมพูชา ฟีจิ อินเดีย และวานูอาตู ยังถือว่ามีคะแนนเฉลี่ยแย่ลง ในขณะที่ในฟิลิปปินส์และบังคลาเทศ มีการพัฒนาขึ้นเล็กน้อย นอกจากนั้น ภูมิภาคนี้ยังประกอบประเทศที่มีสถานะสื่อที่แย่ที่สุดคือ พม่า และเกาหลีเหนือ รวมถึงประเทศที่มีสถานะแย่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอย่างจีน ซึ่งยังคงมีการคุกคามการแสดงออกอย่างเสรีอย่างต่อเนื่องในปี 2010 ยุโรปกลางและตะวันออก/ประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ในปี 2010 คะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ความคงที่ดังกล่าวเป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวที่ปรากฏในแถบภูมิภาคสองแห่ง โดยในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกที่เคยมีเสรีภาพสื่อในระดับที่ดี กลับมีระดับลดลงเมื่อมองในภาพรวม ในขณะที่ประเทศซึ่งแยกมาจากอดีตสหภาพโซเวียต นอกเขตทะเลบอลติก ได้รับผลประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการเมืองในประเทศมอลโดวา ขณะที่จอร์เจียและเคอร์กิสถาน ก็เกิดผลในทางบวกขึ้นเล็กน้อย ในสองภูมิภาคย่อยนี้ ความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน และรัสเซีย ที่ยังคงเป็นประเทศที่น่าเป็นห่วง ในขณะที่แนวโน้มในทางลบก็ปรากฏขึ้นในฮังการีและยูเครน ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ คะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคนี้ประสบกับภาวะเสื่อมถอยมากที่สุดในบรรดาภูมิภาคอื่นๆ อียิปต์ถูกลดสถานะจาก "กึ่งเสรี" เป็น "ไม่เสรี" ขณะที่คะแนนของอิรัก อิหร่าน คูเวต โมร็อกโก และเยเมนก็ยังลดลงอีกด้วย โดยลิเบีย ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย และตูนิเซีย ยังคงติดลำดับประเทศที่แย่ที่สุดด้านความอิสระและเสรีภาพสื่อมวลชนต่อไป ประเทศกลุ่มซับซาฮาราในทวีปแอฟริกา คะแนนเฉลี่ยในประเทศแถบนี้เพิ่มอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2009 ต่อเนื่องมายังปี 2010 โดยประเทศกีนี ไลบีเรีย และไนเจอร์ ได้เปลี่ยนสถานะจาก "ไม่เสรี" มาเป็น "กึ่งเสรี" ขณะที่ในเคนยา มอริทาเนีย เซเนกัล แซมเบีย และซิมบับเว มีการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดี ในแองโกลา ไอวอรี โคสต์ กีเนีย-บิสเซา มาดากัสการ์ และซูดาน พบว่ามีคะแนนที่แย่ลง ยุโรปตะวันตก คะแนนค่าเฉลี่ยของภมิภาคนี้ลดลงในวงกว้างมากที่สุดเป็นอันดับสองเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งพบการเสื่อมถอยลงในเดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ และตุรกี ขณะที่สถานการณ์ในสหราชอาณาจักรยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากกฎหมายการฟ้องหมิ่นประมาทที่ยังใช้กันอย่างกว้างขวาง ในขณะที่การถูกจับตามองอย่างเข้มงวด และแทรกแซงจากทางภาครัฐ ในสื่อที่รัฐบาลเป็นเจ้าของส่งผลให้อิตาลีถูกจัดอยู่ในประเภท "กึ่งเสรี" เลวร้ายที่สุดของที่สุด ประเทศที่ติดอันดับสิบที่เลวร้ายที่สุดคือ เบลารุส, พม่า, คิวบา, เอควาทอเรียล กินี, เอริเทรีย, อิหร่าน, ลิเบีย, เกาหลีเหนือ, เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน ประเทศเหล่านี้ ไม่มีการปรากฏอยู่ของสื่ออิสระ หรือหากว่ามีก็แทบจะทำงานไม่ได้ สื่อทำหน้าที่เป็นเพียงปากเสียงของรัฐบาล ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของพลเมืองถูกจำกัดอย่างร้ายแรง และผู้ที่เห็นต่างก็ถูกกำจัดโดยวิธีการต่างๆ เช่น การจำคุก การซ้อมทรมาน และมาตรการกดดันอื่นๆ

No comments:

Post a Comment

ความเห็นของคุณ
Pendapat Anda